ผอ.ขนส่ง กทม.พื้นที่ 5 แจงค้างต่อภาษีรถ เชื่อส่วนใหญ่ จยย.ไม่ใช้งาน ชำรุด-หาย
ผอ.สำนักขนส่งกรุงเทพฯ พื้นที่ 5 แจงตัวเลขรถทะเบียนขาด ไม่มาชำระภาษีประจำปีกว่า 9 ล้านคัน ชี้ส่วนใหญ่ จักรยานยนต์ ชำรุด-สูญหาย หรือนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล เชื่อเจ้าของเข้าใจผิด ไม่ใช้งาน ไม่ต้องแจ้ง
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าว กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พบรูรั่ว รถทะเบียนขาด ไม่มาชำระภาษีประจำปีกว่า 9 ล้านคัน จาก 40 ล้านคัน ทำรัฐสูญรายได้ 6.2 พันล้าน ไม่มีเงินไปพัฒนาเส้นทาง-ระบบการคมนาคม (อ่านประกอบ:นักวิชาการชี้เจ้าของรถค้างต่อภาษี รัฐสูญรายได้กว่า 6.2 พันล้านบาท/สดๆ ร้อนๆ ผลวิจัยทดลองที่ จ.กระบี่ ส่งจม.แจ้งเตือนชำระภาษีรถ แบบไหนได้ผลสุด ) ไปแล้วนั้น
นายเสกสม อัครพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ได้ชี้แจงประเด็นการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ประจำปี ทั่วประเทศมีรถยนต์จดทะเบียนประมาณ 39 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 21 ล้านคัน เป็นรถประเภทจักรยานยนต์ ซึ่งตัวเลขการไม่มาชำระภาษีตามที่เป็นข่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นการไม่ใช้รถ และเจ้าของรถไม่ได้แจ้งหยุดการใช้รถกับกรมการขนส่งทางบก รวมไปถึงการนำรถไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล หรือเข้าใจผิดว่า รถที่ชำรุด สูญหายไม่มีความจำเป็นต้องชำระภาษี
" เชื่อว่า การไม่ชำระภาษีและค่าธรรมเนียมรถประจำปี จะเป็นกรณีอย่างนี้ทั้งสิ้น และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์" ผู้อำนวยการ สำนักขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 กล่าว และเชื่อว่า ทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิดของเจ้าของรถมากกว่า หากคิดว่ารถซ่อมระยะเวลานาน ใช้ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ประสงค์ใช้รถแล้ว ต้องแจ้งไม่ใช้รถชั่วคราว หรือตลอดไปกับสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อหยุดการชำระภาษี
เมื่อถามถึงขั้นตอนการแจ้งไม่ประสงค์ใช้รถ ยุ่งยากหรือไม่นั้น นายเสกสม กล่าวว่า การแจ้งความประสงค์ไม่ใช้รถชั่วคราว มีผลใช้ได้ครั้งละ 2 ปี ส่วนการแจ้งไม่ใช้รถตลอดไป กรณีรถสูญหาย เกิดอุบัติจนรถใช้งานไม่ได้ ซึ่งทั้ง 2 กรณี ถือเป็นการหยุดการชำระภาษี
สำหรับการชำระภาษีและค่าธรรมเนียมรถประจำปี นายเสกสม กล่าวว่า รถที่จดทะเบียนในจังหวัดนั้นๆ รายได้จะตกอยู่ที่ท้องถิ่นเพื่อนำไปพัฒนาถนนหนทาง พัฒนาประเทศ "หากเราใช้รถจังหวัดไหน อยากให้ควรจดทะเบียนรถจังหวัดนั้น เพราะจะเป็นภาษีบำรุงท้องถิ่น"
ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบก ได้อำนวยความสะดวกในการชำระภาษีรถ ซึ่งสามารถชำระภาษีล่วงหน้าได้ 90 วันก่อนครบกำหนด เปิดจุดเลื่อนล้อต่อภาษี ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด โดยไม่จำเป็นต้องลงจากรถ นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร มีศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน จุดบริการร่วมต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีให้บริการในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ชำระภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต และเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น
"เราเปิดช่องทางอำนวยความสะดวกเยอะมาก เพื่อให้เจ้าของรถสะดวกชำระภาษี"
นายเสกสม กล่าวถึงบทลงโทษการไม่ชำระภาษีรถ จะมีค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือน จนถึงวันที่มาชำระ และหากค้างชำระเกิน 3 ปี ทะเบียนรถจะถูกระงับในส่วนของการใช้ทะเบียน นอกจากนี้หากนำรถที่ขาดการต่อภาษีมาขับ และเจอด่านหรือเจ้าหน้าที่เรียก ก็จะถูกจับถูกปรับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/