องค์การอนามัยโลกเปิดไทม์ไลน์ ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย 35 ราย บอกละเอียดคนแรก-สุดท้าย
องค์การอนามัยโลกเปิดไทม์ไลน์ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย 35 ราย บอกละเอียดตั้งแต่คนแรก-สุดท้าย ขณะที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน เผยผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตล่าสุด อยู่ที่ 2,348 ราย -ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลรวมอยู่ที่ 76,394 ราย กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคระดับมณฑล 31 แห่งของจีน
นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 สถานการณ์รคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรวมสะสมอยู่ที่ 35 ราย ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุถึงระบบตรวจคัดกรอง และการเฝ้าระวังของประเทศไทย ตั้งแต่จุดที่เดินทางเข้าประเทศ ทุกสนามบิน และด่านทั่วประเทศ ทำให้ไทยสามารถติดตาม และแยกอาการผู้ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แสดงกราฟเพื่อให้เห็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้ง 35 ราย อย่างละเอียด ตั้งแต่ผู้ป่วยคนแรกที่เจอในประเทศไทยเดินมาเข้ามาจากต่างประเทศวันที่ 13 มกราคม 2563 ผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นคนไทย กระทั่งคนล่าสุด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นบุคลากรทางการแพทย์ (First health provider case)
และหากแยกผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามสัญชาติ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนจีน
ขณะที่สำนักข่าว www.xinhuathai.com รายงาน อ้าง คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลได้ล่าสุดรวมอยู่ที่ 20,743 ราย รายงานประจำวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ ของคณะกรรมการฯ ระบุว่านับเฉพาะวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ มีผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลได้ 2,393 ราย
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตล่าสุดรวมอยู่ที่ 2,348 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลรวมอยู่ที่ 76,394 ราย กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคระดับมณฑล 31 แห่งของจีน
ครบรอบ 50 วัน
ด้านกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้า สถานการณ์ โรคไวรัสโควิด-19 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการทำงานครบรอบ 50 วัน ขอให้มั่นใจในระบบสาธารณสุขไทย
"กระทรวงสาธารณสุข เริ่มต้นทำงานตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 และวันที่ 8 มกราคม 2563 พบนักท้องเที่ยวจีนมีไข้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นก็แถลงข่าวพบผู้ป่วยโควิด-19 คนแรกนอกประเทศจีน จากนั้นก็พบผู้ป่วยคนไทยรายแรกที่กลับมาจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงประเทศไทยเรามีระบบคัดกรองที่รวดเร็ว"โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว และว่า สำหรับคำถามที่ไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เพราะอะไรนั้น เรายืนยันระบบตรงนี้ และบุคลากรสาธารณสุขก็ยังทำงานอย่างเต็มที่ และเข้มข้น
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ปัจจุบันผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล กลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย เป็นไกด์ที่กลับมาจากอู่ฮั่น รวมยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 35 รายคงเดิม และมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,252 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,092 ราย คัดกรองได้จากสนามบิน 60 ราย
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ในต่างประเทศ ประเทศที่ได้รับผลกระทบ นอกจากจีนแล้ว ยังพบว่า เกาหลีใต้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วมาก ล่าสุด คือ ประเทศอิตาลี ฉะนั้น ไทยกำลังจับตามองประเทศที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็ว มีการระบาดในประเทศ เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้อย่างเต็มที่ คัดกรองอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง
"คำถามว่า เรามีความเสี่ยง หรือเจอผู้ป่วยเดินทางใช่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และกระทรวงสาธารณสุขจะใช้มาตรการเข้มข้นต่อไป ส่วนผู้เดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด จะมีความเสี่ยงติดเชื้อกลับมา ซึ่งหากไม่จำเป็นกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้เลื่อนการเดินทาง เรายังไม่ห้ามการเดินทาง หรือกักกัน แต่การไปประเทศเสี่ยงท่านต้องปฏิบัติตัวป้องกันการติดเชื้อให้เหมาะสม เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ"
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรากำลังเปิดศึกสองด้าน ขยายนิยามการเฝ้าระวังในประเทศ พื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต ชลบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และเพิ่มการเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
"ผมหวังว่า มาตรการต่างๆ นั้นจะทำให้เราสามารถตรวจพบผู้ป่วยได้โดยเร็ว และลดการแพร่เชื้อในประเทศ อยู่ในภาวะมีผู้ป่วยจำนวนน้อยๆ ยาวนานออกไปนานที่สุดเท่าที่ทำได้ "นายแพทย์ธนรักษ์ ระบุ และว่า วันนี้ความเสี่ยงโรคนี้รายบุคคลในประเทศไทยยังอยู่ระดับต่ำมาก โอกาสการติดเชื้อจากการเดินไปเดินมา ถือว่า ต่ำมาก แต่ความเสี่ยงของประเทศการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เหมือนหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ยังต้องเฝ้าระวังอยู่
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวถึงยารักษาโรคไวรัสโควิด-19 เรื่องวัคซีนยังเป็นเรื่องไกลมาก แต่ยารักษาที่มีทางการจีนประกาศมียาอยู่ตัวหนึ่งมั่นใจรักษาโรคนี้ได้นั้น ข่าวดี ประเทศไทยมีการนำเข้ายาตัวนี้มาแล้วจำนวนหนึ่งแล้ว ก่อนทางการจีนประกาศ ระยะต่อไปองค์การเภสัช ติดต่อประสานกับบริษัทยานำเข้ายามาเพิ่มขึ้นต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กันติดเชื้อโควิด-19 บ.ไอทียักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น พร้อมใจสั่งพนง.ทำงานที่บ้าน-เลี่ยงเดินทางช่วงเร่งด่วน
สธ.แนะนำคนไทย ไม่จำเป็น 'เลื่อน' เดินทางไปญี่ปุ่น-สิงคโปร์
อนุทิน ยันสาธารณสุขไทย พร้อมช่วยกัมพูชาป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19