จบประมูล 5G รัฐโกยเงินใบอนุญาต 3 คลื่นกว่า 1 แสนล้านบาท
ประมูลคลื่น 2600 MHz จบเร็ว ผู้ประกอบการเคาะราคาแค่รอบ 2 ราคาเพิ่ม 5% ได้เงินเข้ารัฐ 3.71 หมื่นล้านบาท ส่วนคลื่น 26 Ghz เคาะแค่ครั้งเดียว ได้เงินเข้ารัฐ 1.1 หมื่นล้านบาท รวมประมูล 3 คลื่นได้เงินเข้ารัฐ 1 แสนล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเวลา 12.50 น. วันนี้ (16 ก.พ.) การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้บริการ 5G จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าสู่การประมูลคลื่น 2600 MHz ที่มี 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท/ใบอนุญาต หลังประมูลคลื่น 700 MHz จบลงเมื่อเวลา 11.58 น.
อ่านประกอบ :
รัฐโกยเงินประมูล 5G กว่า 1 แสนล้าน คลื่น 700 MHZ แข่งดุราคาพุ่ง 95%
สำหรับการประมูลคลื่น 2600 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 2.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ3.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
เมื่อเข้าการประมูลรอบที่ 1 เริ่มขึ้น ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ใช้เวลาในการเคาะราคารอบนี้ 15 นาที หลังจากผู้ร่วมประมูลทุกรายกดปุ่ม Request ending round (การร้องขอให้จบรอบ) ผลปรากฏว่า ความต้องการใบอนุญาตอยู่ที่ 25 ใบอนุญาต ‘มากกว่า’ ใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูลที่มีจำนวน 19 ใบ โดยมีราคาอยู่ที่ 1,955 ล้านบาท/ใบอนุญาต หรือเพิ่มขึ้น 93 ล้านบาท/ใบอนุญาต ตามกฎการประมูล ทำให้การประมูลเข้าสู่รอบที่ 2 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 13.28 น. การประมูลคลื่น 2600 MHz จบลง หลังการประมูลเพียงรอบที่ 2 เท่านั้น โดยหลังจากครบ 20 นาที และเข้าสู่การประมูลผล พบว่าความต้องการใบอนุญาตลดลงมาอยู่ที่ 19 ใบอนุญาต เท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่เปิดประมูลที่มี 19 ใบอนุญาต โดยมีราคาที่ 1,956 ล้านบาท เพิ่มจากรอบที่ 1 เพียง 1 ล้านบาท/ใบอนุญาต จากราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท/ใบอนุญาต
เท่ากับว่าการประมูลคลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต กสทช.จะได้เงินค่าประมูลทั้งหมด (ไม่รวม Vat) เป็นเงิน 37,164 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 35,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,786 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.05% โดยยังไม่รวมตค่าประมูลย่านความถี่ที่ประสงค์จะได้ (First-price Sealed-bid Auction)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อรวมเงินค่าประมูลคลื่น 700 MHz จำนวน 51,459 ล้านบาท และคลื่น 2600 MHz จำนวน 37,164 ล้านบาท จะทำให้ภาครัฐได้เงินจากประมูลใบอนุญาตอย่างน้อย 88,623 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประมูลคลื่น 2600 MHz จบลง ต่อมาในเวลา 14.30 น. การประมูลเข้าสู่ช่วงการประมูลคลื่น 26 GHz ที่มีจำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท/ใบอนุญาต ราคาเพิ่มขึ้นรอบละ 22 ล้านบาท/ใบอนุญาต
สำหรับการประมูลคลื่น 26 GHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 2.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE 3.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ4.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการประมูลรอบที่ 1 เริ่มขึ้น ผลปรากฎว่าความต้องการใบอนุญาตอยู่ที่ 26 ใบอนุญาต ‘ น้อยกว่า’ จำนวนใบอนุญาตที่นำมาเปิดประมูล 27 ใบอนุญาต ส่งผลให้การประมูลจบลงในรอบ 1 ที่เวลา 14.40 น. โดยราคาใบอนุญาตอยู่ที่ 445 ล้านบาท/ใบอนุญาต และทำให้การประมูลคลื่น 26 GHz มีผู้ประมูลไป 26 ใบอนุญาต คิดเป็นเงิน 11,570 ล้านบาท จากราคา 11,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3%
ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินค่าประมูล.บอนุญาตคลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต วงเงิน 51,459 ล้านบาท คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต วงเงิน 37,164 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz จำนวน 26 ใบอนุญาต วงเงิน 11,570 ล้านบาท ทำให้ภาครัฐได้เงินจากประมูลใบอนุญาต 100,193 ล้านบาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/