น้ำยาบ้วนปากช่วยแก้ปัญหากลิ่นปากได้ไหม?
"...ปัญหากลิ่นปากเป็นปัญหาใหญ่ ทางที่ดี เราควรทำในสิ่งที่ทำได้ นั่นคือ ดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้ดี แปรงฟันให้ถูกวิธี หมั่นไปหาคุณหมอฟันเพื่อตรวจเช็คสภาพฟันของเรา และหากมีปัญหาก็ควรไปรักษาอย่างทันท่วงที หากทำเช่นนี้ เราก็น่าจะป้องกันปัญหากลิ่นปากไปได้บ้าง..."
Cochrane Systematic Review ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่รวบรวมหลักฐานวิชาการทั่วโลกจำนวน 2,309 ชิ้น และประเมินคุณภาพของงานวิจัย เพื่อสรุปคำตอบว่ามีวิธีใดบ้างที่จะช่วยดับกลิ่นปากซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อย เคยมีการคาดประมาณว่า ปัญหากลิ่นปากนี้เกิดขึ้นในคนทั่วโลกถึงร้อยละ 23-50 เลยทีเดียว ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาในช่องปากราวร้อยละ 85
ผลการศึกษาของ Cochrane นี้เผยแพร่ไปเมื่อ 11 ธ.ค. 2562
ในที่นี้จะสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำยาบ้วนปากชนิดต่างๆ ว่าช่วยแก้ปัญหากลิ่นปากได้หรือไม่
มีการวิจัยที่ออกแบบเพื่อพิสูจน์สรรพคุณน้ำยาบ้วนปากชนิดต่างๆ โดยมีการสุ่มและเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากแบบหลอก (Randomized placebo controlled trials) อยู่ 10 ชิ้น และส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มากนัก และติดตามผลไม่นาน ระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทำให้มีความเสี่ยงต่ออคติที่อาจเกิดขึ้นได้ ระดับความมั่นใจในผลที่ได้จากการวิจัยเหล่านั้นจึงอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ผลที่แท้จริงในระยะยาวอาจต่างจากผลวิจัยได้
อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่มีการศึกษาวิจัยเลย น่าจะอ่านไว้ประดับความรู้และนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม
เอาล่ะ ผลเป็นอย่างไรบ้าง?
1. น้ำยาบ้วนปาก Halita ซึ่งเป็นส่วนผสมของ 0.05% chlorhexidine, 0.05% cetylpyridinium chloride (CPC) และ zinc: พบว่าสามารถลดปัญหากลิ่นปากได้เล็กน้อย
2. น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ Chlorhexidine และ zinc acetate: พบว่า ไม่แตกต่างจากน้ำยาบ้วนปากแบบหลอก
3. น้ำยาบ้วนปาก Cetylperidinium chloride: พบว่าสามารถลดปัญหากลิ่นปากได้เล็กน้อย
4. น้ำยาบ้วนปากชนิด Essential oil: พบว่า ไม่แตกต่างจากน้ำยาบ้วนปากแบบหลอก
5. น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ Chlorine dioxide และ zinc: พบว่าผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน
6. น้ำยาบ้วนปาก Chlorine dioxide: พบว่า ไม่แตกต่างจากน้ำยาบ้วนปากแบบหลอก
7. น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากเปลือกเมล็ดมังคุด (Herbal mouthwash): พบว่าสามารถลดปัญหากลิ่นปากได้เล็กน้อย
8. น้ำยาบ้วนปาก Benzethonium chloride: พบว่า ไม่แตกต่างจากน้ำยาบ้วนปากแบบหลอก
9. น้ำยาบ้วนปากที่ทำจากชาเขียว (Green tea mouthwash): พบว่า ไม่แตกต่างจากน้ำยาบ้วนปากแบบหลอก
10. น้ำยาบ้วนปากที่ทำจากตะไคร้ (Lemongrass mouthwash): พบว่าสามารถลดปัญหากลิ่นปากได้เล็กน้อย
อ่านงานวิจัยเหล่านี้แล้วสนุก ทำให้เราอยากที่จะติดตาม และหากมีโอกาสก็น่าลองวางแผนศึกษาด้วยตนเองด้วย
ปัญหากลิ่นปากเป็นปัญหาใหญ่ ทางที่ดี เราควรทำในสิ่งที่ทำได้ นั่นคือ ดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้ดี แปรงฟันให้ถูกวิธี หมั่นไปหาคุณหมอฟันเพื่อตรวจเช็คสภาพฟันของเรา และหากมีปัญหาก็ควรไปรักษาอย่างทันท่วงที หากทำเช่นนี้ เราก็น่าจะป้องกันปัญหากลิ่นปากไปได้บ้าง
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง
Nagraj SK et al. Interventions for managing halitosis. Cochrane Database of Systematic Reviews. 11 December 2019.