กสทช.เตรียมร่างหลักเกณฑ์ปฏิบัติ 'สื่อ' ภาวะวิกฤติ-เรียก 3 ช่อง แจงเสนอข่าว 'กราดยิง' 18 ก.พ.
สำนักงาน กสทช. เชิญผู้ประกอบการสื่อ หาทางออกปมรายงานข่าวกราดยิงโคราช มติร่างหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติภาวะวิกฤติ คาดแล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เตรียมเชิญ 2-3 ช่อง ชี้แจง 18 ก.พ. หลังถูกร้อง ‘พีระพงษ์’ ไม่เปิดเผยช่องไหนบ้าง ยกเหตุผลการประจานไม่ใช่เรื่องดีของสื่อสารมวลชน
วันที่ 11 ก.พ. 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงาน กสทช. เชิญผู้ประกอบการและสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นในจ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ. 2563 ที่ปรากฎว่า สื่อมวลชนบางรายได้นำเสนอรายการข่าวด้วยรูปแบบการรายงานสด Live สด รายงานสถานการณ์ และข้อมูลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การรายงานข่าวแบบต่อเนื่อง การรายงานข่าวเหตุการณ์ซ้ำกันหลายครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัย และความตึงเครียดของสังคมและประชาชนโดยรอบ ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้นั้น
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการในคณะกรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้จัดทำร่างหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติในการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤติ เช่น การกราดยิง สังหารหมู่ ซึ่งอาจรวมถึงสถานการณ์วิกฤติด้านความมั่นคง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากสามารถจัดทำได้ทัน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนในอนาคต โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่าง ๆ อย่างกรมสุขภาพจิต ฝ่ายปฏิบัติด้านความมั่นคง ร่วมหารือ ก่อนจะเชิญสื่อมวลชนให้ความเห็นอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์
ส่วนการปฏิบัติในการนำเสนอรายงานข่าวของทีวีดิจิทัลในบางช่องนั้น ยังเป็นไปตามกระบวนการกำกับดูแลปกติของ กสทช. ซึ่งหากพบว่า นำเสนอข่าวที่อาจกระทบกระเทือนจนเข้าข่ายผิดตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กสทช.จะเชิญเข้ามาสอบสวนเป็นรายช่อง เพื่อให้ชี้แจงและตัดสิน ทั้งนี้ ในกรณีเหตุการณ์กราดยิงที่จ.นครราชสีมา จะเชิญรายช่องที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาให้ข้อมูลและชี้แจงในวันอังคาร ที่ 18 ก.พ. 2563 ณ สำนักงาน กสทช.
“เราจะไม่เปิดเผยว่าใครถูกเรียกมา เพราะถือว่าสอบมาแล้ว เป็นความผิดพลาดของระบบบ้าง ฉะนั้นการเปิดเผยตัวตนเป็นการประจานกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีของสื่อสารมวลชน เพราะฉะนั้นเรากับช่องที่ถูกเชิญมา จะมาคุยกันเอง และพูดกันในเนื้อหาข้างใน และตัดสินเอง ซึ่งต้องยอมรับ มิฉะนั้นให้ไปร้องศาลปกครอง ขณะที่ครั้งนี้ ขอไม่บอกว่าช่องอะไรบ้าง แต่มี 2-3 ช่อง เท่านั้น”
ประธานคณะอนุกรรมการฯ ยังกล่าวถึงกรณีหากพบในอนาคตช่องไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น จะมีการกำหนดบทลงโทษหรือไม่นั้น ไม่อยากให้ใช้คำเช่นนั้น เพราะบทลงโทษมีอยู่แล้ว และช่องต่าง ๆ รับทราบและปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ไม่ห่วงสื่อในกำกับดูแล เพราะเมื่อเรียกมาตักเตือน ช่องจะกลับไปแก้ไข
เมื่อถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่จะพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวเหมือนที่นักวิชาการบางท่านเสนอ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ กล่าวว่า มาตรการลงโทษจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก เพื่อไม่เป็นภาระของช่อง และตามกระบวนกฎหมายปกครอง เช่น ผิดครั้งแรกให้ตักเตือน ลำดับถัดไป ปรับด้วยเงิน ตามขั้นบันได พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งยังไม่ไปถึงโทษสูงสุด ยกเว้นบางช่องถูกทำโทษกรณีการเมือง เมื่อตักเตือนบ่อย ๆ แล้วไม่ฟัง จะมีการพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราว แต่ไม่เคยเพิกถอนใบอนุญาตช่องใดเลย เพราะไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก
ทั้งนี้ กรณีวิพากษ์วิจารณ์การ Live สด ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวเน้นย้ำให้ช่องหาหลักฐานหรือข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง มีแหล่งที่มา มานำเสนอรายงานเสมอ ไม่ใช่นำมาจากไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งอ้างอิงไม่ได้
“กสทช.ได้ทำงานร่วมกับสำนักข่าวมานานแล้ว และเป็นกระบวนการปกติมากที่ใช้กฎหมายของมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ และกฎหมายปกครอง ให้เข้าสู่กระบวนการ และได้รับความคุ้มครอง แต่หัวใจ คือ สื่อมวลชนเป็นฐานันดรที่ 4 มีเสรีภาพ อิสระ และรับผิดชอบต่อสังคม จึงอยากให้สังคมเข้าใจ และแยกแยะให้ดีระหว่างการเสนอข่าวของช่องที่ปรากฎอยู่ ซึ่งเป็นทีวีหลัก ถูก กสทช.คุมเยอะมาก ไม่เฉพาะเรื่องนี้ แต่เรืองการโฆษณาอาหารเสริม กสทช.เรียกมาบ่อย ๆ ส่วนผู้ไม่ได้อยู่ในกระบวนการเช่นนี้ รัฐต้องหามาตรการต่อไป แต่บรรดาสื่อที่นั่งอยู่วันนี้เป็นบุคคลทำงานร่วมกันมา อยู่ภายใต้การกำกับ ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับ กสทช. เลย จึงหวังว่าการร่างเกณฑ์จะทำให้แนวทางการปฏิบัติชัดขึ้น” พล.ท.ดร.พีระพงษ์ กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:'ฐากร' หวั่นสังคมมองผิดๆ เป็นฮีโร่ หนุนสื่อเสนอข่าวกราดยิง ไม่ลงรูปคนร้าย เน้นย้ำให้อับอาย-ขี้ขลาด
บทเรียนจากสหรัฐ: พฤติกรรมเลียนแบบก่อเหตุรุนแรงผ่านสื่อ?
เอนก เหล่าธรรมทัศน์:30ศพที่โคราช โศกนาฏกรรรมของชาติ
ซื้อถูกแต่ขายแพงให้ลูกน้อง! กลุ่มธรรมาภิบาลโคราช จี้กองทัพสอบปมนายหน้าบ้านจัดสรรทหาร