พงศกร รอดชมภู : ช่องโหว่ระบบแต่งตั้งโยกย้ายแบบรวมศูนย์อำนาจ ต้นเหตุกรณี 'จ่าทหาร'
"...ปัญหาเหล่านี้ก็ย้อนไปถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายเอาคนที่ไว้ใจและเป็นเครือข่ายขึ้นมามีตำแหน่ง จนทำให้ผู้ก่อเหตุมองว่าไม่มีวี่แววว่าจะแก้ไขปัญหาได้ก็เลยต้องใช้กำลังขึ้นมา ซึ่งส่วนตัวยังมองว่า ถ้าหากเรื่องนี้แก้ไขกันที่ระบบเลย ก็คงน่าจะสามารถพูดคุยกันได้..."
กรณี จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี นายทหารสังกัดกองสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองทัพภาคที่ 2 ก่อเหตุสะเทือนขวัญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 30 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก นำมาซึ่งเสียงเรียกร้องจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย ถึงแนวทางการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมขึ้นมาได้อีก
ล่าสุดพล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรอนาคตใหม่ ในฐานะอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงมุมมองที่มาและแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า การทำธุรกิจของผู้บังคับบัญชาทหาร ที่ควบคู่ไปกับเรื่องการเอาเปรียบลูกน้อง ถือเป็นสิ่งที่แย่มาก และไม่ควรทำ
ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้ ต้องแก้ที่ระบบของกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะเพิ่มช่องทางการแก้ปัญหาให้มีการรายงานตรงต่อตนเอง เพื่อจะแก้ไขปัญหาไปแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่ายังมีอีกช่องทางที่แก้ปัญหาได้ คือ ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะต้องไม่มีการรวมศูนย์อำนาจจนเกินไป
“ถ้าระบบการแต่งตั้งโยกย้ายไม่มีการรวมศูนย์จนเกินไป ในกรณีนี้จะมีผู้บังคับการกองพลกับผู้การที่ทหารชั้นผู้น้อยจะสามารถไปพูดคุยด้วยได้ โดยนายทหารในระดับยศพลตรี และในระดับยศพันเอกพิเศษนั้นจะสามารถเคลียร์เรื่องนี้ให้เหล่าพลทหารได้ แต่ถ้าหากไม่มีที่ไปจริงๆ พลทหารก็สามารถไปที่ฝ่ายจเรกองทัพที่มีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์โดยตรง ตรวจสอบและรายงานผู้บัญชาการทหารบกเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปได้" พล.ท.พงศกรระบุ
พล.ท.พงศกร ยังกล่าวแสดงความเห็นด้วยว่า "ปัญหาเหล่านี้ก็ย้อนไปถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายเอาคนที่ไว้ใจและเป็นเครือข่ายขึ้นมามีตำแหน่ง จนทำให้ผู้ก่อเหตุมองว่าไม่มีวี่แววว่าจะแก้ไขปัญหาได้ก็เลยต้องใช้กำลังขึ้นมา ซึ่งส่วนตัวยังมองว่า ถ้าหากเรื่องนี้แก้ไขกันที่ระบบเลย ก็คงน่าจะสามารถพูดคุยกันได้"
"ถ้าหากระบบมันดี ทุกอย่างก็ดีตามไปด้วย ซึ่งรวมไปถึงประเด็นการรักษาความปลอดภัยคลังอาวุธ ที่ทางพรรคอนาคตใหม่ เสนอว่าควรทำให้มีความไฮเทค (ทันสมัย) ให้มากขึ้นกว่านี้"
สำหรับในประเด็นเรื่องการตรวจสุขภาพจิตของกำลังพลนั้น รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สะท้อนความเห็นว่า "เห็นด้วยว่าควรจะทำการตรวจสุขภาพจิตกันอย่างน้อยก็ทุก 3 ปี"
"ทุก 3 ปี ต้องตรวจกันครั้งหนึ่ง เหมือนกับนักบินที่ต้องมีการตรวจสุขภาพจิตกันทุกๆปี ซึ่งกรณีผู้ก่อเหตุในครั้งนี้นั้นดูเหมือนว่าเขาถูกกดดัน ได้รับความเครียดมาหลายปีแล้ว ถ้าหากมีการประเมินสภาพจิตที่เหมาะสม ส่วนตัวก็เชื่อว่าน่าจะสามารถป้องกันเหตุรุนแรงในอนาคตไม่ให้เกิดขึ้นมาอีกได้"
รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่รายนี้ ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ได้นำเหตุการณ์นี้ บรรจุเข้าไปเป็นเรื่องวาระเร่งด่วนพิเศษในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ และคาดว่าจะเป็นวาระเร่งด่วนแรกๆ ที่จะเข้าสู่สมัยการประชุมถัดไป
"แต่ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าในสถานการณ์ที่บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยโดยปกติ เหตุการณ์แบบที่ จ.นครราชสีมา นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้" รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แสดงความเห็นทิ้งท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/