สภาพัฒน์ : เศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
"...ข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YOY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2562 ร้อยละ 0.2 นั่นคือกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มิใช่การลดลงหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด..."
หมายเหตุ : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ออกเอกสารข่าว 'ทำความเข้าใจกับภาวะเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2563
1.เศรษฐกิจถดถอย คืออะไร
คำตอบ
1.1 นิยามโดยทั่วไป
โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือ ภาวะในช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนผ่านการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (A period of reduced economic activity) โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ การลดลงของการผลิต การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ และนำไปสู่การลดลงของการจ้างงาน เป็นต้น
และในการวัดการถดถอยของเศรษฐกิจตามนิยามดังกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์ก็ได้กำหนดนิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) คือ ภาวการณ์ลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาที่แท้จริง หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Percentage change quarter on quarter of seasonally adjusted series: % QoQ SA) ติดลบติดต่อกันอย่างน้อยสองไตรมาส
1.2 ความเป็นมา
เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของนิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยพบว่ามีมายาวนานอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่งานศึกษาสำคัญอย่าง The General Theory of Employment, Interest and Money ของ John Maynard Keynes ที่ตีพิมพ์ในปี 2479 ได้มีการอธิบายถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) ว่าเป็นช่วงที่มีผลผลิตและมีการจ้างงานที่ลดลง แต่ไม่ได้ให้คำจำกัดความและวิธีการวัดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการถดถอยทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่งานศึกษาร่วมสมัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาเรื่องวัฎจักรเศรษฐกิจและเศรษฐกิจถดถอยโดยโจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) ในปี 2482 ในหนังสือ Business Cycles: A Theoretical, Historical, and Statistic Analysis of the Capitalist Process ได้อธิบายวัฏจักรเศรษฐกิจผ่านการคิดค้นนวัตกรรมและการสะสมความมั่งคั่ง และต่อมาก็ได้มีงานศึกษาเกี่ยวกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายชิ้น
สำหรับการกำหนดนิยามและวิธีการในการวัดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น พบว่ามีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐฯ ในปี 2517 คณะกรรมาธิการของสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ ได้พยายามกำหนดนิยามและวิธีการวัดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไว้หลายประการ อาทิ การลดลงของ GDP ติดต่อกันสองไตรมาส หรือการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานร้อยละ 1.5-2.0 ในช่วง 12 เดือน
ขณะที่คณะกรรมการกำหนดช่วงเวลาตามวัฎจักรเศรษฐกิจ (Business Cycle Dating Committee) ภายใต้ National Bureau of Economic Research (NBER) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการในการทำวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ตั้งขึ้นในปี 2521 มีหน้าที่ศึกษาเพื่อกำหนดช่วงเวลาการขยายตัวและการถดถอยตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Business cycle)
โดย NBER ได้กำหนดนิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ (A significant decline in economic activity spread across the country) ซึ่งรวมถึงความรุนแรงของการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และระยะเวลาของการลดลงควบคู่กันไป อาทิ ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2544 ที่ GDP ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แม้จะไม่ได้เป็นการลดลงต่อเนื่องติดต่อกันสองไตรมาส แต่เป็นการลดลงที่มีความรุนแรงและระยะเวลายาวนาน
ทางคณะกรรมการฯ จึงประกาศให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจทั้งตัวเลข GDP และเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ มาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย อาทิ รายได้ของครัวเรือนสุทธิหักเงินโอน การจ้างงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และปริมาณการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมและยอดการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น และผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยระยะเวลาของเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 6–18 เดือนก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในระยะต่อไป
ในขณะที่ประเทศสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป ได้กำหนดให้วัดเศรษฐกิจถดถอยตามการลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันสองไตรมาสของ GDP ที่ปรับฤดูกาลแล้ว โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหราชอาณาจักรเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2499
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการวัดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นในระยะหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เนื่องจากในช่วงก่อนหน้ายังไม่มีข้อมูลเศรษฐกิจที่มีความละเอียดระดับรายไตรมาส มีเพียงข้อมูลรายปี โดยประเทศแรกที่จัดทำข้อมูล GDP รายไตรมาสได้แก่สหรัฐฯ ในปี 2490 ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรในปี 2498 ในขณะที่ประเทศไทยเผยแพร่ข้อมูล GDP รายไตรมาสอย่างเป็นทางการตั้งแต่ในปี 2542 เป็นต้นมา โดยเผยแพร่ข้อมูลย้อนหลังถึงปี 2536 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการจัดเก็บข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจรายไตรมาสที่สมบูรณ์
1.3 ประเภท/รูปแบบ
ประเภทหรือรูปแบบของการถดถอย มีแตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบ อาทิ ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (V-Shaped) ภาวะถดถอยช่วงสั้น ๆ แล้วฟื้นตัว (U-Shaped) ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัว แต่กลับไปถดถอยใหม่ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง (W-Shaped or Double-dip recessions) และภาวะถดถอยแล้วใช้เวลานานในการฟื้นตัว (L-Shaped)
2.ประเทศไทยเคยประสบสภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่
คำตอบ
จากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายไตรมาสย้อนหลังนับตั้งแต่ 2536 เป็นต้นมา พบว่าประเทศไทยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคจำนวน 4 ครั้ง ได้แก่
(1) ครั้งแรก เกิดในปี 2540 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2540 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2541 เป็นการลดลงต่อเนื่องสี่ไตรมาสติดต่อกัน
(2) ครั้งที่สอง เกิดในปี 2551 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน
(3) ครั้งทื่สาม เกิดในปี 2556 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศคือภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดของไทยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน
(4) ครั้งที่สี่ เกิดในปี 2556-2557 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การลงทุน การค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน
3. สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเรียกว่าอะไร
คำตอบ
ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YOY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2562 ร้อยละ 0.2 (%QoQ SA)
นั่นคือกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มิใช่การลดลงหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 นี้มีปัจจัยสำคัญๆ จากทั้งภายนอกและภายในประเทศ ได้แก่ (1) การขยายตัวในเกณฑ์ที่ต่ำของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท (2) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ (3) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัจจัยชั่วคราวในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ
4. ภาวะเศรษฐกิจไทยใน ปี 2563 จะเป็นอย่างไร
คำตอบ
เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2562 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 จะเผชิญกับข้อจำกัดต่อขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ (1) ภาคเกษตรมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น
(2) ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง (3) ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
และ (4) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภาครัฐอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการใช้นโยบายการคลังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ดี ในกรณีฐานคาดว่าข้อจำกัดที่เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณจะยุติลงในไตรมาสแรก และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางไตรมาสที่สอง
ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ปกติในช่วงหลังของปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ (2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศ (3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/