บทเรียนจากสหรัฐ: พฤติกรรมเลียนแบบก่อเหตุรุนแรงผ่านสื่อ?
"...องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เคยเผยแพร่เทคนิคการลดอัตราการเลียนแบบทั่วไปซึ่งได้ผลมาแล้วกับอัตราการฆ่าตัวตายคือ ลดระดับความเข้มข้นของพาดหัวข่าว การลดรายละเอียดที่นำเสนอในข่าวหรือการรายงานข่าวซ้ำไปซ้ำมา ยุติการนำเสนอขั้นตอนการก่อเหตุ และควบคุมจำนวนภาพหรือวิดีโอที่เผยแพร่ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีชื่อเสียง..."
เมื่อพูดถึงเหตุการณ์กราดยิงสิ่งแรกที่เข้ามาในความคิดของใครหลายคนก็คงจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ปรากฏข้อมูลจาก Gun Violence Archive (GVA) ว่าในปี 2562 ประเทศสหรัฐอเมริกามีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้น 417 ครั้ง ซึ่ง 31 ครั้งเป็นการสังหารหมู่ โดยตัวเลขดังกล่าวนับได้ว่าสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 2557
GVA รวมทั้งสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกาหรือ FBI นิยามการกราดยิงอย่างไม่เป็นทางการคือ เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงอย่างน้อย 4 คนยกเว้นผู้ก่อเหตุ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกขึ้นเพื่ออธิบายเหตุผลของตัวเลขที่สูงขึ้นคือเรื่องของพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) โดยพฤติกรรมทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นจากการเลียนแบบทั่วไปหรือ Generalized Imitaion หรือความสามารถในการแสดงพฤติกรรมที่เหมือนกับพฤติกรรมที่ถูกสังเกตหรืออธิบายไว้ ซึ่งเป็นทักษะที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กและค่อย ๆ พัฒนาทักษะจากประสบการณ์ชีวิตของผู้เลียนแบบ นอกจากนี้ ยังเปรียบเทียบพฤติกรรมกับโรคติดต่อ (contagion) ถึงแม้ว่าการกราดยิงจะไม่ใช่เชื้อโรคที่ติดต่อได้จากการสัมผัส แต่ผลลัพธ์คือการคาดการณ์ได้ว่าเมื่อมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ได้มีการวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมที่ถูกเลียนแบบนั้น โดยทั่วไปมักจะไม่ได้มาจากการสังเกตการณ์ในชีวิตจริงของผู้ก่อเหตุเอง แต่มักจะเป็นข้อมูลที่ได้รับผ่านรายงานข่าวของสื่อไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวหรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
วิธีการรายงานข่าวของสื่อยังอาจเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเลียนแบบเนื่องจากปริมาณการนำเสนอข่าวของสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งภาพ ข้อมูลส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ รวมถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เกิดการเลียนแบบ
เหตุการณ์แต่ละครั้งยิ่งเกิดความอื้อฉาวมากเท่าไหร่ก็อาจยิ่งแปลความได้ถึงความสำคัญของผู้ก่อเหตุมากขึ้นเท่านั้น การเผยแพร่ภาพผู้ก่อเหตุถือปืนแสดงให้เห็นถึงความแกร่งและอันตราย จำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการรายงานยิ่งแสดงถึงความสำเร็จของการก่อเหตุ การรายงานลำดับเหตุการณ์สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบรวมกันเป็นแรงผลักดันให้เกิดบุคคลอื่นทำการเลียนแบบพฤติกรรม
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เคยเผยแพร่เทคนิคการลดอัตราการเลียนแบบทั่วไปซึ่งได้ผลมาแล้วกับอัตราการฆ่าตัวตายคือ ลดระดับความเข้มข้นของพาดหัวข่าว การลดรายละเอียดที่นำเสนอในข่าวหรือการรายงานข่าวซ้ำไปซ้ำมา ยุติการนำเสนอขั้นตอนการก่อเหตุ และควบคุมจำนวนภาพหรือวิดีโอที่เผยแพร่ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีชื่อเสียง นอกจากนี้ในกรณีของผู้ก่อเหตุกราดยิงนั้น FBI ยังได้มีการเพิ่มนโยบายไม่เผยแพร่ชื่อ หรือ "Don’t Name Them" เพื่อลดการให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ และรวมไปถึงการปฏิเสธการเผยแพร่ข้อความหรือวิดีโอใด ๆ ของผู้ก่อเหตุ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มีข้อเสนอแนะให้รายงานพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุในแง่ลบ เผยแพร่การกระทำของผู้ก่อเหตุในลักษณะที่เป็นเรื่องน่าอายหรือขี้ขลาด รวมทั้งให้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษอีกด้วย ซึ่งโดยความน่าอายทั้งหลายนั้นมักจะส่งผลแง่ลบต่อความพยายามเลียนแบบพฤติกรรมด้วย
การลดการให้ข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับสาเหตุของการก่อเหตุก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง เพื่อลดความเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้ก่อเหตุและผู้สังเกตการณ์ลง
การรายงานข่าวของสื่อเองจะต้องลดจำนวนลงทั้งในการนำเสนอข่าวสดหรือการติดตามข้อมูลต่อเนื่องซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลาหลายสัปดาห์ รวมไปถึงการนำเสนอข่าวแต่เพียงข้อเท็จจริงโดยไม่เพิ่มสีสัน รายละเอียดเชิงลึก "ดราม่า" หรือสิ่งกระตุ้นความน่าสนใจอื่น ๆ ลงในเหตุการณ์ที่นำเสนอ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการลดความ "กระหายข้อมูล" ของบุคคลทั่วไปรวมไปถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกคนด้วย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 ยังได้มีกลุ่มนักวิจัยทำการพิสูจน์ในเชิงคณิตศาสตร์ถึงสภาวะติดต่อของการสังหารหมู่และการกราดยิงในโรงเรียนอีกด้วย โดยผลวิจัยได้ข้อสรุปว่า การกราดยิงครั้งหนึ่งส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ที่เกิดเหตุการณ์ครั้งต่อไปภายในระยะเวลา 13 วันและการกราดยิงในโรงเรียนหนึ่งครั้งอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ครั้งต่อไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.22 เหตุการณ์ ซึ่งการรายงานข่าวอย่างหนักของสื่อมีผลต่อตัวเลขด้วย (ที่มา: https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0117259)
ในท้ายที่สุด ถึงแม้สื่อจะไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวในเหตุการณ์กราดยิงและมีอีกหลายแนวทางที่ต้องนำมาปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน แต่ก็ได้มีการค้นพบว่าสื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของข้อมูลอันนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรายงานข่าวของสื่อและการวางหลักเกณฑ์วิธีการนำเสนอข่าว การสร้างความตระหนักรู้ให้กับโลกออนไลน์ รวมถึงกระแสสังคมที่ช่วยกันสร้างความเข้าใจร่วมกันย่อมเป็นส่วนสำคัญที่จะป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เรียบเรียงจาก
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5296697/
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0117259
https://www.latimes.com/california/story/2019-08-11/mass-shooters-seek-notoriety-in-media