ไวรัสโคโรนา : ฝันร้ายของเศรษฐกิจโลก?
"...การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลดลง เนื่องจากนักลงทุนอยู่ในภาวะการกลัวความเสี่ยง (risk-off sentiment) ส่วนหนึ่งสะท้อนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ตกอยู่ในแดนลบในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลทำให้ผลตอบแทนของกองทุนต่าง ๆ ลดลง อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และทำให้ความมั่งคั่งของบุคคลลดลง..."
นับตั้งแต่วันสิ้นปีเก่า (31 ธ.ค.2562) ที่มีรายงานอาการป่วยเคสแรกจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ หรือที่ปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า “โควิด-19”มาจนถึงปัจจุบัน (24 ก.พ. 2563) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 79,163 ราย เสียชีวิต 2,471 ราย และส่วนใหญ่อยู่ในจีน อันเป็นการทำลายสถิติของไวรัสตัวอื่น ๆ ในอดีต ทั้งซาร์ส เมอร์ส อีโบลาและซิกาไปเป็นที่เรียบร้อย จะยังคงตามหลังก็แต่ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) เท่านั้น ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปเมื่อปีพุทธศักราช 2461 และได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 50 ล้านคน…
ทั้งนี้ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลในแต่ละประเทศรวมถึงไทยได้มีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างเต็มที่ รวมทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยแพทย์ทั่วโลกที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อดูแลผู้ป่วยและคิดค้นวิธีการรักษาอย่างสุดความสามารถ ผู้เขียนขอสดุดีและเอาใจช่วยบุคลากรทุกท่านอย่างที่สุดมา ณ โอกาสนี้
แต่นับว่าในฝันร้ายก็ยังมีฝันดีปนอยู่บ้าง…เพราะในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ โดยเฉพาะในจีน สะท้อนจากอัตราการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาในจีนที่โน้มชะลอลง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับไวรัสอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทั่วโลกจะบรรเทาลงตามและสิ้นสุดในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไวรัสโคโรนาได้สร้างความวิตกกังวลและตื่นกลัวให้กับผู้คนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมามาก ทั้งในแง่ต่อสวัสดิภาพและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงขออธิบายผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่าง ๆ แบบเข้าใจง่าย ๆ กันครับ
ช่องทางแรก การแพร่ระบาดของไวรัสและความวิตกกังวลทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนลดลง เที่ยวนอกบ้านน้อยลง เก็บตัวและใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น ทำให้การบริโภคภายในประเทศโดยรวมชะลอลง โดยเฉพาะในจีน ต้นตอของที่เกิดเหตุไวรัส ซึ่งมีการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 40 ของขนาด GDP จีน ซึ่งทำให้การส่งออกของประเทศต่าง ๆ ไปจีนย่อมลดลงไปตามความต้องการบริโภคของจีนที่ลดลงด้วย
ช่องทางที่สอง คนจีน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในภาคการท่องเที่ยวของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ย่อมออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศลดลงในภาพรวม ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ (ที่จะยังคงมีอยู่บ้างคือคนจีนที่กำลังท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสในจีนและมีการปิดมณฑลหูเป่ยพอดี จึงตัดสินใจยังไม่กลับเมืองจีนและอาศัยในต่างประเทศต่อไปก่อน อันเป็นการบรรเทาสถานการณ์รายได้ท่องเที่ยวที่ลดลงของประเทศนั้น ๆ ได้ในระดับหนึ่ง)
ช่องทางที่สาม การปิดทำการของโรงงานในจีน ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลกสะดุด อาทิ การปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทำให้สายอุปทานการผลิตรถยนต์ต้องหยุดชะงัก (อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีรายงานข่าวว่าประมาณร้อยละ 60 - 80 ของโรงงานในจีนนอกมณฑลหูเป่ยได้กลับมาเปิดทำการแล้ว)
ช่องทางสุดท้าย การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลดลง เนื่องจากนักลงทุนอยู่ในภาวะการกลัวความเสี่ยง (risk-off sentiment) ส่วนหนึ่งสะท้อนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ตกอยู่ในแดนลบในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลทำให้ผลตอบแทนของกองทุนต่าง ๆ ลดลง อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และทำให้ความมั่งคั่งของบุคคลลดลง
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งได้หดหู่ใจไปครับ ชีวิตเรามีความหวังเสมอเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ ข้างต้นจะบรรเทาลงได้บ้างด้วยมาตรการแก้ไขและกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการทั่วโลก รวมทั้งทางการจีนที่มีมาตรการในเชิงสนับสนุนและช่วยเหลือภาคเอกชนอย่างเร่งด่วน
อาทิ การอัดฉีดเงินของธนาคารกลางจีนให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจต่างๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องในยามวิกฤต การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียม รวมถึงรัฐบาลจีนจะมีการลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจต่างๆ ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการทุ่มสรรพกำลังเพื่อเยียวยาผลกระทบของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ต่อเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์ไวรัสจะสิ้นสุดโดยเร็วด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในโลกและด้วยพลังบวกของทุกคน ขอให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ “ตระหนักได้” แต่ต้อง “ไม่ตระหนก” ล้างมือบ่อย ๆ และหมั่นดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้ปี 2563 ผ่านฝันร้ายและกลับมาเป็นปีหนูทองดังที่ทุกคนหวังไว้โดยเร็ว… แสงสว่างยังมีที่ปลายอุโมงค์ เราจะผ่านอุโมงค์นี้ไปด้วยกันครับ!
สุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/