1 MDB : อีกหนึ่งตัวอย่างของการผลาญทุนสำรองระหว่างประเทศ
"...อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2558 การเจริญเติบโตของ SWF ก็เริ่มหยุดชะงักงัน เมื่อราคาน้ำมันร่วงลงมาอยู่ที่ประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดย SWFs ที่ถือกำเนิดมาในช่วงตั้งแต่ปี 2548 ต่างก็บาดเจ็บกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็น SWFs จากซาอุดิอาระเบียที่ถึงกับทำให้ประเทศต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลเป็นครั้งแรก หรือ สหรัฐอาหรับอามิเรสต์ที่ต้องยุบ SWFs บางกองทุน ในขณะที่ลิเบียก็กลายสภาพเป็นรัฐที่ล้มเหลว เมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถูกถลุงหมดเกลี้ยงไปกับการลงทุนที่ผิดพลาดและการฉ้อฉลในการบริหารงานกองทุนองค์การการลงทุนแห่งลิเบีย ( Libyan Investment Authority : LIA ) ด้วยฝีมือของผู้นำประเทศอันไม่ต่างอะไรกับกรณีล่าสุดกับกองทุน 1 MDB ของมาเลเซีย..."
กรณีอื้อฉาวในกองทุน 1MDB ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซีย ที่ถูกนำมาเล่าโดยอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ทำให้นึกถึงอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนหนึ่งที่ในปี 2554 ได้มีความคิดที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยไปใช้ลงทุนด้วยการซื้อแหล่งพลังงานในต่างประเทศ ในรูปแบบของการจัดตั้งเป็น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกตอนนั้นวิ่งอยู่ที่ประมาณ 100-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
แต่ด้วยความโชคดีของประเทศไทยหรืออะไรก็ตามแต่ ที่ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นแสดงความไม่เห็นด้วย ในเรื่องการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์ ไปใช้ลงทุนในการซื้อแหล่งพลังงานในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความมั่นคงให้กับประเทศในอนาคตในรูปแบบของ SWF เพราะหลังจากปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันก็กลับมาทรุดตัวอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่า ภาวะราคาน้ำมันล่ม (oil crash) โดยวิ่งลงมาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงไม่เคยเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อยู่จนถึงทุกวันนี้
เพราะเมื่อเหลียวไปดูเรื่องราวของ 1 MDB หรือ Malaysia Development Berhad ก็จะเห็นได้ว่า 1 MDBถูกตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันกับข้อเสนอการจัดตั้ง SWF ของอดีต รมว.พลังงานของไทย โดย 1 MDB ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2552 ในรูปแบบของ SWF หรือกองทุนแห่งรัฐเพื่อการเข้าไปร่วมลงทุนกับ PetroSaudi ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในกิจการน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย เมื่อราคาน้ำมันเริ่มกลับขยับถีบตัวขึ้นมาใหม่อยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยสี่ปีก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่ปี 2548 ราคาน้ำมันโลกได้เริ่มขยับจากประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาขึ้นมาสูงสุดเมื่อกลางปี 2551 ที่ 147.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่พอปลายปีก็ดิ่งหัวลงมาอยู่ประมาณ 30 กว่าดอลลาร์ เพราะปัญหาวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐ ฯ
แต่ถ้าย้อนกลับไปดูอีกนิด (ดูภาพประกอบ) ก็จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2545 ที่ราคาน้ำมันโลกได้ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จากประมาณ 17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาอยู่ในจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราคาเกือบ 148 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนกรกฎาคม 2551 รายได้จากการส่งออกน้ำมันดังกล่าว ทำให้กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางมีปริมาณเงินหมุนเวียนและเงินตราต่างประเทศในรูปทุนสำรองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศในเอเชียที่มีการเกินดุลบัญชีสะพัดของหลาย ๆ ประเทศทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนเกินเหลือเป็นจำนวนมาก ประเทศเหล่านี้จึงได้เริ่มหันมาให้ความสนใจและพัฒนากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) ของตนเองกันขึ้น
ราคาน้ำมันในตลาดโลกระหว่างปี 2543 ถึง 2558
คำว่า “Sovereign Wealth Fund” ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 2548 โดย Andrew Rozanov ผู้จัดการอาวุโสของ State Street Corporation ซึ่งเป็นบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management) ที่ให้บริการทางด้านการเงินในรูปแบบต่าง ๆ โดย SWFs หลายกองทุนมักจะว่าจ้างให้บรรษัทเหล่านี้บริหารสินทรัพย์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น State Street Corporation, Goldman Sachs, BlackRock, UBS, Fidelity Investment, J.P. Morgan Asset Management, PIMCO
ด้วยหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษาการบริหารสินทรัพย์ด้านการลงทุนให้กับกองทุนต่าง ๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2000 Rozanov สังเกตเห็นปรากฏการณ์การเพิ่มเป็นจำนวนมากของสินทรัพย์ภาครัฐในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจากเอเชีย และด้วยเหตุที่ลักษณะบริหารจัดการสินทรัพย์ (Sovereign Wealth Manager) ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกองทุนบำนาญทั่วไปหรืออยู่ภายใต้การบริหารทรัพย์สินของธนาคารกลาง Rozanov จึงเรียกกองทุนลักษณะนี้ว่า “Sovereign Wealth Fund” และนิยามว่าคือ กองทุนใดก็ตามที่ได้รับการจัดสรรเงินจากธนาคารกลางของรัฐบาลนั้น ๆ ในการจัดตั้งเพื่อวัตถุประสงค์การดำเนินงานที่ต่างไปจากหน้าที่ของธนาคารกลางแล้ว ถือว่ามีคุณสมบัติเป็น SWF โดยระหว่างปี 2548 ถึง 2552 มี SWF เกิดขึ้นกว่า 20 กองทุนทั่วโลก และเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 20 กองทุนในช่วงปี 2553-2558
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2558 การเจริญเติบโตของ SWF ก็เริ่มหยุดชะงักงัน เมื่อราคาน้ำมันร่วงลงมาอยู่ที่ประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดย SWFs ที่ถือกำเนิดมาในช่วงตั้งแต่ปี 2548 ต่างก็บาดเจ็บกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็น SWFs จากซาอุดิอาระเบียที่ถึงกับทำให้ประเทศต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลเป็นครั้งแรก หรือ สหรัฐอาหรับอามิเรสต์ที่ต้องยุบ SWFs บางกองทุน ในขณะที่ลิเบียก็กลายสภาพเป็นรัฐที่ล้มเหลว เมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถูกถลุงหมดเกลี้ยงไปกับการลงทุนที่ผิดพลาดและการฉ้อฉลในการบริหารงานกองทุนองค์การการลงทุนแห่งลิเบีย ( Libyan Investment Authority : LIA ) ด้วยฝีมือของผู้นำประเทศอันไม่ต่างอะไรกับกรณีล่าสุดกับกองทุน 1 MDB ของมาเลเซีย