รัฐสภาต้องเป็นเวทีประนอมอำนาจ
"...บทสรุปเบื้องต้นที่จะได้จากการนี้คือการก่อรูปเวทีที่จะเป็นที่ร่วมพิจารณาหาทางออกของคนทุกรุ่นทุกฝ่ายทุกความคิด เบื้องต้นถ้าจำเป็นก็ให้หาวิธีการพักความขัดแย้งชั่วคราวในทันที จากนั้นใช้เวลาหา 'หลักการทั่วไป' ในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพกันและกันให้ได้ภายในประมาณ 90 - 180 วัน เป็น 'หลักการทั่วไป' ใหญ่ ๆ สัก 10 - 20 ข้อ เวทีที่ว่านี้จะใช้กลไกของกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่เปิดโอกาสให้มีบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการได้ หรือจะใช้อำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างที่เคยทำมาแล้วอย่างน้อยในปี 2538 ก็ได้..."
เห็นด้วยกับหลักการที่ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเตรียมการขอยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากคนหนุ่มสาว
'สภา' ต้องเป็นที่รับฟังปัญหา แก้ปัญหา และประนอมอำนาจ โดยเฉพาะในยามวิกฤต
แต่รอจนถึงเปิดสมัยประชุมสมัยสามัญปลายเดือนพฤษภาคม 2563 ตามข่าวอาจจะช้าเกินไป และอาจไม่ทันสถานการณ์ที่พัฒนาเร็วมาก ควรพิจารณาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในช่วงเวลาที่เหมาะสม
และไม่ควรเป็นแค่เรื่องของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ควรเป็นเรื่องของรัฐสภา เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
รัฐบาลสามารถริเริ่มได้
ประธานรัฐสภาสามารถริเริ่มได้
บทสรุปเบื้องต้นที่จะได้จากการนี้คือการก่อรูปเวทีที่จะเป็นที่ร่วมพิจารณาหาทางออกของคนทุกรุ่นทุกฝ่ายทุกความคิด เบื้องต้นถ้าจำเป็นก็ให้หาวิธีการพักความขัดแย้งชั่วคราวในทันที จากนั้นใช้เวลาหา 'หลักการทั่วไป' ในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพกันและกันให้ได้ภายในประมาณ 90 - 180 วัน เป็น 'หลักการทั่วไป' ใหญ่ ๆ สัก 10 - 20 ข้อ เวทีที่ว่านี้จะใช้กลไกของกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่เปิดโอกาสให้มีบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการได้ หรือจะใช้อำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างที่เคยทำมาแล้วอย่างน้อยในปี 2538 ก็ได้
ในระหว่างการหา 'หลักการทั่วไป' ดังกล่าว จำเป็นต้องมีกระบวนการรับฟังประชาชนทุกรุ่นทุกฝ่ายอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มความมั่นคงให้แก่ 'หลักการทั่วไป' สำคัญนี้ จะจัดให้มีการออกเสียงเป็นประชามติอีกก็ได้ ใช้เวลาอีกประมาณ 90 วัน
จากนั้นก็ดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้จาก 'หลักการทั่วไป' นั้น
จะวิกฤตขนาดไหน จะขัดแย้งระดับใด จะเห็นต่างกันมากแค่ไหน ที่ไหนในประวัติศาสตร์ก็ต้องเข้ามาสู่เวทีพูดคุยกันทั้งนั้น
ไม่ทำวันนี้ ก็ต้องทำวันหน้า
ทำเสียตั้งแต่วันที่ยังไม่เจ็บปวดกันจะดีกว่าหรือไม่
ขอร่วมคิดและเสนอไว้ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง - ขอบพระคุณครับ
ที่มา : คำนูณ สิทธิสมาน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://th.m.wikipedia.org