"โลนวูล์ฟ-ป่วนเมือง" ได้เวลายกเครื่องมาตรการรปภ.
สองประเด็นที่พูดถึงกันมากหลังเกิดเหตุการณ์ "จ่าทหาร" คลั่งกราดยิงประชาชนทั้งในและนอกศูนย์การค้ากลางเมืองโคราช คือ
หนึ่ง นี่คือปฏิบัติการของคนที่ถูกจัดประเภทว่าเป็น "โลนวูล์ฟ" หรือไม่ เพราะก่อเหตุเพียงคนเดียว ไม่มีผู้ช่วย วางแผนและปฏิบัติการเองทั้งหมด
สอง มาตรการรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองมีความจำเป็นต้องยกเครื่องทั้งระบบหรือไม่ เพราะปฏิบัติการของผู้ก่อการร้าย รวมไปถึง "โลนวูลฟ์" ในระยะหลังพุ่งเป้าไปที่ย่านชุมชนและย่านเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ ซึ่งมีประชาชนผู้บริสุทธิ์รวมตัวอยู่เป็นจำนวนมาก
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เคยกล่าวเอาไว้ว่า "สิ่งที่แตกต่างระหว่างกลุ่มก่อการร้ายหรือผู้มีความคิดสุดโต่งกับคนธรรมดา คือ กลุ่มคนเหล่านี้มีระเบิดอยู่ในมือ แต่คนธรรมดาที่เดินถนนไม่มี ทำให้เราไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าใครคือผู้ก่อการร้าย"
อาจารย์สุรชาติ ยังเคยให้คำจำกัดความคำว่า "โลนวูล์ฟ" (Lone Wolf) เอาไว้ว่า หากแปลคำนี้ตรงๆ จะแปลว่า "หมาป่าโดดเดี่ยวที่ออกล่าเหยื่อ" โดยลักษณะร่วมของคนที่เป็นโลนวูล์ฟ คือ มักจะอยู่คนเดียว แปลกแยกจากสังคม และซึมซับอุดมการณ์ก่อการร้ายหรือใช้ความรุนแรง บางคนจึงปฏิบัติการคนเดียว มีเหตุการณ์ตัวอย่างคือการยึดร้านช็อคโกแลตกลางเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปลายปี 2557 โดยคนพวกนี้จะไม่มีประวัติอาชญากรรม จึงเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่หนักใจในการป้องกัน เพราะไม่มีจุดสังเกตอะไรที่ชัดเจน นอกเหนือจากความต่อเนื่องทางความคิดที่จะก่อเหตุซ้ำๆ
สิ่งที่น่ากังวลในความเห็นของ อาจารย์สุรชาติ คือ พื้นที่ก่อเหตุ หรือสมรภูมิของกลุ่มก่อการร้าย หรือพวกที่มีแนวคิดนิยมความรุนแรง ได้เปลี่ยนจากพื้นที่ป่าเขาห่างไกล มาเป็นการก่อวินาศกรรมขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ฉะนั้นมาตรการป้องกันรักษาเมือง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือการก่อการร้ายสมัยใหม่
บทเรียนเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งยุโรปและอเมริกา เช่น ที่ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน สหรัฐ รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทยของเราเอง ก็เคยเกิดเหตุลักษณะนี้ อย่างเหตุระเบิดที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 และครั้งนี้ (กราดยิงกลางเมืองโคราช) ซึ่งถือเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยควรศึกษาถึงระบบการป้องกันเหตุรุนแรงในเมือง เพราะความเป็นเมืองสมัยใหม่มีความเปราะบางสูงมาก
คนในแวดวงความมั่นคงเห็นตรงกันว่า เมืองเป็นเป้าหมายที่ป้องกันได้อย่างยากลำบาก ทั้งคนร้ายยังสามารถทำร้ายประชาชนได้อย่างไม่จำแนก สามารถลงมือได้ทุกเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่ยังรวมไปถึงสถานที่ที่ประชาชนไปรวมตัวทำกิจกรรมเป็นจำนวนมากด้วย
ฉะนั้นประเทศไทยต้องการการคิด "ระบบป้องกันเมืองแบบใหม่" เหมือนที่หลายชาติในยุโรปจัดทำขึ้นหลังเหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบและจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว อย่างระบบกล้องซีซีทีวีที่มีความสำคัญกับโลกสมัยใหม่ รวมถึงระบบการอพยพประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุร้าย และควรให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าในชีวิตประจำวัน เราอาจจะต้องประสบกับเหตุก่อการร้ายหรือพวกสุดโต่งได้ทุกเวลา เช่นเดียวกับเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบการป้องกันหลายๆ อย่างที่ปัจจุบันยังไม่มี
นอกจากนั้น การให้ความรู้กับประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานที่ว่าวัตถุระเบิดมีรูปร่างหรือลักษณะอย่างไร เมื่อเจอวัตถุต้องสงสัยควรปฏิบัติตัวอย่างไร รวมถึงระบบการอพยพประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ การอพยพคนออกจากตึกสูงซึ่งมีความยากลำบาก
"วันนี้ประเทศไทยทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนจะต้องมีการร่วมในการป้องกันเมือง" เป็นคำฝากของอาจารย์สุรชาติที่เคยเตือนเอาไว้ เพราะวันนี้วิกฤติความรุนแรงในเมืองได้เกิดขึ้นแล้วในบ้านเรา