ผลวิจัยเผยหญิงไทยมีลูกน้อย เหตุ ‘Gold Miss’ เพิ่ม-ค่าเลี้ยงดูสูง-คนรุ่นใหม่มุ่งงาน
‘นักวิชาการ’ เผยผลวิจัยพบปรากฎการณ์ ‘Gold Miss’ ในไทยเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตรสูง คนรุ่นใหม่มุ่งความสำเร็จเรื่องงาน ส่งผลให้คนไทยมีลูกน้อยลง หวั่นกระทบตลาดแรงงานในอนาคต แนะรัฐออกนโยบายกระตุ้นการแต่งงาน-มีลูก
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงาน ‘PIER Research Brief 1/63’ เรื่อง ‘ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย’ โดยระบุว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยเป็นโสดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2523 และมีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี พบว่ามีสัดส่วนคนเป็นโสด 50-60%
ในขณะที่ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษานั้น พบว่ามีสัดส่วนคนเป็นโสดคิดเป็นเพียง 10-20% เท่านั้น
“ผู้หญิงที่จบปริญญาตรีมีสัดส่วนคนเป็นโสดเพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่จบประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งสถานการณ์นี้ทั่วโลกเรียกว่า ‘Marriage Strike’ หรือเป็นปรากฎการณ์ที่คนโสดชะลอการแต่งงาน เนื่องจากผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง หางานทำที่ดีได้ มีค่าจ้างที่สูง และจะมีค่าเสียโอกาสที่สูงหากมีการแต่งงาน ผู้หญิงกลุ่มนี้จึงชะลอการแต่งงาน ซึ่งปรากฎการณ์เกิดขึ้นทั่วโลกมากว่า 20 ปีแล้ว และพบว่าได้ทั้งในเอเชียและสหรัฐ” ผศ.ดร.ศศิวิมลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Gold Miss’ คือ กลุ่ม Gold Miss หรือผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีสถานะทางเศรษฐกิจสูง เลือกที่จะไม่แต่งงานเลย โดยปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในแถบเอเชียค่อนข้างมาก เช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย
“ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เลือกที่จะไม่แต่งงาน เลือกเป็นโสดเลย ดังนั้น การมีลูกคงไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะกลุ่ม Gold Miss ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูง มีสถานะทางเศรษฐกิจที่สูง อีกทั้งในแถบเอเชียยังมีค่านิยมว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านด้วย กลุ่ม Gold Miss จึงเลือกที่จะไม่แต่งงาน และให้ความสำคัญในเรื่องหน้าที่การงานมากกว่า และจะพบว่ากลุ่ม Gold Miss ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น” ผศ.ดร.ศศิวิมลกล่าว
ผศ.ดร.ศศิวิมล กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาต่อการมีลูกพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีลูกลดลงค่อนข้างมาก คือ ลดลงจากเดิมเฉลี่ย 1.5 คน เหลือเฉลี่ย 0.6 คน ส่วนระดับการศึกษาอื่นๆ แม้ว่าจะมีลูกลดลงเช่นกัน แต่ไม่ได้ลดลงมากเท่ากับระดับปริญญาตรี โดยมีลูกเฉลี่ย 1.4-1.5 คน ซึ่งสะท้อนว่าอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดต่ำลงมาก มาจากการที่กลุ่มที่มีการศึกษาสูงมีลูกลดลง
ผลศึกษายังพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีโอกาสแต่งงาน 70% ลดลงจากก่อนหน้านี้ 14% และหากเทียบกับผู้หญิงที่จบการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจะพบว่าผู้หญิงกลุ่มนี้มีโอกาสแต่งงาน 85%
“คนจบปริญญาตรีขึ้นไปเลือกที่จะไม่แต่งงาน หรือถ้าแต่งงานจะมีลูกน้อยลง เพราะเราก็ทราบดีอยู่ว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกสูงมากหรือ 1 แสนคน/ปี หรือ 1.5 ล้านบาท/คน ไม่รวมการช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น นโยบายเรียนฟรี อีกทั้งงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าทัศนคติคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับความสำเร็จในอาชีพการงานมากกว่าการสร้างครอบครัว และการมีลูก ที่สำคัญไทยขาดระบบที่ส่งเสริมให้คนแต่งงานและมีลูก เช่น ระบบ child care” ผศ.ดร.ศศิวิมลกล่าว
ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
ผศ.ดร.ศศิวิมล ระบุว่า การผู้หญิงไทยไม่แต่งงานและไม่มีลูก แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกับใคร เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ปรากฎการณ์เหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานในอนาคต โดยรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ และต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการกระตุ้นให้คนแต่งงาน และกระตุ้นให้คนมีลูก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การแจกคู่มือ แจกวิตามิน หรือการจัดกิจกรรมวิวาห์สร้างชาติเท่านั้น
ผศ.ดร.ศศิวิมล ยังยกตัวอย่างนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มีการให้เงินช่วยเหลือคู่สมรสใหม่ในการจัดหาซื้อบ้านเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ และหากมีลูก ก็มีการให้เงินทุนสนับสนุนทั้งการศึกษา สุขภาพ การลดหย่อนภาษี การขอคืนภาษีเพื่อช่วยเลี้ยงลูก ส่วนประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์และสวีเดน มีเงินช่วยเหลือในการจ่ายค่าบริการดูแลเด็ก
นอกจากนี้ ในบางประเทศมีกฎหมายแรงงานที่เอื้อต่อการดูแลลูก เช่น สวีเดน พ่อแม่ที่มีลูกอายุน้อย สามารถขอลดเวลาทำงานได้ สหราชอาณาจักร อนุญาตให้พ่อแม่มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ เป็นต้น
“คนไม่จำเป็นต้องเยอะ แต่ต้องมีคุณภาพ โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมให้ครอบครัวที่มีบุตรอยู่แล้ว หรือครอบครัวที่ต้องการจะมีบุตร สามารถเลี้ยงดูบุตรให้มีคุณภาพ ทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ รวมถึงกระตุ้นการมีลูกคนที่ 2 หรือ 3 แต่ก็จะพบว่าแม้ว่าประเทศในแถบเอเชียจะมีนโยบายกระตุ้นการมีบุตรที่แรงมาก แต่ไม่ค่อยได้ผลสำเร็จ ซึ่งถ้าประเทศไทยเรายังไม่มีนโยบายที่เป็นจริงเป็นจัง ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง” ผศ.ดร.ศศิวิมลกล่าว
อ่านประกอบ :
ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/