มติเอกฉันท์ ประกาศ 'โควิด-19' เป็นโรคติดต่ออันตราย
ที่ประชุมคกก.โรคติดต่อฯ มติเอกฉันท์ ประกาศ 'โควิด-19' เป็นโรคติดต่ออันตราย เพิ่มประสิทธิภาพควบคุมโรค ด้าน 'อนุทิน' เเจงชัดสถานการณ์ไทยยังอยู่ระดับ 2
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า วันที่ 24 ก.พ. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมีวาระการพิจารณาประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อเเห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ให้ความเห็นต่อที่ประชุมให้ประกาศโรคไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการควบคุมโรคในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยเรามีบทเรียนจากกรณีของเกาหลีใต้ ที่คนเพียงหนึ่งคนสามารถแพร่การะบาดในวงกว้างได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้นโยบายในการควบคุม ป้องกัน บวกหนึ่งเสมอ ในการควบคุมการระบาด เพื่อให้เราอยู่นำหน้าสถานการณ์
ทั้งนี้ ยืนยันว่า สถานการณ์การเเพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในระดับ 2 ไม่ใช่ระดับ 3 ตามที่มีการพาดหัวข่าวในเช้าวันที่ 24 ก.พ. เเต่การประกาศในโรคชนิดนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย เป็นเพียงการป้องกันไม่ให้สถานการณ์ระบาดเข้าสู่ระดับ 3 หรือหากไปถึงระดับนั้น ขอให้ยืดระยะเวลาออกไปนานที่สุด
นอกจากนี้ คณะกรรมการได้เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติการเพื่อเป็นกรอบแนวทางให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณี COVID-19 และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่
1.การคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ช่องทางเข้าออกประเทศ สถานพยาบาล และในชุมชน
2.การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อ
3.การติดตามผู้สัมผัสโรค
4.การสื่อสารความเสี่ยง
5.การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย และ 6.การประสานงานและจัดการข้อมูล
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:รู้จัก 13 ชื่อโรคติดต่ออันตราย!ก่อนสธ.ประกาศ 'ไวรัสโควิด-19' เป็น’น้องใหม่‘
กันติดเชื้อโควิด-19 บ.ไอทียักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น พร้อมใจสั่งพนง.ทำงานที่บ้าน-เลี่ยงเดินทางช่วงเร่งด่วน
สธ.แนะนำคนไทย ไม่จำเป็น 'เลื่อน' เดินทางไปญี่ปุ่น-สิงคโปร์
อนุทิน ยันสาธารณสุขไทย พร้อมช่วยกัมพูชาป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19