เถ้ากระดูก (เกือบ) ไม่ได้กลับบ้าน: มาเลเซียกับเศษเสี้ยวความหวาดกลัวประวัติศาสตร์
"...ในเชิงสัญลักษณ์แล้วความทรงจำอันกระท่อนกระแท่นเกี่ยวกับบทบาทของ จีน เป็ง และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายามีความอ่อนไหวต่อความทรงจำทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์กลุ่มการเมืองเชื้อชาตินิยมในการสร้างชาติมาเลเซียอย่างสูง กล่าวคือในขณะที่พรรคอัมโนซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูและขึ้นเป็นรัฐบาลโดยการผ่องถ่ายอำนาจหลังอังกฤษถอนตัวจากมลายามักอ้างตนเป็นผู้ปลดปล่อยมาเลเซียจากอังกฤษ บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนในการจับอาวุธต่อสู้กับอาณานิคมให้ข้อมูลที่ขัดแย้งต่อคำอ้างของอัมโนโดยตรง และต่อคุณูปการในการสร้างชาติของฐานเสียงชาวมลายูของอัมโนในทางอ้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบราชการมาเลเซียที่อยู่ในการกำกับของรัฐบาลอัมโนมาเป็นเวลานานจึงยืนยันว่าพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและจีน เป็ง ไม่มีบทบาทอื่นใดนอกจากเป็นผู้บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ..."
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เถ้ากระดูกของจีน เป็ง (Chin Peng) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา (Communist Party of Malaya: CPM) ถูกเชิญข้ามชายแดนไทยสู่มาเลเซียอย่างเงียบเชียบโดยกลุ่มอดีต “สหาย” แห่งพรรคคอมมิวนิสต์วัยชรากลุ่มหนึ่ง ก่อนจะนำไปลอยอังคารอย่างเรียบง่ายที่ชายฝั่งทะเลเมืองลูมูทในรัฐเปรักบ้านเกิดของเขา และโปรยปรายในป่าของเทือกเขาตีติวังสา อันเป็นอดีตพื้นที่ป่าเขาฐานที่มั่นของ CPM ในอดีตโดยไม่มีการบรรจุอัฐิใด ๆ
นาย ไช้ กาน ฟุก อดีตสหายวัย 81 ปีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การได้กลับบ้านเป็นความหวังสุดท้ายของจีน เป็ง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในประเทศไทย “ให้เขาได้กลับสู่ทะเลและภูเขาของบ้านเกิด ให้เขาได้อยู่ตลอดกาลกับสหายที่สละชีพเพื่อประเทศชาติ เวลานี้พวกเราสามารถทำภารกิจได้ลุล่วง เรามีความสุขจริง ๆ”
จีน เป็ง เป็นชื่อจัดตั้งของ อ่อง บุน หัว เกิดที่เมืองสีติอาวันในรัฐเปรักเมื่อ พ.ศ. 2467 มีบทบาทและก้าวขึ้นนำกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมลายา (Malayan National Liberation Army) ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์มลายา มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียและสิงคโปร์เชื้อสายจีนจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลกลาง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2491 ไปจนถึงการเจรจาสันติภาพที่หาดใหญ่ในประเทศไทยใน พ.ศ. 2532 การจับอาวุธต่อสู้ของสมาชิกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ มลายากินเวลาผ่านช่วงความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์หลายช่วง นับตั้งแต่การต่อสู้กับการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง การต่อสู้ปลดปล่อยมลายาจากการยึดครองของอังกฤษ และการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลอัมโนหลังการประกาศเอกราชในบริบทความตึงเครียดของสงครามเย็นในภูมิภาค
ในช่วงต้น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมลายาใช้การสู้รบแบบสงครามกองโจรขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางโดยมีฐานที่มั่นทางอาวุธครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาตีติวังสาอันทอดยาวจากเหนือจรดใต้ประหนึ่งกระดูกสันหลังของประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาสามารถสะสมฐานผู้สนับสนุนในหมู่ชาวจีนและชาวมลายูบางกลุ่มได้โดยมีแนวคิดชาตินิยมต่อต้านอาณานิคมเป็นหลัก ส่งผลให้อังกฤษต้องประกาศภาวะฉุกเฉินถึงสองครั้ง มีการจัดกองกำลังสู้รบและใช้นโยบาย “ปฏิรูปที่ดิน” ที่เอื้อให้โยกย้ายประชาชนชาวจีนจำนวนมากจากถิ่นฐานเดิมไปตั้งรกรากทำการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลโดยมีกลไกป้องกันรอบหมู่บ้านที่เรียกว่า “หมู่บ้านใหม่” (New Village) โดยเชื่อว่าเป็นการตัดกำลังการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวจีน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเกษตรกรชาวจีนเหล่านี้กลับกลายเป็นกำลังสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลานั้น
สงครามกองโจรของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมลายาที่ได้รับฉายาจากอังกฤษว่า “the Rat” (พวกหนู) อันหมายถึงความสามารถในการหลบหลีกซ่อนตัวได้อย่างรวดเร็วดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วงแรกมีเป้าหมายทำลายฐานที่มั่นของกองทัพรัฐบาลกลางและสังหารข้าราชการและนักธุรกิจชาวอังกฤษที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของเหมืองดีบุกและสวนยางพาราในมลายา การโจมตีที่สร้างความเสียหายแก่อังกฤษมากที่สุดคือความสำเร็จในการการซุ่มยิงสังหาร เซอร์ เฮนรี เกอร์นี (Sir Henry Gurney) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำมลายา (British High Commissioner in Malaya) ที่เป็นผู้ปกครองสูงสุดในมลายาขณะนั้น ในพ.ศ. 2494
การลดระดับการต่อสู้ทางอาวุธเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียหันไปสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่ง จึงทำให้ระดับการหนุนช่วยจากจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาค่อย ๆ ลดถอยลงในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียก่อตั้งหน่วยพิเศษเรียกว่า “Special Forces” ที่ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานตำรวจที่ได้รับการฝึกอบรมด้านข่าวกรองจากอังกฤษและรับผิดชอบด้านความมั่นคงภายในที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาโดยตรง จีน เป็ง นำกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมลายาหันมาใช้เขตชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นฐานที่มั่นมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเบตง และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดยะลา พรรคคอมมิวนิสต์มลายาพบวิกฤติซ้ำซ้อนเมื่อมีความแตกแยกภายในจากการกล่าวหาซึ่งกันและกันในหมู่ว่าเป็นสายสืบของรัฐบาล ส่งผลให้มีการลงโทษด้วยการประหารชีวิต ข้อมูลการค้นคว้าบางส่วนระบุว่า อาจมีผู้ถูกลงโทษสังหารถึงราว 200 รายในเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย
ประเทศไทยมีคุณูปการอย่างสูงในประวัติศาสตร์มาเลเซีย ในการหาทางออกให้รัฐบาลมาเลเซียและพรรคคอมมิวนิสต์มลายาภายใต้การนำของ จีน เป็ง ที่กำลังอยู่ในภาวะชะงักงันให้ยุติลง ด้วยการเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพที่นำไปสู่การเซ็นสัญญาสันติภาพ “Hadyai Accord” ที่หาดใหญ่ใน พ.ศ. 2532 และยุติการสู้รบระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายอย่างถาวร
แต่แม้สงครามจะยุติแต่มาเลเซียยังคงเผชิญกับความไม่ลงรอยเกี่ยวกับความทรงจำทางประวัติศาสตร์ระหว่างนักการเมือง หน่วยงานความมั่นคง และประชาชน ซึ่งเห็นได้จากการปฏิเสธไม่ให้ จีน เป็ง เข้าประเทศทั้งในยุคของรัฐบาลอัมโนในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่และหลังจากเสียชีวิตไปแล้วแม้จะระบุไว้ในสัญญาสันติภาพว่าเขามีสิทธิ์เดินทางกลับเข้ามาเลเซีย ท่าทีต่อ จีน เป็ง แบบเดิมยังหลงเหลืออยู่ในระบบราชการของมาเลเซียโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง เมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์ต่อกรณีการนำอังคารของเขากลับเข้าประเทศว่า “ไม่ได้รับอนุญาต” และเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มดำเนินการสอบสวนกลุ่มผู้เชิญอัฐิของเขาเข้าประเทศซึ่งจัดการแถลงข่าวเรื่องนี้ในเดือนพฤศจิกายน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยเจตนาก่อความไม่สงบ สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชนชน และกฎหมายว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร แม้ว่านายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมอัมหมัด และนาย อับดุล ราฮิม นอร์ อดีตผู้แทนมาเลเซียในการเจรจาสันติภาพหาดใหญ่จะกล่าวว่าการนำอัฐิจีน เป็งเข้าประเทศไม่สมควรเป็นปัญหาต่อไป
ในเชิงสัญลักษณ์แล้วความทรงจำอันกระท่อนกระแท่นเกี่ยวกับบทบาทของ จีน เป็ง และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายามีความอ่อนไหวต่อความทรงจำทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์กลุ่มการเมืองเชื้อชาตินิยมในการสร้างชาติมาเลเซียอย่างสูง กล่าวคือในขณะที่พรรคอัมโนซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูและขึ้นเป็นรัฐบาลโดยการผ่องถ่ายอำนาจหลังอังกฤษถอนตัวจากมลายามักอ้างตนเป็นผู้ปลดปล่อยมาเลเซียจากอังกฤษ บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนในการจับอาวุธต่อสู้กับอาณานิคมให้ข้อมูลที่ขัดแย้งต่อคำอ้างของอัมโนโดยตรง และต่อคุณูปการในการสร้างชาติของฐานเสียงชาวมลายูของอัมโนในทางอ้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบราชการมาเลเซียที่อยู่ในการกำกับของรัฐบาลอัมโนมาเป็นเวลานานจึงยืนยันว่าพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและจีน เป็ง ไม่มีบทบาทอื่นใดนอกจากเป็นผู้บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ
“พวกเราก็แก่ ๆ กันแล้ว ถ้า (ตำรวจ) จะจับเราก็จับเลย” เฉอ หยู่ อดีตสหายหญิงพรรคคอมมิวนิสต์มลายาวัย 74 ให้สัมภาษณ์นักข่าวพร้อมหัวเราะ ในขณะที่ โทนี่ หยี วัยกว่า 80 กล่าวว่าพวกตนเชื่อใจในรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียว่าจะไม่มีท่าทีในเรื่องนี้เหมือนกับรัฐบาลเก่า ถ้ายังเหมือนเดิมก็หมายความว่าประชาชนตัดสินใจผิดที่เลือกรัฐบาลนี้มา
คำพูดของสหายเก่ามีนัยยะสำคัญและเป็นโจทก์สำหรับรัฐบาลใหม่ว่า จะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวผ่านการเมืองเชื้อชาตินิยมและสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาติให้ได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องลบความทรงจำใด ๆ ออกจากประวัติศาสตร์ แทนที่จะเชื้อเชิญให้ความทรงจำเก่า ๆ เช่นจีน เป็ง ยังคอยหลอกหลอนอย่างไม่จบไม่สิ้นต่อไป
ที่มา : https://m.facebook.com/100007419547468/posts/2547850795472214/?d=n