รมช.กลาโหม ยันซื้อรถถังOplot 'จีทูจี' ยูเครนมือ1 ใช้แทน M41 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
'พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล' รมช.กลาโหม แจงปมซื้อรถถัง Oplot 'จีทูจี' มือหนึ่งทันสมัยผลิตใหม่ จัดหามาใช้แทน M41 ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำเนินการผ่านสถานทูตยูเครนในไทย ส่ง อสส.ตรวจสอบสัญญาด้วย เผยนโยบายจัดซื้ออาวุธกองทัพต้องเตรียมกำลังเอาไว้เท่าที่จำเป็น ตามประเมินสถานการณ์ 5-10 ปีข้างหน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงข้อวิจารณ์เรื่องการจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม
โดยประเด็นการจัดซื้อรถถัง Oplot จากยูเครนระหว่างปี 2557-2559 ที่ นายศรัณวุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย อ้างถึงบริษัท ดาต้าเกท จำกัด และอ้างอิงบุคคลชื่อย่อ นาง น. และนาง อ. ที่ถูกระบุว่าอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กงสุล และเจ้าหน้าที่พิเศษของทางการไทย ในการไปเจรจาจัดซื้อรถถังยูเครนดังกล่าว ขณะเดียวกันยังอ้างภาพถ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางไปประเทศยูเครนด้วยตัวเองด้วย
พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่า ประเทศไทยต้องการจัดหามาเพื่อทดแทนรถถังแบบ M41 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นรถถังในสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้มา 60 ปีแล้วและก็ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ จึงต้องมีการจัดหารถถัง Oplot ซึ่งเป็นรถถังมือหนึ่งที่ทันสมัยและผลิตใหม่ขึ้นมา
"การจัดหารถถัง Oplot มีการลงนามเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2554 ผ่านสถานทูตยูเครนในไทย เป็นการจัดซื้อจีทูจี มีการตรวจสอบสัญญาโดยสำนักอัยการสูงสุด ซึ่งประเด็นเรื่องการส่งรถถังไม่เป็นไปตามกำหนดก็เพราะว่าโรงงานผลิตรถถังนั้นอยู่ที่พื้นที่ใกล้สนามรบ แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการเรียกค่าปรับแต่อย่างใด" พล.อ.ชัยชาญ ระบุ
พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่า ส่วนจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม ขอชี้แจงว่า สาเหตุเป็นเพราะจะต้องมีการเตรียมกำลังและการใช้กำลังพล โดยการเตรียมกำลังพล คือ เตรียมคน การฝึก ยุทโธปกรณ์และก็แบบแผน กองทัพต้องเตรียมกำลังเอาไว้เท่าที่จำเป็น ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ประมาณ 5-10 ปี ต้องขอเรียนว่ากองทัพไม่ได้เตรียมกำลังเอาไว้ทั้งหมด แต่เตรียมเอาไว้ตามที่เป็นไปได้
"ในประเด็นที่ถามว่าเราเตรียมไว้ทำไมเมื่อความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปได้ด้วยดี ต้องขอเรียนว่าประเทศไทยนั้นมีเส้นแบ่งเขตแดนทางบก 5,656 กิโลเมตร และต้องใช้กำลังพลจำนวนประมาณ 40,000 คน เพื่อทำหน้าที่เฝ้าชายแดนเหล่านี้ โดยต้องทำภารกิจทั้งในด้านป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ยาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า และเรามีน่านน้ำที่ยาวกว่า 3,000 กิโลเมตรโดยประมาณ ซึ่งส่งผลต่อความจำเป็นต่อการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ อาวุธที่มีนั้นจัดหามานานแล้ว และส่วนมากมีอายุประมาณ 30-50 ปี ซึ่งการกำหนด"
พล.อ.ชัยชาญ ยังระบุด้วยว่า งบประมาณการจัดหาอาวุธนั้นจึงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การซ่อมแซมอาวุธที่มีอยู่ และ 2.การจัดหาทดแทนเท่าที่จำเป็น ซึ่งได้กำหนดแนวทางกองทัพไปแล้วว่าต้องจัดหา 1 ใน 3 ของยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ และที่เหลือก็ให้ซ่อมแซมตามความเหมาะสมต่อไป ส่วนการจัดหาอาวุธ อาทิรถถังที่ผ่านมาก็จะมีคณะกรรมการเลือกแบบของกองทัพบก เพื่อมาตัดสินว่าต้องแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับความต้องการของเหล่าทัพ การจัดซื้อจัดจ้าง และการตรวจรับพัสดุ โดยขั้นตอนการตรวจรับก็จะมีการตรวจอีกมีว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ตรงกับความต้องการหรือไม่
“ที่กล่าวว่าจัดหามาแล้วใช้งานไม่ได้ จัดหามาแล้วเป็นยุทโธปกรณ์เก่า คณะกรรมการตรวจรับก็ต้อง่รับผิดชอบว่าเมื่อตรวจรับแล้วจะต้องมีประสิทธิภาพตามทีโออาร์ โดยวิธีการจัดหาหลักนั้นก็จะเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือจีทูจี โดยต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ร่วมลงนาม” พล.อ.ชัยชาญระบุ
รมช.กระทรวงกลาโหม ยังกล่าวถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า ความมั่นคงทางทะเลเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งการจัดหาเรือดำน้ำต้องเรียนว่าประเทศอาเซียนรอบไทยนั้นมีเรือดำน้ำประมาณ 3-4 ลำแล้ว
"ขอเรียนว่าสาเหตุที่จัดหาเรือดำน้ำมานั้นไม่ใช่ว่าแข่งกันว่าเขามีแล้วเราต้องมี แต่เป็นการรักษาดุลยอำนาจทางทะเลที่ไทยควรจะมี เพราะเราเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน ส่วนสาเหตุที่ต้องมี 3 ลำ ก็เพราะว่าเรามีทะเลอยู่ 2 ฝั่ง จึงต้องมีเรือดำน้ำทั้ง 2 ฝั่ง อย่างละ 1 ลำ และอีก 1 ลำสำรองซ่อมเอาไว้ตามวงรอบใช้งาน ซึ่งขั้นตอนการจัดหาเรือดำน้ำก็เริ่มจากกำหนดความต้องการ แล้วไล่มาตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจัดหาเรือดำน้ำนั้นต้องใช้เวลา 6-7 ปี เพราะว่าไทยต้องส่งกำลังพลไปฝึกตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อเรียนรู้การใช้งานด้วย"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/