'ชวรัตน์-อดีตปลัด มท.'รอด! ป.ป.ช.ฟันรองอธิบดี-ผอ.กองคลัง ปค.ปมเช่าคอมฯ3.4พันล.
เป็นทางการ! ป.ป.ช.แจงยิบปมไม่ชี้มูล ‘ชวรัตน์ ชาญวีรกูร-มานิต วัฒนเสน’ ปมเช่าระบบคอมพิวเตอร์-ทำบัตรประชาชนใหม่แบบอิเล็กทรอนิกส์ วงเงิน 3.4 พันล. ยุค ‘อภิสิทธิ์’ เหตุตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงนามเห็นชอบ แต่ฟัน ‘อดีต ผอ.กองคลัง-รองอธิบดีกรมการปกครอง’ ทดสอบระบบไม่เป็นไปตาม TOR ผิดวินัยร้ายแรง ส่วน กก.ประกวดราคา-กก.เทคนิคฯ บกพร่องในหน้าที่
จากกรณีสื่อมวลชนบางสำนักได้นำเสนอข่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนกรณีกล่าวหานักการเมืองชื่อดังรายหนึ่ง พร้อมพวกที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง และข้าราชการในกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้งานเกี่ยวกับบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ วงเงิน 3,490 ล้านบาท ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย เฉพาะข้าราชการที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวแล้ว โดยนักการเมืองระดับชาติชื่อดังและอดีตข้าราชการระดับสูงที่ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ มิได้ถูกชี้มูลความผิดแต่อย่างใด นอกจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาบางรายมีการประสานไปยังผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาผลสรุปการไต่สวนคดีดังกล่าวไว้ก่อน ทำให้ผลสรุปคดีนี้ต้องถูกเลื่อนออกไปจนกระทั่งต้นปี 2563 จึงมีการชี้มูลความผิดกรณีดังกล่าวนั้น (อ่านประกอบ : ‘นักการเมืองใหญ่’รอด! ป.ป.ช.ฟันแค่ ขรก.ผิดวินัย คดีเช่าคอมฯฉาว มท. 3.4 พันล.)
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีการดำเนินโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประจำปี พ.ศ. 2553 – 2559 วงเงิน 3,490 ล้านบาทเศษ โดยมิชอบ มีนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ
นายวรวิทย์ กล่าวว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานฟังได้ว่า เดิมกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำระบบให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรประชาชน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ก่อนสิ้นสุดสัญญา นายชวรัตน์ ขอความเห็นชอบในหลักการโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วงเงินงบประมาณ 3,490,845,673 บาท และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552
ต่อมา กรมการปกครองได้ดำเนินการจัดหาโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) คณะกรรมการประกวดราคา คณะทำงานทดสอบทางเทคนิค และได้มีการจัดประชุมรับฟังคำชี้แจงและตอบข้อซักถาม ตามโครงการฯ โดยในการเสนอราคามีบริษัทผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและยื่นเอกสารครบถ้วนจำนวน 2 บริษัท และเมื่อมีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว จะต้องทำการทดสอบ (BENCHMARK) ตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนดไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าระบบเครื่องที่ผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอมานั้นสามารถสนับสนุนระบบงานการให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนได้ตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) โดยในการทดสอบต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ COS จำลองซึ่งเป็นฐานข้อมูลจำลองเพื่อใช้ในการทดสอบ
ปรากฏว่าคณะทำงานทดสอบทางด้านเทคนิค ทำการทดสอบทางด้านเทคนิคโดยไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ COS จำลองที่จะใช้ในการทดสอบ จึงเป็นการทดสอบไม่เป็นไปตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนด คณะกรรมการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) จึงได้มีบันทึกโต้แย้งว่าการทดสอบด้านเทคนิคไม่เป็นไปตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนดไว้
นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้อำนวยการกองคลัง กรมการปกครอง (ขณะนั้น) ได้นำบันทึกข้อความขออนุมัติเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ ตามโครงการ เสนอให้นายกองเอก วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง (ขณะนั้น) พิจารณาลงนามในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากอธิบดีกรมการปกครองไปราชการต่างประเทศ เสนอ รมว.มหาดไทย (นายชวรัตน์) พิจารณาอนุมัติ
แต่เมื่อสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับเรื่องดังกล่าวแล้วจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและได้ดำเนินการทดสอบ (BENCHMARK) อีกครั้ง ตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนดไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 กองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอให้ นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้น) ลงนามเห็นชอบผลการประกวดราคา และเสนอ รมว.มหาดไทย พิจารณาอนุมัติ โดยนายชวรัตน์ ได้ลงนามเห็นชอบผลการประกวดราคา และอนุมัติโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรประชาชนแบบใหม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
1. กรณีกล่าวหา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และนายมานิต วัฒนเสน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ดำเนินการการตรวจสอบความถูกต้องก่อนการลงนามเห็นชอบผลการประกวดราคาและลงนามอนุมัติแล้ว พยานหลักฐานจึงยังฟังไม่ได้ว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหา
2. กรณีกล่าวหานายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคลัง กรมการปกครอง และนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการปกครอง เห็นว่า นายธีรวัฒน์ ได้เสนอบันทึกฯ ให้นายกองเอกวิลาศ พิจารณาเสนอ รมว.มหาดไทย นายกองเอกวิลาศฯ ได้ลงนามในบันทึกขออนุมัติเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบตามโครงการฯ เพื่อเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการปกครอง ทั้งที่การทดสอบทางเทคนิคไม่เป็นตามเงื่อนไขตามขอบเขตของงาน (TOR) การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
3. กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคา และคณะทำงานทางด้านเทคนิค เห็นว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานทางด้านเทคนิคซึ่งประกอบด้วย นายประวีณ แจ่มศักดิ์ นายทรงพล อารมณ์ชื่น นายสมเกียรติ อุดมเรณู นายธนาคม ฐานนันทน์ และนางสาวลัดดา พรพนมสิทธิกุล ได้ทดสอบทางด้านเทคนิคตามโครงการฯ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยเคร่งครัด แต่เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการประกวดราคา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นเรื่องของการบกพร่องในหน้าที่
สำหรับการที่ นายพิภพ ดำทองสุข นายกมลโลจฒน์ เชียงวงศ์ นายทรงชัย ลิ้มไกลท่า และนายปรีดา บุญประคอง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคา ได้มีมติให้คณะทำงานด้านเทคนิค ทดสอบทางด้านเทคนิค ตามโครงการไม่ตรงตามขอบเขตของงาน (TOR) ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่เป็นไปตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยเคร่งครัด จึงให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคา และคณะทำงานทางด้านเทคนิคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ต่อไป
อ่านประกอบ :
‘นักการเมืองใหญ่’รอด! ป.ป.ช.ฟันแค่ ขรก.ผิดวินัย คดีเช่าคอมฯฉาว มท. 3.4 พันล.
ป.ป.ช. จ่อชี้มูล 2 ตัวเต็งรมต.! ‘บิ๊ก’ สั่งชะลอเรื่องอ้างเตรียมยื่นขอความเป็นธรรม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/