ฝ่ายค้านซักฟอกรัฐดับไฟใต้เหลว อ้างนโยบายผิด-ละเมิดสิทธิ์-ไอโอทำแตกแยก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านช่วงค่ำจนถึงกลางดึกของวันอังคารที่ 25 ก.พ.63 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของศึกซักฟอกหนนี้ มี ส.ส.หลายคนลุกขึ้นพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการกล่าวหาทั้งในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษชน การกำหนดนโยบายและการใช้งบประมาณที่ผิดพลาด รวมถึงการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ ในการสร้างความเกลียดชัง
O โวยละเมิดสิทธิ์เก็บดีเอ็นเอเด็กชายแดนใต้
การอภิปรายชุดนี้เริ่มจาก นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่พูดถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้ยกปัญหาบางส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเป็นประเด็น โดยบอกว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งมีความเสี่ยง อย่างใน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งเพิ่งเกิดระเบิดเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ก.พ. จุดที่เกิดระเบิดอยู่ใกล้โรงเรียน เพราะมีกองกำลังของฝ่ายความมั่นคงไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ ห่างประมาณ 500 เมตรเท่านั้น การมีกองกำลังไปตั้งฐาน ทำให้เด็กและครูมีความเสี่ยง
นอกจากนั้นยังมีการเก็บสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ กับเด็ก แม้ทั่วโลกจะออกกฎหมายให้เก็บดีเอ็นเอได้จริง แต่ให้ใช้อย่างจำกัด ทว่าในพื้นที่ชายแดนใต้มีการเก็บดีเอ็นเอเด็กครั้งละมากๆ เช่น ที่โรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งใน จ.ยะลา มีการเก็บดีเอ็นเอคราวละหลายร้อยคน ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายแรง
O "การทหารนำการเมือง" ดับไฟใต้ไม่ตรงจุด
จากนั้น นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เพิ่งมาเกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี 49 สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จึงเกี่ยวข้องมานานกว่า 10 ปีแล้ว
ปัญหาชายแดนใต้มีมาตลอด ตั้งแต่ก่อนปี 2500 สาเหตุหลักๆ คือความไม่เป็นธรรม โดยเกี่ยวข้องกับคน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้ปกครอง ผู้ถูกปกครอง และผู้เห็นต่างซึ่งมีไม่มาก แต่นายกฯกลับระแวงคนส่วนใหญ่ ทำให้ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการละเมิดสิทธิ์คนส่วนใหญ่
ส.ส.นราธิวาส อภิปรายอีกว่า การกำหนดนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ผิดพลาด เพราะต้องใช้ "การเมืองนำการทหาร" แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปรื้อโครงสร้างการแก้ไขปัญหา ให้ทหารนำการเมือง เห็นได้จากการไปออกประกาศ คำสั่ง คสช. ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไปรื้อโครงสรางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ไปลดบทบาทการทำงานของ ศอ.บต.ลง ให้อำนาจกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.เป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา ทำให้ ศอ.บต.ไม่มีพื้นทื่การสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากภาคประชาสังคม ที่สำคัญยังไปยุบสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนในพื้นที่ แล้วตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นแทน
นอกจากนั้นจากการสำรวจความเห็นประชาชนตลอด 4 ปีของสถาบันพระปกเกล้า ชี้ชัดว่ารัฐบาลสอบตกการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดทำให้ตนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะเมื่อใช้การทหารนำการเมือง จึงคิดเรื่องการปราบปรามเป็นหลัก ไม่ได้คิดเรื่องความไม่เป็นธรรม
O ยกโพลล์อ้างแก๊งค้ายา-ทหารพรานเอี่ยวความรุนแรง
ส่วนสถิติความรุนแรงที่รัฐบาลบอกว่าสถิติลดลงนั้น มีผลสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่มายืนยันว่า ชาวบ้านยังมองว่าความรุนแรงมีเหมือนเดิม สถานการณ์ยิ่งเงียบยิ่งน่ากลัว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการใช้งบประมาณเพื่อความมั่นคงจนสร้างความหวาดระแวง เช่น การศึกษาเพื่อความมั่นคง มีโครงการสร้างความจริงที่ถูกต้องให้กับเด็กสามจังหวัด งบ 151 ล้านบาท สะท้อนว่ารัฐบาลต้องการจะเปลี่ยนความคิดเด็ก ถือว่านายกฯระแวงแม้แต่เด็กที่ยังไม่เกิดมา
นายกมลศักดิ์ ยังยกผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่อีกชุดหนึ่งว่า มีการสอบถามประชาชนว่ากลุ่มใดที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงบ้าง ปรากฏว่ากลุ่มที่ประชาชนเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรงมากที่สุด คือกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด และผู้มีอิทธิพล อันดับสองคือทหารพราน ส่วนบีอาร์เอ็นเป็นอันดับ 3 แต่ปรากฏว่าในการจัดงบบูรณาการแก้ไขปัญหา กลับไม่มีการจัดงบสำหรับแก้ปัญหายาเสพติดเลย
ในตอนท้ายของการอภิปราย นายกมลศักดิ์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ยิงชาวบ้าน 3 ศพบนเทือกเขาตะเว ท้องที่ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.62 ซึ่งตอนแรกฝ่ายรัฐให้ข่าวว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ก็ยังมีการแจ้งจับประชาชนที่เสียชีวิตว่าต่อสู้ขัดขืน ทั้งๆ ที่ตายไปแล้ว และยังจ่ายเยียวยาเพียง 5 แสนบาท เรื่องนี้ประชาชนยังเฝ้าติดตามอยู่ว่าจะดำเนินคดีกับทหารได้หรือไม่ และจะจ่ายเยียวยาเพียงเท่านี้หรือ เพราะสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรม
O นายกฯแจงดับไฟใต้ทุกมิติ ไม่มีนโยบายซ้อม-ละเมิดสิทธิ์
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ขอให้ระมัดระวังการอภิปราย เพราะปัญหาภาคใต้มีต่างประเทศติดตามสถานการณ์อยู่ อาจกระทบกับภาพรวมการแก้ไขปัญหาได้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และมิติความมั่นคง ไม่ได้อยากให้เกิดความขัดแย้งหรือแบ่งแยกกัน
ที่ผ่านมามีผู้แทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ตลอดจนทูตนานาประเทศลงไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ และทุกคนพอใจารแก้ไขปัญหา ส่วนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีความจำเป็น เพราะในพื้นที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ แต่หากเจ้าหน้าที่กระทำผิดก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ สำหรับเรื่องความไม่เป็นธรรม รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อมูลและติดตามการดำเนินคดีให้ ขอให้ร้องเรียนมา จะร้องมายังตนก็ได้ พร้อมขอบคุณผู้อภิปรายที่ให้ข้อมูลเรื่องผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดในพื้นที่ และยังบอกว่าผู้อภิปรายบอกว่าปัญหาในพื้นที่มีมานาน และมีข้อมูลเยอะ จึงอยากให้นำข้อมูลมาบอก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังยอมรับว่าในควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยบางราย ที่มีการกล่าวหาเรื่องการซ้อมหรือทำร้ายร่างกาย ถือเป็นเรื่องของตัวบุคคล อย่าเหมารวมเจ้าหน้าที่ทั้งหมด เพราะรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงไม่เคยมีนโยบายให้ไปทำอะไรที่เป็นการละเมิด พร้อมวิงวอนทุกฝ่ายอย่าดึงต่างชาติเข้ามาแก้ปัญหา
O อ้างจัดงบหนุนเว็บเสี้ยมโจมตีนักสิทธิฯชายแดนใต้
ในช่วงดึก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นอภิปรายกล่าวหาว่ามีการคุกคามประชาชน ยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยก ทำลายความรักและความสามัคคี โดยชี้ให้เห็นถึงการใช้ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ IO (Information Operation) ใช้เว็บไซต์หรือเพจเฟซบุู๊คปลอมคุกคามประชาชน นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งการคุกคามหนักขึ้นเรื่อยๆ ราวกับมีงบประมาณและบุคคลอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุน
นายวิโรจน์ อภิปรายว่า ระหว่างเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้พบเอกสารงบประมาณของ กอ.รมน. ที่ขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่าหน้าที่ 14 ข้อ 10 ระบุถึงการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ pulony.blogspot.com โดยเว็บไซต์นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาตั้งแต่ปี 60-62 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาคอยเสี้ยมโจมตีนักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังมีเพจเฟซบุ๊คในเครือข่ายคอยแชร์เนื้อหา ถือเป็นการบั่นทอนบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังพยายามโจมตีนักการเมืองในพื้นที่ ที่นำปัญหามาแก้ไขผ่านสภาผู้แทนราษฎร
O อ้างเอกสารทางการมี "ขบวนการไอโอ" ใช้งบรัฐโจมตีผู้เห็นต่าง
นายวิโรจน์ ยังอภิปรายเปิดโปงขบวนการไอโอที่คุกคามฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง และพบหลักฐานเอกสารเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐ โดยเปิดเผยเอกสารลับ 3 ฉบับ ลงวันที่ 25 เม.ย.62 เกี่ยวกับการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมกับคณะทำงานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร โดยมีเนื้อหาข้อ 1.1 เกี่ยวกับการซักซ้อมการปฏิบัติการข่าวสารที่หน่วยเหนือมอบให้ในแต่ละวัน มีการสอนการโพสต์ว่าไม่ต้องเรียงลำดับหัวข้อตามภารกิจที่มอบให้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ว่าเป็นเฟซบุ๊คปลอมหรืออวตาร, หัวข้อที่ 1.3.2 แนะนำให้เจ้าหน้าที่ลงบัญชีเฟซอวตารหรือบัญชีผู้ใช้ปลอมหลายบัญชี เพื่อตอบโต้และพลีชีพทางออนไลน์, หัวข้อที่ 1.3.3 แนะนำให้เจ้าหน้าที่สร้างบัญชีอวตาร โดยไม่ให้เกี่ยวพันกับบัญชีของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้, หัวข้อที่ 1.4.1 ให้เจ้าหน้าที่รับทราบและรายงานภารกิจทางกลุ่มไลน์ภายในเวลา 17.00 น.ในแต่ละวันตามแบบฟอร์มที่ส่งให้ และระบุในข้อ 2.2 ว่ามีการสนับสนุนค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเดือนละ 2,000 บาท
เอกสารฉบับที่ 2 ลงวันที่ 22 พ.ย.62 เรื่องสรุปผลการประชุมคณะทำงานด้านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร อ้างอิงถึงการประชุมวันที่ 4 พ.ย.62 โดยมี พล.ท.พิสิษฐ์ ทรรพวสุ รองผอ.รมน.ภาค 2 เป็นประธานการประชุม ให้หน่วยระดับกองพล ระดับกรม ตรวจสอบยืนยันตัวผู้ปฏิบัติการข่าวสารที่ตั้งไว้หน่วยละ 5 นาย โดยให้ส่งข้อมูลยืนยันทุกวันที่ 5 ของเดือน ประชุมผ่าน VTC หรือวีดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 10.00 น. และสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือค่าโทรศัพท์ที่กองทัพบกจัดสรรให้ โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO จะได้เงินสนับสนุนค่าโทรศัพท์เดือนละ 300 บาท ซึ่งถือเป็นการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน
เอกสารฉบับที่ 3 ลงวันที่ 22 พ.ย.62 เป็นผลสรุปการประชุม มีเนื้อหาเหมือนหนังสือฉบับที่ 2 แต่สนับสนุนค่าโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการข่าวสารคนละ 100 บาท พร้อมสรุปว่าข้อมูลหลักฐานทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการกระทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งกองทัพคงไม่สามารถดำเนินการเองได้โดยพลการ ต้องมีคำสั่ง มีการสนับสนุนภารกิจ มีการใช้งบประมาณ ซึ่งถือเป็นภารกิจคุกคามประชาชนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีส่วนร่วมอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ด้วย
นายวิโรจน์ ยังนำคลิปวีดีโอที่อ้างว่าเป็นการสัมภาษณ์ทหารที่เคยเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการไอโอของกองทัพ มาเปิดเผยวิธีการทำงานเพื่อโจมตีฝ่ายเห็นต่างกับรัฐบาล แจ้งรายงานบัญชีฝ่ายที่เห็นต่าง โดยมีการประชุมแบ่งงานกันทุกวัน และมีการเปิดกรุ๊ปไลน์เพื่อสื่อสารวางแผนกัน ให้ทำภารกิจเรื่อยๆ วนทุก 1 ชั่วโมง กดไลค์ กดเลิฟโพสต์ที่สนับสนุน กดเศร้า กดโกรธฝ่ายที่เห็นต่าง โดยนายวิโรจน์ อ้างว่ามีบุคลากรในขบวนการไอโอรวมแล้วมากกว่า 1,000 คน ใช้งบประมาณของรัฐคุกคามฝ่ายเห็นต่าง
O ภูมิใจไทยโต้ผู้อภิปรายก็มาจากขบวนการไอโอ
การอภิปรายของนายวิโรจน์ ถูก ส.ส.รัฐบาลยกมือประท้วงเป็นระยะๆ และมีการพูดตอบโต้กันด้วยถ้อยคำรุนแรง นอกจากนั้น นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ยังกล่าวหาว่า ผู้อภิปรายก็มาด้วยขบวนการไอโอที่ไม่สุจริตเช่นเดียวกัน เพราะข้อมูลที่ใช้อภิปรายเชื่อมโยงกับเพจเฟซบุ๊คเพจหนึ่งที่สร้างเฟกนิวส์ว่าตนซื้อ ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ แต่นายวิโรจน์ลุกขึ้นชี้แจงยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊คตามที่อ้าง ไม่มีการรับข้อมูลเบาะแสจากเพจไหนมาอภิปรายทั้งสิ้น แต่เป็นขัอมูลที่ฝ่ายทหารที่เคยปฏิบัติการไอโอ ยอมรับสารภาพเอง
สำหรับเพจเฟซบุ๊คที่กล่าวหานายศุภชัย ใจสมุทร จากการตรวจสอบข่าวย้อนหลังพบว่า คือเพจที่ใช้ชื่อว่า "พระเจ้า" เมื่อไม่มีวันก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้มีการเปิดเอกสารการมอบหมายภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการข่าวสารของทหารหน่วยหนึ่งในภาคอีสาน และอ้างว่าเป็นขบวนการไอโอของกองทัพที่ใช้โจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยใช้งบประมาณของรัฐ แต่เมื่อเอกสารชุดนั้นเผยแพร่ออกไป มีการชี้แจงจากฝ่ายกองทัพว่าเป็นเอกสารการมอบหมายงานปกติ โดยคำว่า "ปฏิบัตการข่าวสาร" เป็นภารกิจในทางความมั่นคงคล้ายๆ "ปฏิบัติการทางจิตวิทยา" ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ไม่ใช่การเผยแพร่เฟกนิวส์