บทเรียนโคราช...ปฏิรูปชีวิตทหาร - ตรวจสอบโครงการสีเทา
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอมุมมองหลังเกิดเหตุกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าเทอมินัล 21 กลางเมืองโคราชเอาไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็น...
เริ่มต้น อาจารย์ชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่างของปัญหาความมั่นคง และเป็นบทเรียนใหญ่ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเรียกว่าก่อการร้ายไม่ได้ เพราะแรงจูงใจไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องส่วนตัว และถ้าดูจากเหตุที่เกิดขึ้น คือ "โลนวูล์ฟ" หรือ หมาป่าตัวเดียวออกปฏิบัติการ ไม่มีคอนเน็กชั่นหรือเครือข่าย แล้วออกก่อเหตุสร้างความเสียหายใหญ่หลวง
อาจารย์สุรชาติ อธิบายว่า ลักษณะการก่อเหตุคนเดียว การปราบปรามอาจดูเหมือนง่าย เพราะมีคนเดียว แต่เมื่อเอาเข้าจริงๆ มักจะก่อเหตุและสร้างความเสียหายใหญ่โต ก่อนเจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้นคิดกลับกันว่าสมมุติเป็นเหตุก่อการร้ายที่เห็นในโลกตะวันตก สะท้อนชัดว่าไทยไม่ได้มีมาตรการรองรับอะไร เปรียบเทียบลักษณะนี้ ไม่ต่างจากการก่อเหตุยิงบุคคลคราวละหลายๆ คนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐ
สำหรับประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกฝึกมาเพื่อจัดการกับอาชญากรในลักษณะลักวิ่งชิงปล้น หรืออาชญากรรมพื้นฐาน ขณะที่ทหารถูกฝึกอยู่กับการรบขนาดใหญ่ หรือสงครามตามแบบ ฉะนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้จึงไม่มีมาตรการรักษาความมั่นคงของเมือง หรือการรักษาความปลอดภัยเมือง ซึ่งไทยไม่ค่อยมีโจทย์ต้องเผชิญ ทั้งที่จริงๆ มีตั้งแต่กรณีอุยกูร์ (ระเบิดศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2558) แล้วมาโคราช (8-9 ก.พ.2563) ซึ่งโจทย์ปัญหาความมั่นคงอย่างนี้ จะทำอย่างไรที่ภาครัฐจะหันมาสนใจมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็โยงไปถึงการฝึก การเตรียมบุคคล รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ ไม่ใช่พูดลอยๆ เพราะเรื่องพวกนี้ การเตรียมเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าที่คิด ดังนั้นสิ่งที่น่าคิดคือ ทำอย่างไรจะออกมาตรการเหล่านี้ได้จริงจัง
ส่วนการปล้นปืนจากค่ายทหารนั้น ศ.ดร.สุรชาติ มองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2547 โดยบอกว่า เห็นบทเรียนใหญ่จาก 4 มกราคม 2547 ในภาคใต้ (ปล้นปืนจำนวนส 413 กระบอกจากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) ผ่านมาหลายปี การตามปืนกลับมายังได้จำนวนน้อยนิด และน่าสนใจว่าการปฏิบัติการปล้นปืนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน แม้มีการถกเถียงกันในเชิงข้อมูลก็ตาม แต่ในกรณีโคราชต้องยอมรับว่า เกิดเหตุจากบุคคลภายใน ก็อาจยากลำบากสักนิดหนึ่งในการป้องกันของเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาการณ์ เพราะการเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นเขตต้องห้าม มาจาก "คนใน" ด้วยกันเอง
สำหรับความรับผิดชอบของกองทัพในเรื่องนี้ อาจารย์สุรชาติ บอกว่า ไม่อยากให้รับผิดชอบแค่ 2 อย่างเหมือนที่ผ่านๆ มา คือ 1.ส่งคนไปงานศพในฐานะตัวแทนกองทัพบก และ 2.จ่ายเงินทดแทน
"เพราะครั้งนี้เป็นสถานการณ์รุนแรงมาก และเห็นความชัดเจนว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้น ทำอย่างไรที่กองทัพบก รวมถึง รมว.กลาโหม ต้องแสดงความรับผิดชอบบางอย่าง ต้องคิดเหมือนต่างประเทศ แต่ไม่ได้บอกให้เลียนแบบฝรั่ง ความรับผิดชอบต้องมากกว่ามีผู้แทนไปวางพวงหรีดในงานศพ นั่งฟังสวด หรือเอาซองสตางค์ไปให้ แต่ทำอย่างไรที่จะเห็นความรับผิดชอบมากกว่านั้น"
"วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องพูดถึงการปฏิรูปชีวิตทหารในกองทัพ ไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปกองทัพ แต่เป็นการปฏิรูปชีวิตทหาร เพราะเหตุการณ์ที๋โคราชสะท้อนชัด คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นนายทหารชั้นประทวน ดังนั้นวันนี้อาจต้องประกาศชัดๆ ว่า มาตรการของกระทรวงกลาโหม และมาตรการของกองทัพบกไทย รวมถึงเหล่าทัพต่างๆ ทั้งกองทัพเรือ กองทัพอากาศ ต้องยุติโครงการหากินกับลูกน้อง หรือพูดง่ายๆ ต้องยุติ 'โครงการหากิน' ที่ผู้บังคับบัญชาบางคนหากินกับนายทหารชั้นประทวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสิบและจ่า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องสังคายนา"
ศ.ดร.สุรชาติ ขยายความด้วยว่า แม้เหตุการณ์ที่เกิดจากแรงกดดันจนทำให้จ่าคนหนึ่งต้องตัดสินใจก่อเหตุร้ายแรง แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่งก็น่าพิจารณาว่า ทำอย่างไรที่เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การปฏิรูปชีวิตคนในกองทัพ แล้วยกเลิกธุรกิจที่ไม่ชอบมาพากลในกองทัพ คิดว่าวันนี้กองทัพบกและกระทรวงกลาโหมต้องกล้าดำเนินมาตรการชุดนี้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยและสุดท้ายเรื่องเงียบหายไปโดยไม่เกิดอะไรขึ้น ดังนั้นคิดว่าพอมาถึงจุดนี้น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วยกเลิกโครงการเหล่านี้ทั้งหมด
สำหรับการก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะซึ่งดูใกล้ตัวเข้าไปทุกทีนั้น นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง มองว่า ภาพสะท้อนวันนี้ คือ ความมั่นคงสาธารณะ หรือ public security ในภาษาทางวิชาการ ต้องทำอย่างไรจะรักษาความมั่นคงของชีวิตคนในสังคมภาวะปกติให้ปลอดภัยมากที่สุด วันนี้ถ้าอยู่ในสังคมอเมริกา จะมีข้อเรียกร้องตามมา คือ กฎหมายในการควบคุมอาวุธปืน แต่วันนี้แทบไม่เคยเห็นมีการเรียกร้องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเหมือนโลกตะวันตก ถ้าเชื่อว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการมีอาวุธปืน ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ที่โคราช ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นอาวุธสงคราม แต่ถ้าเป็นกรณีการก่อเหตุของพลเรือนทั่วไป เชื่อว่าอาวุธปืนก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มาถึงทุกวันนี้ก็ต้องฝึกประชาชนเหมือนกัน คือ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการให้ข้อมูลประชาชนว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องทำอย่างไร รวมถึงถ้าคิดในภาพใหญ่ หากเป็นก่อการร้าย ความรุนแรงจะมากกว่านี้มาก ดังนั้นต้องคิดเป็นบวกคู่ขนานไปกับสถานการณ์นี้ เป็นโอกาสเข้าไปตรวจสอบภายในกองทัพ ตรวจสอบโครงการไม่ชอบมาพากลของนายทหารบางคน บางกลุ่มในกองทัพ แล้วคิดริเริ่มมาตรการสร้างความมั่นคงสาธารณะบางอย่าง เพื่อช่วยพิทักษ์ชีวิตคน
ส่วนการเลือกใช้ห้างสรรพสินค้าในการก่อเหตุ ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า เป็นเพราะคนเยอะ และเป็นพื้นที่เปิด หรือภาษาก่อการร้ายเรียก soft target คือ การระมัดระวังป้องกันได้ยาก เป็นเป้าหมายอ่อน เห็นได้จากกรณีปล้นทองลพบุรี รปภ.ก็เสียชีวิต และภาพที่เห็นก็คือ รปภ.ไม่รู้จะทำอย่างไร วิ่งไปล็อคกุญแจ ซึ่งกรณีอย่างนี้ต้องคิดให้ใหญ่มากขึ้น มากกว่าปล่อยให้สรุปกันว่าเกิดจากทหารคนหนึ่งมีปัญหาสุขภาพจิต มีความกดดันจากเรื่องที่เกิดขึ้น ทำธุรกิจภายในกองทัพ แล้วก็ออกมาก่อเหตุ ต้องคิดให้ไกลมากกว่าแค่นั้นแล้ว
นอกจากนี้ ท่าทีของนายกฯตอนลงพื้นที่ ลักษณะความเหมาะสมกับผู้นำ หากเทียบกับผู้นำโลก ซึ่งหากไปวิจารณ์มากก็หาว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาล แต่เห็นชัดว่าในสถานการณ์นี้ การแสดงออกของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกิดการเสียชีวิต และอีกมิติหนึ่ง คือ การฝึกผู้นำในการแสดงออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยฝึกผู้นำไทยในการแสดงออกอย่างไร คงต้องตระหนักว่าไม่ใช่การไปยืนโบกมือเหมือนไปงานคอนเสิร์ต
ขณะเดียวกันจากภาพที่ปรากฏ สะท้อนว่านายกฯไทยไร้วุฒิภาวะ และไม่มีความละเอียดอ่อนต่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้น อาจจะเห็นสิ่งนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย จนมองข้ามอารมณ์และความรู้สึกของประชาชน ไม่เหมือนต่างประเทศ เช่น กรณีของผู้นำนิวซีแลนด์ที่ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุกราดยิง หรือแม้กระทั่งผู้นำออสเตรเลียไปพักผ่อนที่ฮาวายขณะที่มีไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ ก็ยังมีการเรียกร้องให้ลาออก จนต้องออกมาขอโทษประชาชน เป็นต้น
ดังนั้นการแสดงออกแบบนี้จึงไม่อาจให้อภัยได้เลย.
------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บางส่วนของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ได้สัมภาษณ์กับ "มติชนทีวี" และบางส่วนให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับศูนย์ข่าวอิศรา โดยอาจารย์อนุญาตให้นำบทสัมภาษณ์ทั้งสองส่วนมานำเสนอรวมกันได้