ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยอมตัดสิทธิ์ 'คู่สมรส' เบิกค่าเดินทางตปท.4.5 พัน- คตง. ยังไม่เลิก
ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศผู้ตรวจการแผ่นดิน ยอมยกเลิกข้อกำหนดให้ 'คู่สมรส' เบิกค่าใช้จ่ายไปดูงานต่างประเทศ ได้วันละ 4,500 /ค่าแต่งตัวครั้งละ 9 พัน ให้เหตุผลเพื่อความเหมาะสมยิ่งขึ้น - 'อิศรา' คุ้ยเพิ่มพบ คตง.-ผู้ว่าฯ สตง. เคยออกระเบียบด้วย ตั้งแต่ปี 60 ปัจจุบันยังไม่ยกเลิก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2563 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน (ฉบับที่2) พ.ศ.2563 ยกเลิกข้อกำหนดการเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางไปดูงานต่างประเทศของคู่สมรส วันละไม่เกิน 4,500 บาท และค่าเครื่องแต่งตัวเหมาจ่ายอีกครั้งละ 9,000 บาท
ภายหลังที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2563 ระบุไว้ในข้อ 8 ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับคู่สมรสได้เฉพาะกรณีที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่สมรส ให้เบิกได้ในอัตราเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่กำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ ให้ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง เหมาจ่ายวันละ 3,100 บาท หรือให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามหลักฐานการจ่ายเงินและไม่เกินวันละ 4,500 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าเครื่องแต่งตัว ให้เบิกในลักษณะเหมาจ่ายครั้งละ 9,000 บาท ต่อเมื่อการเดินทางครั้งใหม่มีระยะห่างจากการเดินทางครั้งสุดท้ายที่ได้รับค่าเครื่องแต่งตัวเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่เดินทางออกจากประเทศไทย และต้องมิใช่การเดินทางไปประเทศตามรายชื่อที่ทางการกำหนดไว้ว่าไม่สามารถเบิกค่าเครื่องแต่งตัวได้ (ดูประกาศ)
โดยประกาศระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน (ฉบับที่2) พ.ศ.2563 ฉบับใหม่ ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2563 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน จึงออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน(ฉบับที่2) พ.ศ.2563”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อ 8 แห่งระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2563
ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563
พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจพบว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่มีการกำหนดระเบียบว่าด้วยประโยชน์ตอบแทนอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2560 ระบุไว้ในข้อ 10 ว่า ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดินจะเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศสําหรับคู่สมรสได้เฉพาะกรณีได้รับ ความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ข้อ 11 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่สมรสตามข้อ 10 ให้เบิกได้เช่นเดียว และในอัตราเดียวกับ ผู้ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
แต่ปัจจุบันยังไม่มีการออกระเบียบยกเลิกเหมือน ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่อย่างใด
(ดูระเบียบ คตง. ที่นี่ https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/regulation/3%20ประโยชน์ตอบแทนอื่นฯ%202560.PDF)
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2563 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า องค์กรอิสระ ออกระเบียบเอง เอื้อประโยชน์ให้นำคู่สมรส กินบิน เที่ยวต่างประเทศ โดยภาษีประชาชน ได้ปรากฏระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดิน
ข้อ 8 ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับคู่สมรสได้เฉพาะกรณีที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากผู้ตรวจการแผ่นดิน
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่สมรส ให้เบิกได้ในอัตราเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน
ระเบียบข้อนี้ เป็นข้อที่ได้รับวิพากษ์วิจารณ์และควรจะได้มีการพิจารณา ทบทวน ด้วยเหตุผล
(1) งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นงานที่มีฐานของงานอยู่ในประเทศ ต่างกับงานของเอกอัครราชทูตที่เป็นตัวแทนประเทศไปทำงานและพำนักในต่างประเทศ
(2) ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจมีงาน (ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้) ในการไปศึกษา ดูงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับต่างประเทศบ้าง แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำคู่สมรสไปปรากฏตัวหรือแสดงตัวเพื่อผลของการเยือนประเทศ เฉกเช่นประมุขหรือผู้นำสูงสุดของประเทศ
(3) คู่สมรส ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือสามี ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพราะหากต้องมีผู้ช่วยงานในหน้าที่ ก็ควรจะนำ เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานไปร่วมปฏิบัติงาน
(4) การเดินทางไปต่างประเทศ องค์กรอิสระเหล่านี้มักจะเดินทางโดยอ้างเทียบระดับตำแหน่งประธานกับนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจการแผ่นดินหรือกรรมการองค์กรอิสระเทียบกับรัฐมนตรีซึ่งจะเดินทางโดยเครื่องบินชั้น 1 ( First class ) และมีเบี้ยเลี้ยง ที่พัก และการเดินทางอื่นๆในระดับสูง
จึงเป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญ ว่าจะนำคู่สมรสติดตาม ไปด้วยโดยใช้เงินภาษีของประชาชนในอัตราสูง จะเหมาะสมและคุ้มค่าหรือไม่
(5) การเปิดช่องให้นำคู่สมรสติดตามไปด้วย โดยอ้างว่า “ เฉพาะกรณีที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ” จะถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจของเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกัน จะเหมาะสมถูกต้องหรือไม่กฎเกณฑ์ที่เปิดช่องและมีข้อยกเว้นเช่นนี้ ในการตรวจสอบไม่เคยได้ผลในทางปฏิบัติเพราะต่างมีความเกรงใจ ลูบหน้าปะจมูก ผลัดกันเกาหลัง
(6) ไม่พบระเบียบขององค์กรอิสระอื่นที่เปิดช่องให้นำคู่สมรสเดินทางไปทำงานด้วย โดยเบิกค่าใช้จ่ายได้อัตราเดียวกับกรรมการองค์กรอิสระผู้ไปปฏิบัติงาน
เว้นแต่พบระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ( คตง. ) ที่ระบุไว้ในข้อ 10 และ ข้อ 11 ว่า
“ข้อ 10 ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับคู่สมรสได้ เฉพาะกรณีได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน”
“ข้อ 11 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่สมรสตามข้อ 10 ให้เบิกได้เช่นเดียวและในอัตราเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ”
(7) หากพิจารณาระเบียบเดิมของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ก็ไม่เคยมีการระบุเปิดช่องให้นำคู่สมรสเดินทางไปต่างประเทศและได้รับค่าใช้จ่ายจากเงินภาษีของประชาชนเช่นนี้มาก่อน
จึงสันนิษฐานได้ว่าเมื่อเห็นว่าระเบียบของ คตง. ทำได้ก็ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบของผู้ตรวจการแผ่นดินเอง ให้ได้รับประโยชน์บ้าง สะท้อนความอยากมี อยากได้ อยากเอาของผู้กำหนดระเบียบเอง
ไม่ต่างอะไรกับการที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้จะลอกเลียนพฤติกรรม ดังที่ปรากฏในระเบียบการปฏิบัติงาน
เมื่อครั้งที่มีการขึ้นเงินเดือนตนเองขององค์กรอิสระฯ เมื่อกว่า 10 ปีมาแล้วก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
กล่าวคือ จากการสอบสวนของกรรมาธิการศึกษาสอบสวนเรื่องทุจริต วุฒิสภาที่ผมเป็นกรรมาธิการและเป็นผู้ค้นพบว่าในครั้งนั้นต้นเหตุเริ่มจาก ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อองค์กรอิสระฯอื่นเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำได้ก็ทำตามกันในภายหลัง
จนกระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) ต้องรับโทษจากคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นองค์กรแรก ส่วนกรรมการขององค์กรอิสระอื่นๆ เช่น กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญสมัยนั้นต่างหลุดรอดอาญาแผ่นดิน ด้วยปาฏิหาริย์ของกฎหมายและแก้ไขตกแต่งประกาศและระเบียบของตนเสียใหม่
ทั้งนี้ อยากจะดูว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นเช่น ป.ป.ช. จะนิ่งดูดายหรือไม่ (https://www.facebook.com/181318038626087/posts/2754950544596144?sfns=mo)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/