เวทีเสวนา 'รู้เท่าทัน วางกฎเหล็ก ถกหาทางออก' หลังสื่อเสนอข่าวเหตุสังหารหมู่โคราช
เหตุการณ์ที่ จ.โคราช เราขาดการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นวิธีที่จะแก้ปัญหาก็คือสื่อมวลชนจะต้องมีวินัยมากกว่านี้ ทั้งในประเด็นเรื่องการกลั่นกรองและปล่อยข่าวออกไปให้สาธารณชน และอีกประเด็นก็คือวินัยของผู้รับสื่อก็ต้องมีด้วย ไม่ใช่ว่าผู้รับสื่อรับสื่อมาแล้วก็ไม่เช็คแล้วก็แชร์ข้อความออกไปเลย
หมายเหตุ:เมื่อวันที่ 18 ก.พ. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา หัวข้อ “รู้เท่าทัน – วางกฎเหล็ก Mass shooting – สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี – ออนไลน์” เพื่อหาแนวทางในการกำหนดมาตรการกำกับดูแลและสร้างกติกาให้กับสื่อมวลชนทุกแขนง และสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมและประชาชนทั่วไป จากเหตุการณ์กราดยิงประชาชนที่ห้าง Terminal 21 จ.นครราชสีมา โดยพล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเปิดงานเสวนา
โดยมีผู้ร่วมเวทีเสวนาได้แก่ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ,นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์,นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ ,พ.อ.หญิงนวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการสถานี สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยรายละเอียดการเสวนามีดังต่อไปนี้
@นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการโทษกันไปกันมาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรายงานของสื่อ บางคนก็โทษ กสทช. บางคนก็ถามว่าทำไมกระทรวงฯ ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่าสื่อมวลชนนั้นก็ยังคงมีจรรยาบรรณในการกลั่นกรองข่าวที่จะเสนออยู่เพราะแต่ละสื่อก็มีบรรณาธิการคอยรับผิดชอบอย่างเข้มข้นก่อนจะนำเสนอต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตามนั้นในปัจจุบัน มีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ซึ่งก็คือช่องทางออนไลน์ จากบุคคลที่มีคนติดตามไม่กี่คนก็ไปลงทะเบียนกับเว็บไซต์ต่างๆเพื่อจะมาทำตัวเป็นสื่อออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม การทำแบบนี้ก็ไม่เรียกว่าเป็นสื่อมวลชนแต่อย่างใด
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ นอกจากฝ่ายปฏิบัติ มีผู้บัญชาการปฏิบัติหน้าที่แล้ว สิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมีเลย นั่นคือ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านการสื่อสาร ถือเป็นการเรียนรู้ที่เราต้องมี และมีช่องทางชัดเจนว่า ให้ติดตามทางสถานีโทรทัศน์ช่องใดเป็นช่องหลัก
“คนที่ประสบในเหตุการณ์ และรอดออกมาแล้วนอนไม่หลับทุกคืน เขาเป็นผู้ไม่ปกติ หวาดผวา แม้รอดมาแล้ว ได้รับผลกระทบจากจิตใจ ฉะนั้นคนไทย สื่อหลัก สื่อออนไลน์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยหาทางออกกับสิ่งที่เกิดขึ้น"นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่เราต้องมีถกกันต่อไปหลังจากนี้ ก็คือว่าจะต้องมีมาตรการอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมา พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมก่อนหน้าจะมีสื่อออนไลน์ทำไมสื่อหลักที่เขาอยู่กับ กสทช.ถึงสามารถเสนอข่าวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาจัดเสวนากันในครั้งนี้
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไปพูดคุยกับทั้งเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ เพื่อสอบถามในประเด็นว่าจะทำอย่างไรกับสื่อที่บิดเบือนในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรเกิดขึ้น ซึ่งกรณีที่โคราช ก็มีคนตั้งคำถามว่าทำไมกระทรวงไม่ไปปิดเฟสบุ๊คของคนร้ายต้องชี้แจงว่าตรงนี้ทางเฟสบุ๊คเขาเป็นผู้ปิดเฟสบุ๊คของคนร้ายเอง กระทรวงปิดให้ไม่ได้เพราะเป็นของเอกชนไม่ใช่ของรัฐบาล
“ถ้าจะต้องแก้กฎหมาย ต้องไม่ใช่มาจากภาครัฐอย่างเดียว และต้องไม่มีการเพิ่มอำนาจให้กับกระทรวงเพียงอย่างเดียว เพราะกระทรวงก็ไม่ต้องการที่จะให้เป็นแบบนั้น ยกเว้นแต่ประชาชนจะต้องการให้กระทรวงนั้นมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น เราก็พร้อมจะแก้ไขกฎหมายเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน” นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงประเด็นที่อยากจะฝากเอาไว้ใน 2 เรื่องก็คือ 1.เรื่องการซื้อขายของออนไลน์ เราเข้าไปดูได้และพบว่ามีของที่ไม่ควรจะให้เด็กซื้อและให้เด็กเห็น เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะป้องกันตรงนี้และ 2.เราจะทำอย่างไรในการที่เราเสพสื่อแล้วเราจะให้เด็กได้เรียนรู้และรับทราบถึงการเสพสื่อที่เหมาะสมมากกว่านี้
@นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไวท์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด
นายกล้า กล่าวว่า บริษัทไวท์ไซท์ได้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลสาธารณะเพื่อประเมินความรู้สึกของประชาชนต่อเหตุการณ์ต่างๆอยู่ตลอด รวมถึงเหตุการณ์วันที่ 8 ก.พ.และ 9 ก.พ. ซึ่งสิ่งที่ทางบริษัทเก็บได้ประมาณ 1.2 ล้านข้อความจะพบว่าเนื้อหาที่ได้รับความนิยม 5 อันดับก็คือจากสื่อหลักช่อง 7 เฟสบุ๊คสื่อโซเชียล “อีจัน” และมีการพูดถึงเรื่องการไม่ให้เสนอชื่อและหน้าคนร้ายผู้ก่อเหตุตามมา
นอกจากนี้ทางบริษัทได้สำรวจคอมเมมท์ 6 หมื่นข้อความที่มีต่อ Influencers พบว่า ประชาชนติดตามเรื่องบนโซเชี่ยลมากๆ โดยไม่ได้แยกสื่อไหนเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ หรือ Influencers โดยการแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่แสดงความเสียใจต่อครอบครัว และไว้อาลัยผู้เสียชีวิต ขอให้ผู้ที่ติดอยู่ปลอดภัย ขอให้ย่าโมคุ้มครองทุกคน ขอให้ผู้เสียชีวิตไปสู่สุขคติ ขอบคุณเพจต่างๆ และการพูดถึงสื่อ และ Influencers เป็นต้น
นายกล้า กล่าวด้วยว่า คนบนโซเชียลแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน เรามีเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้สังคมดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้ใครต้องออกมารับผิดชอบ คนใดคนหนึ่ง ข้อมูลพวกนี้ทำให้เห็นภาพรวมคนทั้งประเทศได้ว่า เรากำลังถกเรื่องที่ร้ายแรงมากๆ ในกลุ่มเล็กๆ หรือเรากำลังถกเรื่องกลุ่มคนใหญ่ๆ ที่กำลังทำอะไรกันอยู่
@นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
นายพีระวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นเราเคยมีประสบการณ์รายงานข่าวเหตุการณ์ในสภาวะวิกฤติมาแล้ว เช่นเหตุการณ์สึนามิเมื่อตอนปี 2547 แต่อย่างไรก็ตามนั้นการนำเสนอข่าวตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เพราะถ้าหากมีแล้วก็เชื่อว่าภาพความร้ายแรงในการเสนอเหตุการณ์นั้นก็จะร้ายแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โคราชมาก
"เหตุการณ์ที่โคราชนั้นตอนแรกเป็นแค่อาชญากรรมที่ต่อมาก็ยกระดับความรุนแรงเรื่อยๆจนเทียบเท่าการก่อการร้าย ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็คงไปโทษนักข่าวคนแรกๆที่ลงพื้นที่ไม่ได้ เพราะนักข่าวคนแรกที่ไปรายงานในช่วงที่เป็นระดับอาชญากรรม ก็เป็นแค่นักข่าวที่ยังมีชั่วโมงบินน้อยอยู่ ดังนั้นเขาก็จะรายงานในบริบทของข่าวอาชญากรรม แต่กว่านักข่าวที่มีประสบการณ์สูงจะลงพื้นที่ไปนั้นก็ประมาณ 3 ทุ่มของวันที่ 8 ก.พ.แล้ว ดังนั้นจากกรณีนี้ก็คิดว่าการยกระดับเหตุการณ์ให้โดยเร็ว เพื่อให้กองบรรณาธิการได้ยกระดับการรายงานข่าวนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำอย่างยิ่ง"
นายพีระวัฒน์ กล่าวต่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทั้ง 2 ฝั่ง ทางสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรจะร่วมกันถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อหาวิธีและแนวทางปฏิบัติเพื่อจะได้มีกติกาที่เหมาะสมในการรายงานเหตุการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินให้เหมาะสมต่อไปเพื่อป้องกันกรณีที่สื่อได้รายงานในสิ่งที่ไม่เหมาะสม อาทิเช่น ขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น และก็ควรที่จะต้องมีมาตรการลงโทษกันอย่างจริงจังสำหรับสื่อที่ละเมิดกติกาที่มาจากข้อตกลงเหล่านี้
@นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT)
นายไตรลุจน์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ข่าวที่เสนอออกไปก็เป็นลักษณะที่เป็นแง่ลบกับสังคมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สื่อแต่ละแห่งที่รายงานเหตุการณ์ที่ จ.โคราช ทุกคนต่างก็ล้วนทำสงครามสู้กันระหว่างสื่อ โดยมีอาวุธก็คือเนื้อหาที่จะทำให้ประชาชนเข้ามาดูเพื่อเพิ่มเรตติ้ง ถ้าช่องไหนเสนอรายละเอียดได้มากกว่า ก็จะมีความได้เปรียบกว่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อเรตติ้ง และยิ่งไปกว่านั้น ช่องทีวีก็มีมากถึง 17 ช่อง จำนวนเรตติ้งเปอร์เซ็นต์คนดูก็จะลดลงตามไปช่องที่เฉลี่ยกันด้วย
นายไตรลุจน์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตการลงโฆษณาในแต่ละช่องโดยบริษัทโฆษณาจะเลือกช่องโดยดูแค่เรตติ้งของช่องนั้นๆ คิดว่าไม่ควรจะพิจารณาในประเด็นเรื่องคนดูช่องนั้นเป็นจำนวนมากหรือน้อยเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองในประเด็นเนื้อหาที่สื่อนั้นนำเสนอด้วยว่า เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าหากเรตติ้งสื่อนั้นดี แต่ปรากฎว่าเนื้อหานั้นไม่เหมาะสม ทางผู้ลงโฆษณาก็ควรจะพิจารณาเพื่อที่จะลงโฆษณากับช่องนั้นหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ควรจะมีการขีดเส้นในอนาคตว่าการนำเสนอข่าวเนื้อหาแบบไหนมีความเหมาะสม และเนื้อหาแบบไหนที่มันเกินเลยไปแล้ว
@นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
นายระวี กล่าวว่า ทางสมาคมนั้นพยายามจะสนับสนุนให้สื่อออนไลน์นั้นมีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวเช่นเดียวกับที่สื่อหลักได้ทำหน้าที่ เพื่อให้ทำเนื้อหาที่เน้นความถูกต้องมากกว่าถูกใจ ซึ่งในปัจจุบันนั้นทุกคนสามารถเป็นสื่อออนไลน์ได้ แต่ก็ไม่มีกระบวนกลั่นกรองที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเจ้าของเว็บไซต์สื่อออนไลน์ก็มีการลงโทษและถูกลงโทษจากการนำเสนอสื่อที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน อาทิเช่นกรณีเว็บไซต์ Youtube ก็เคยถูกลงโทษจากการนำเสนอวิดิโอเด็กอันไม่เหมาะสม ตรงนี้ก็ต้องมาย้อนดูที่ประเทศไทยว่าเราจะมีโอกาสทำได้แบบนั้นหรือไม่
นายระวี กล่าวว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการโพสต์เฟสบุ๊คจากผู้ใช้แล้วมาเป็นประเด็นตลอด ซึ่งหลังจากเดือน พ.ค.เป็นต้นไป ก็จะมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะคุ้มครองการเอาวิดิโอจากช่องทางออนไลน์เหล่านี้ไปเสนอเป็นสื่อออนไลน์ แล้วทำให้ผู้ที่อยู่ในวิดิโอเสื่อมเสีย ผู้ที่เสียหายก็สามารถฟ้องร้องต่อสื่อออนไลน์ที่ทำหน้าที่ได้ โดยจะมีการลงโทษกันในต่างกรณีเช่นเอาไปโพสต์ทั้งเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ผู้เสียหายก็จะสามารถฟ้องร้องได้ทั้ง 2 ช่องทางเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ช่องทางละ 5 แสนบาทเป็นต้น
"ตรงนี้ก็หวังว่าจะเป็นการเพิ่มระดับให้สื่อออนไลน์ได้มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ และจะเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันและกำกับไม่ให้ใครก็ไม่รู้แต่มาอ้างตัวว่าจะเปิดสื่อออนไลน์ได้"
@นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์
นายเขมทัตต์ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของสมาคมฯ เรามีสมาชิกอยู่จำนวนมากกว่าร้อยราย ที่ทำหน้าที่สื่อ ซึงที่ผ่านมาก็มีการประชุมกันทุกเดือนเพื่อพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคม และจรรยาบรรณสื่อโดยยึดโยงกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.โคราชนั้นต้องยอมรับว่า ทางสมาคมก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งส่วนตัวแล้วอยากให้ลองดูอีกประเด็นก็คือการระบาดไวรัสโคโรน่าที่เริ่มจากประเทศจีน พอเกิดเหตุการณ์ระบาด ก็มีการตั้งศูนย์เพื่อจะสื่อสารข่าว ทำให้ช่องทางการสื่อสารออกมาในทิศทางเดียวกันไม่แตกออกเป็นหลายส่วน แต่ประเทศไทยยังไม่มีตรงนี้อย่างจริงจัง
พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง กว่าเราจะควบคุมสถานการณ์ได้ก็กินเวลาไป 36 ชั่วโมงแล้ว
นายเขมทัตต์ กล่าวว่า การออกสื่อแบบนี้นั้นเป็นสิ่งที่อยากจะให้ประเทศไทยยึดเอามาเป็นรูปแบบในการรายงานข่าวสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตาม พอมาถึงเหตุการณ์ที่ จ.โคราช เราก็ขาดการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นวิธีที่จะแก้ปัญหาก็คือสื่อมวลชนจะต้องมีวินัยมากกว่านี้ ทั้งในประเด็นเรื่องการกลั่นกรองและปล่อยข่าวออกไปให้สาธารณชน และอีกประเด็นก็คือวินัยของผู้รับสื่อก็ต้องมีด้วย ไม่ใช่ว่าผู้รับสื่อรับสื่อมาแล้วก็ไม่เช็คแล้วก็แชร์ข้อความออกไปเลย ในประเด็นนี้นั้นถ้าหากเอาเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วงคัดกรองข้อความเนื้อหาอันเป็นเท็จนั้น เรื่องนี้ก็จะช่วยได้มาก
นายเขมทัตต์ กล่าวต่ด้วยว่า ถ้าหากสื่อมีวินัยและรัฐจะเข้ามาช่วยให้เกิดศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ( National Data Center) ตรงนี้ก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
@พ.อ.หญิงนวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
พ.อ.หญิงนวพร กล่าวว่า ในความรู้สึกของผู้ที่ถูกกักขังในห้างเขาต้องคิดเสมอว่าเขาอยากจะรอดตาย และพอรอดออกมาก็จะมีความรู้สึกแบบนั้นติดอยู่ในใจตลอด ซึ่งแม้ว่าตอนแรกที่ผู้ถูกกักขังสามารถออกมาได้ เขาจะไม่ได้มีความรู้สึกอะไร แต่ความรู้สึกเหล่านี้จะตามมาในช่วงหลังจากเหตุการณ์ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะคนที่สูญเสียนั้นก็อาจจะมีความรู้สึกว่าตัวเองควรจะได้ช่วยคนอื่นให้ออกมาได้ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต บางคนก็จะมีความรู้สึกตื่นกลัวกับเหตุการณ์เหล่านี้ตามมาในภายหลัง
พ.อ.หญิงนวพร กล่าวว่า ดังนั้นการนำเสนอสื่อก็ไม่ควรที่จะตอกย้ำในเหตุการณ์เหล่านี้ตามมา เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทำให้เกิดโรคเครียดแบบเฉียบพลันและโรคซึมเศร้าตามมา ตอนนี้ทางราชวิทยาลัยจิตแพทย์ก็เตรียมส่งจิตแพทย์ลงพื้นที่ไปแล้ว เพื่อจะตรวจสอบในผลกระทบทางด้านจิตใจกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้
พ.อ.หญิงนวพร กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้อยากสื่อนำเสนอกับแง่มุมดีๆที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เหล่านี้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ในประเด็นเรื่องฮีโร่จากเหตุการณ์นี้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้เป็นต้น
@ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการสถานี สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สุภาพร กล่าวถึงเหตุการณ์ที่โคราช ปัญหาเรื่องนี้ก็คือการประกาศสภาวะผิดปกตินั้นมีความล่าช้าเกินไป ซึ่งการประกาศว่าสภาวะวิกฤติ ฉุกเฉินแล้ว ในหลักสากลการรายงานข่าวจากเดิมในภาวะปกติที่มองเรื่องประเด็นสาธารณะเป็นอันดับหนึ่ง ก็จะมีการจัดความสำคัญใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่เหยื่อเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองก็จะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องความรู้สึกสาธารณชนก็ควรจะไปอยู่ที่ดันดับสุดท้ายเลย
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการรายงานข่าวที่โคราชนั้น ปรากฎว่าสาธารณชนกลายเป็นกองเชียร์ขึ้นมา คอยเชียร์ว่าเมื่อไรจะจัดการคนร้ายได้ ซึ่งสาเหตุที่เกิดปัญหาแบบนี้นั้นก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข่าวให้เหมาะสมกับสภาวะวิกฤติ แตกลับไปเสนอในรูปแบบปกติที่เน้นแค่ความรู้สึกของสาธารณะกันแทน
ดร.สุภาพร กล่าวต่อว่า ในประเด็นการสื่อสารนั้นเราไม่ได้เอาทีมนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการสื่อสารเลย ทั้งๆที่เราจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา จิตวิทยาสังคม เป็นที่ปรึกษาให้กับคนทำสื่อ ชั่วโมงนี้ 1 2 3 ประเด็นที่ต้องสื่อสารคืออะไร แต่ประเทศไทยไม่เคยมีทีมแบบนี้เลย
"การเสนอข่าวจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ควรจะต้องคำนึงด้วยว่าทุกคนที่ติดอยู่ในห้างเทอร์มินัลนั้นพวกเขาควรจะได้รับการปฏิบัติเสมือนกับว่าเป็นเหยื่อ เพราะเขาก็ได้รับความบาดเจ็บทางจิตใจจากการกักขังอยู่ในห้างเป็นเวลานาน ดังนั้นทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ควรจะมีมุมพักพิงเวลาที่ผู้ที่ถูกกักขังอยู่สามารถออกมาจากห้างด้วยเช่นกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะปล่อยตัวกลับบ้าน และสื่อมวลชนก็ไม่ควรที่จะเข้าไปถามความรู้สึกและนำเสนอภาพของผู้ที่ถูกกักขังเหล่านี้ เพื่อจะตอกย้ำความรู้สึกที่ผ่านมาอีกแล้ว"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/