ประกันรายได้เจอชื่อซ้ำ-หมอนพปชร.ข้อเสียเพียบ! เวทีเสวนาตรัง จี้รบ.จริงใจแก้ยางทั้งระบบ
เวทีเสวนาตรัง “ทางเลือก ทางรอด ชาวสวนยาง” เดือด! จี้รบ.จริงใจ แก้ปัญหายางทั้งระบบ 'สาทิตย์' ชวนตีเหล็กตอนร้อนรบ.เจอมรสุมซักฟอก-ยุบอนค. เสียงปริ่มน้ำ -เครือข่ายชาวสวนยางเตรียมยื่นหนังสือ 'ปธ.รัฐสภา-พรรคการเมือง' แก้กม.เพิ่มยางทำถนน โวย พ่อค้าฟันกำไรมาก ชงออกพ.ร.บ.ควบคุมราคา- ลดภาษีสินค้า สร้าง 'ตลาดไทยคอม' ให้เป็นจริง ดึงยางเข้าตลาดกลาง 50% ด้าน 'กยท.' ยันทำงานหนักรับจ่ายประกันรายได้เจอชื่อซ้ำ ชำแหละแนวคิดหมอนประชารัฐข้อเสียเพียบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 ที่โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ทางเลือก ทางรอด ชาวสวนยาง” โดยการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง นำโดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.เขต2 และนางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ มีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ภายในงานมีการแบ่งกลุ่มเสวนาย่อยเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาตลอดจนข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า 2.คุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง 3.สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ4.ราคายางพาราและนโยบายประกันรายได้
@ 'กยท.' ชำแหละแนวคิดหมอนประชารัฐข้อเสียเพียบ
โดยในระหว่างการจัดเวทีเสวนา นายขจรจักษณ์ นวลพรมสกุล รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวชี้แจงประเด็นการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราว่า เรื่องการแปรรูป โดยเฉพาะหมอนยางพาราในวันนี้ต้องกลับมามองกันใหม่ วันนี้ประเทศไทยส่งออกน้ำยางข้นไปประเทศจีนปีละ 4 ล้านตัน โดยร้อยละ 30 นำไปผลิตถุงมือยาง และขอเตือนให้ระวังให้ดีในเรื่องการทำหมอนยางพารา เพราะจีนมีเมืองที่ผลิตหมอนยางพาราขนาดใหญ่ ที่ฮูฮั่น และ 3-4 เมือง การทำหมอนยางพาราของไทยจึงไม่ง่าย ถ้าเราตั้งโรงงานที่มีขนาดไม่เพียงพอ เช่นเราตั้งโรงงานหมอนยางในประเทศไทยที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านใบ แต่โรงงานในจีนผลิตได้ 10 ล้านใบ แถมยังตีตราว่า Made in Thailand อีกด้วย เจ็บปวดหรือไม่
“เรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยางไทย ปัญหาคือถ้าเราทำจำนวนน้อย ต้นทุนจะสูง ไปแข่งขันกับเขาไม่ได้ สมมุติหากจังหวัดตรังจะทำโรงงานแปรรูปยาง ก็ต้องไปชวนจังหวัดรอบๆมาร่วมลงทุนด้วย ทำให้ใหญ่ไปเลย ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจะน้อยลง บอกตรงนี้เลยว่าต้นทุนของจีนผลิตหมอนยางพาราใบละแค่ 80 บาท แต่กลับขายปลีกใบละ 1,000 บาท แล้วเราจะไปสู้เขาได้อย่างไร”นายขจรจักษณ์ระบุ
@ ยันทำงานหนักรับจ่ายประกันรายได้เจอชื่อซ้ำ
นายขจรจักษณ์กล่าวว่า เรื่องราคายาง อีกประเด็นที่สำคัญคือ ต้นทุน กับสต็อกยาง เราไม่ควรเปิดเผย เพราะปัญหาเรื่องกลไกราคาส่วนหนึ่งมาจากผู้ซื้อยางรับรู้ต้นทุนและสต็อกยาง จึงมีการกดราคาเพื่อทำกำไร โดยซื้อในราคาถูกกว่าต้นทุนเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด
“ตั้งแต่มีนโยบายประกันรายได้ กยท.ทำงานอย่างหนัก เหตุที่ทำให้การจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ล่าช้า เพราะมีรายชื่อเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ซ้ำซ้อนในรายละเอียด อาทิ ชื่อซ้ำ และบางรายได้บัตรเขียวแล้ว ยังต้องการได้บัตรชมพูอีก นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ในส่วนของบัตรชมพูคือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่จ่ายล่าช้า เพราะติดขัดความเห็นที่ไม่ตรงกันของหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานบางหน่วยงานทักท้วงว่าจ่ายให้บัตรชมพูไม่ได้ จนกระทั่งจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์เรียกมาคุยสุดท้ายหน่วยงานที่ทักท้วงก็บอกว่าจ่ายได กยท.ก็เร่งดำเนินการทันที"
ขณะที่ นายมนัส หมดเมือง ตัวแทนจากชุมนุมสหกรณ์บ้านหนองครก อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรแปรรูปหมอนยางพาราแห่งแรกในจังหวัดตรัง กล่าวว่า การแปรรูปยางพาราต้องต่อสู้เรื่องการตลาดอย่างมาก ปัญหาคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์แล้วขายไม่ได้ ทั้งที่สินค้ามีคุณภาพดี ไม่เคยมีใครหันมามองว่าจะขายผลิตภัณฑ์อย่างไร จึงขอให้รัฐบาลสร้างค่านิยมในการใช้ยางพาราไทยอย่างจริงจัง นอกจากนี้ต้องมีการลดหย่อนภาษีสินค้ายางพาราจากเกษตรกร รวมทั้งผู้ซื้อสินค้าจากยางพาราไทยต้องนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
“วันนี้นโยบายรัฐที่สนับสนุนหมอนยางพาราประชารัฐ กลุ่มเกษตรกรเองจะมีโอกาสเข้าถึงแค่ไหน เพราะตอนนี้กลุ่มเกษตรกรยังไม่รู้ว่า รัฐมาซื้อที่ไหน เอาสินค้าจากไหนบ้าง กลุ่มสหกรณ์จะตั้งโรงงานในวันนี้เราติดขัดข้อกฎหมายมากมาย โดยเฉพาะผังเมือง จะทำอะไรก็ติดขัด กลุ่มสหกรณ์ซื้อน้ำยางมา แต่กลับต้องนำน้ำยางไปขายโรงงานน้ำยางข้นของเอกชน แล้วซื้อน้ำยางข้นจากเอกชนมาทำหมอนยางพาราอีกที เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้กลุ่มเกษตรกรตั้งโรงงานน้ำยางข้นได้”นายมนัสกล่าว
@ ชงออกพ.ร.บ.ควบคุมราคา- ลดภาษีสินค้า
ขณะที่ นายสมชาย นิลตะ เกษตรกรจากอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เสนอให้ใช้กฎหมายกำกับให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในชิ้นงานเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างโดยระบุให้ยางพาราเป็นส่วนผสม และดำเนินการให้กยท.เป็นหนึ่งในเสือการยาง โดยให้ยางทั้งระบบขายผ่านตลาดกลางของกยท.และนำราคากลางจากกยท.กำหนดการซื้อขาย
นายณัฐวุฒิ ศรีสวัสดิ์ อดีตกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านคลองปางจำกัด กล่าวว่า เรื่องราคายางจากต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำมีความแตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น ราคายางพารายางตรัง ราคาแค่กิโลกรัมละ 40 บาท แต่เมื่อเดินทางไปถึง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ราคาปรับเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท กระทั่งเมื่อถึงประเทศมาเลเซีย ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 70 บาท เมื่อเห็นความต่างของราคาชัดเจนอย่างนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้มีพ.ร.บ.ควบคุมราคายาง ภาครัฐต้องจริงจังและจริงใจในการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันพ่อค้าคนกลางและโรงงานเป็นผู้กำหนดราคา เป็นไปได้หรือไม่ที่กยท.จะเป็นผู้ซื้อยางแล้วส่งขายให้โรงงาน โดยกำหนดราคายางเป็นรายปี
@ หนุน สร้าง 'ตลาดไทยคอม' ให้เป็นจริง ดึงยางเข้าตลาดกลาง 50%
ส่วนนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องของราคายางอยู่ที่โครงการใช้ยางภาครัฐ การใช้ยางพาราทำถนนนั้นรัฐบาลทราบดีแล้ว แต่ไม่แก้ปัญหา เครือข่ายชาวสวนยางเคยเสนอให้กฎหมายในการนำยางพารามาผสมทำถนนแอตฟัลติกให้ไม่น้อยกว่า 5% ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้
“ดังนั้นสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราจะเดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตลอดจนตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับการนำยางพารามาทำถนนเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยาง ตลอดจนแก้ไขระเบียบพัสดุต่างๆ เรื่องนี้ทุกกระทรวงต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ยางต้องใช้ในหน่วยงานภาครัฐก่อน วันนี้หลายฝ่ายตำหนิกลุ่มเกษตรกรว่าทำโรงงานทั้งที่ยังไม่ดูตลาด แต่ทำไมหน่วยงานภาครัฐกลับไม่ใช้ยางจากเกษตรกร ตั้งแต่คสช.เข้ามาผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า รัฐเข้าไปดูแลกลางน้ำได้ไหม อย่าให้ทุนต่างชาติเข้ามาครอบงำ มาวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยคิด และไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหา วันนี้กลางน้ำเป็นของกลุ่มทุนต่างชาติ ส่วนต้นน้ำคือเราที่เป็นเกษตรกรกลับเป็นทาส” นายถนอมเกียรติกล่าว
นายถนอมเกียรติกล่าวอีกว่า ด้านการตลาดกลุ่มเกษตรกรเสนอมาตลอดในเรื่องตลาดกลางสามประสานให้เกิดขึ้นจริง เพราะตอนนี้ยางเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการของกยท.เพียงไม่เกิน 10% เท่านั้น นายทุนจะยังคงกำหนดราคาอยู่วันยันค่ำ ทั้งหมดเป็นการเตรียมการเพื่อให้เกิดตลาดไทยคอมซึ่งเป็นตลาดซื้อขายยางพาราโลกในอนาคต เป้าหมายคือเมื่อยางกว่า 50% เข้าสู่ระบบของกยท. ตลาดไทยคอมจะเกิดขึ้นได้จริง เรื่องการแก้ไขปัญหาราคายาง การประกันรายได้ไม่ได้ช่วยเรื่องราคายาง วิธีการที่ดีที่สุดคือ ดันราคายางให้สูงขึ้น เป็นการรักษาเสถียรภาพราคายางด้วยการจูงใจให้ยางเข้าสู่ระบบมากขึ้น วันนี้ชาวสวนยางไม่มีเงิน และเรื่องที่อันตรายมากคือปัญหาที่จะเกิดกับสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับยางพารา NPL หรือหนี้สูญจะเกิดขึ้น ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น เงินกู้จะลดลง
@ 'สาทิตย์' ชวนตีเหล็กตอนร้อนรบ.เจอมรสุมซักฟอก- จี้แก้ปัญหายางทั้งระบบ
ด้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.เขต2 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการเสวนาว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกเปลี่ยนเป็นพืชการเมือง และปัจจุบันก็ถูกมาเป็นพืชสวัสดิการ คือ รัฐต้องอุดหนุนงบประมาณแล้ว โจทย์วันนี้คือทำอย่างไรให้ยางพารากลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนเดิม แต่ด้วยกระบวนการของยางพารามีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะเรื่องกลไกราคา วิธีการที่จะทำให้ยางพารากลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงแก่เกษตรกรทุกคน จะต้องเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ขณะที่การประกันรายได้ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ
“วันนี้ชาวสวนยางเองจึงต้องช่วยกันนำเสนอ เพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป เพราะว่ารัฐบาลปัจจุบันนั้น โดยโครงสร้างของเสียงในสภาไม่ได้มีเสียงที่แข็งแกร่ง ถึงถือว่าจะมีความอ่อนไหวต่อเสียงของคนทั้งประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องฟัง และยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่รับผิดชอบเรื่องยางพารา เพราะเราดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เรายิ่งต้องขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้ให้ได้"
"แต่เรื่องยางไม่ควรเป็นประเด็นการเมือง ควรเป็นเรื่องประเด็นปากท้องมากกว่า ข้อสรุปในวันนี้จะต้องนำไปสู่คนกำหนดนโยบาย เพราะรัฐบาลนี้จะต้องเผชิญมรสุมอีกเยอะ มรสุมลูกแรกคือวันที่ 21 ก.พ.นี้ในเรื่องคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และอีกมรสุมคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ มรสุมทั้ง 2 ลูกนี้จึงมีความสำคัญ ข้อเสนอของชาวสวนยางในวันนี้ คือการตีเหล็กที่กำลังร้อน และรัฐบาลต้องอ่อนไหวต่อข้อเสนอของประชาชนในวันนี้ด้วย”นายสาทิตย์ระบุ
ส่วนนางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า "จังหวัดตรังเป็นจังหวัดแรกที่นำยางพารามาปลูกจนสามารถสร้างรายได้ใก้แก่คนตรังรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ นับเป็นพระคุณของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ผู้นำต้นยางต้นแรกมาปลูกในประเทศไทย แต่วันนี้ปากท้องชาวสวนยางกำลังมีปัญหา ด้วยราคายางที่ตกต่ำ การเสวนาในครั้งนี้จึงไม่แยกพรรคแยกฝ่าย ทุกภาคส่วนสามารถช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อแสนอเป็นทางเลือกทางรอดแก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ทั้งสิ้น และเป็นการเสนอทางออกที่มีคุณภาพมากกว่าการประท้วง"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/