โรคอุบัติใหม่กับงานวิจัยทางมานุษยวิทยา
"ปรากฏการณ์ทางระบาดวิทยาถูกมองว่ามีการเปลี่ยนผ่านและสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค (Barrett, Kuzawa, McDade, & Armelagos, 1998) คือ ยุคแรกเป็นการเกิดขึ้นของโรคระบาด เช่น อหิวาต์ กาฬโรค ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคหินใหม่ที่มนุษย์มีการตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่ง ปัญหาสุขาภิบาลและความเป็นอยู่ที่แออัดทำให้เกิดโรคติดต่อแพร่ระบาดขึ้น ยุคที่ 2 เป็นการระบาดของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจและโรคมะเร็ง เกิดขึ้นพร้อมๆ กับยุคอุตสาหกรรมที่แบบแผนการใช้ชีวิตและการบริโภคในสังคมสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไป และยุคที่ 3 เป็นยุคของโรคระบาดใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า โรคอุบัติใหม่ (เช่น ไข้หวัดนก โรคซารส์ ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ อีโบล่าและโคโรน่าไวรัสที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน) และโรคอุบัติซ้ำ (คือ โรคที่ครั้งหนึ่งเคยควบคุมได้แล้ว แต่กลับมาระบาดมากขึ้นอีก เช่น วัณโรค เป็นต้น) โรคระบาดในยุคที่ 3 นี้แพร่ระบาดได้รวดเร็วเพราะเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการข้ามพรมแดนของผู้คน สินค้า ข้อมูลข่าวสารและไลฟ์สไตล์ อย่างไม่เคยมีมาก่อน"
การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสและไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ได้สร้างความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง แพทย์ นักไวรัสวิทยา ผู้ปฏิบัติงานด้านการควบคุมโรค ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา และผู้กำหนดนโยบายสาธารณสุขมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับภาวะวิกฤตินี้ และต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างน่าชื่นชม แต่หากเรามองโรคระบาด และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องการความเข้าใจในมิติทางสังคมวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการเข้าใจเชื้อไวรัส สัตว์พาหะ และพยาธิสภาพที่เกิดจากการติดเชื้อ นักมานุษยวิทยา รวมทั้งนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สาขาอื่นๆ จะมีส่วนช่วยในการรับมือกับโรคระบาดเหล่านี้ รวมทั้งช่วยสร้างความรู้เท่าทันต่อผลที่ไม่อาจไม่คาดคิดได้อย่างไร
.
นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจเรื่องความเชื่อ ปรัมปราคติ เกี่ยวกับโรคท้องถิ่นและการแพทย์พื้นบ้านมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการศึกษาทางมานุษยวิทยา (Tylor, 1889; Evans-Pritchard, 1937) โดยนักมานุษยวิทยาในยุคแรกนั้นสนใจการแพทย์พื้นบ้านในฐานะความเชื่อ และมักเป็นการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบระหว่างไสยศาสตร์ ศาสนาและวิทยาศาสตร์ (Rivers, 1924; Evans-Pritchard, 1937) แต่บทบาทของนักมานุษยวิทยาในการควบคุมป้องกันโรคปรากฏเด่นชัดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ “โรคเขตร้อน” กลายเป็นปัญหาได้รับความสนใจ นักมานุษยวิทยาได้ทำการศึกษามิติทางสังคมวัฒนธรรมของโรคเขตร้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย โรคเรื้อน โรคพยาธิ และโรคเท้าช้าง เป็นต้น (Inhom & Brown, 1997) แต่ตัวอย่างความสำเร็จของการนำความรู้ และวิธีการศึกษาแบบมานุษยวิทยาในการช่วยควบคุมโรคที่โดดเด่นและถูกอ้างอิงเป็นต้นแบบ คือกรณีโรคปริศนาที่เกิดขึ้นในหมู่ชนพื้นเมืองชาวฟอร์ (Fore) ในปาปัว นิวกินี (Lindenbaum, 1979)
.
ในชุมชนชาวฟอร์ มีการสังเกตพบว่าผู้หญิงท้องถิ่นจำนวนมากล้มตายจากโรคประหลาดที่ไม่มีใครรู้สาเหตุ อาการป่วยจะเริ่มจากการสั่นและชักกระตุก การเคลื่อนไหวผิดปกติ และควบคุมอารมณ์ไม่ได้ โรคนี้เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป ราว ค.ศ. 1950 เริ่มมีรายงานถึงปัญหาการระบาดของโรคดังกล่าว แม้ว่าแพทย์และนักการสาธารณสุขจะรู้ว่าผู้เสียชีวิตมีความผิดปกติที่ระบบประสาท และสงสัยว่าอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน จนเมื่อนักมานุษยวิทยาชื่อ Shirley Lindenbaum ได้เข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของชาวฟอร์อย่างละเอียดถี่ถ้วนตามระเบียบวิธีของนักมานุษยวิทยา เธอได้ตระเวนทำ “ผังเครือญาติ” ของแทบทุกชุมชนที่มีโรค เมื่อศึกษาการเกิดโรคเชื่อมโยงกับผังเครือญาติก็ได้ข้อสรุปว่า โรคประหลาดนี้ไม่ได้สัมพันธ์กับความเป็นเครือญาติ และไม่ได้ส่งทอดกันทางพันธุกรรม และเมื่อเธอสังเกตอย่างละเอียดลงไปอีกก็พบว่า ชุมชนชาวฟอร์มีประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีฝังศพ ที่ผู้หญิงในชุมชนทำหน้าที่จัดการกับร่างกายของผู้ตาย ในพิธีดังกล่าวนี้เองที่ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับ “เชื้อโรค” ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “Slow virus” โดย “เชื้อโรค” ชนิดนี้จะอยู่ในร่างกายของผู้หญิงเหล่านี้อย่างยาวนาน และใช้เวลาหลายสิบปีจึงทำให้เกิดอาการของโรคขึ้น การค้นพบว่าพิธีกรรมการทำศพเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทำให้เกิดมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้ในที่สุดโรคดังกล่าวที่ชาวฟอร์เรียกว่า “Kuru” ก็ได้ถูกกำจัดไปจากชุมชนชาวฟอร์จนหมดสิ้น
.
ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมและแบบแผนการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ช่วยให้เราเข้าใจการเกิดโรคและลักษณะทางระบาดวิทยา เช่น การศึกษาวิธีการเลี้ยงลูกของคนพื้นเมืองในตุรกีและจีนที่แม่ผูกห่อทารกไว้ในฤดูหนาว ผ้าที่ห่อรัดตัวเด็กทำให้เด็กทารกหายใจได้ตื้น ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (Yurdakok, Yauz & Taylor, 1990) หรือการพบว่า ผู้หญิงในประเทศจีนมีอุบัติการณ์ติดเชื้อพยาธิปากขอมากกว่าผู้ชาย เป็นเพราะมีการใช้อุจจาระมาทำเป็นปุ๋ยราดรอบต้นหม่อนเพื่อเร่งการแตกใบของต้นหม่อนในฤดูฝน ราว 1-2 อาทิตย์ ต่อมา ผู้หญิงจะมาเก็บใบหม่อนและเดินย่ำไปในบริเวณที่เต็มไปด้วยตัวอ่อนของพยาธิ เช่นเดียวกับในสวนชา ที่ผู้หญิง ซึ่งทำหน้าที่เก็บใบชาก็มักจะได้รับเชื้อพยาธิปากขอมากกว่าผู้ชาย (Cort, W.W, Grant, & Stoll, 1926) แบบแผนวิถีชีวิตและพฤติกรรมทางสังคม ไม่จะเป็นพฤติกรรมการบริโภค แบบแผนการแต่งงาน ข้อห้ามและการปฏิบัติระหว่างการตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูลูก การแบ่งหน้าที่การงาน รวมทั้งความสัมพันธ์ทางสังคมและโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น ล้วนแต่เป็นความรู้ที่นักมานุษยวิทยาศึกษาและสามารถนำมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บและระบาดวิทยาในท้องถิ่น เพราะปัจจัยทางระบาดวิทยา คือ บุคคล สถานที่ และเวลา ล้วนแต่มีบริบททางวัฒนธรรมกำกับอยู่ทั้งสิ้น (Trostle, 2005; Helman, 2007)
.
นอกจากนั้น โรคระบาดที่เกิดขึ้นยังเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและนิเวศวิทยา (Alley, 2014) ในทางมานุษยวิทยาการแพทย์ปรากฏการณ์ทางระบาดวิทยาถูกมองว่ามีการเปลี่ยนผ่านและสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค (Barrett, Kuzawa, McDade, & Armelagos, 1998) คือ ยุคแรกเป็นการเกิดขึ้นของโรคระบาด เช่น อหิวาต์ กาฬโรค ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคหินใหม่ที่มนุษย์มีการตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่ง ปัญหาสุขาภิบาลและความเป็นอยู่ที่แออัดทำให้เกิดโรคติดต่อแพร่ระบาดขึ้น ยุคที่ 2 เป็นการระบาดของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจและโรคมะเร็ง เกิดขึ้นพร้อมๆ กับยุคอุตสาหกรรมที่แบบแผนการใช้ชีวิตและการบริโภคในสังคมสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไป และยุคที่ 3 เป็นยุคของโรคระบาดใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า โรคอุบัติใหม่ (เช่น ไข้หวัดนก โรคซารส์ ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ อีโบล่าและโคโรน่าไวรัสที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน) และโรคอุบัติซ้ำ (คือ โรคที่ครั้งหนึ่งเคยควบคุมได้แล้ว แต่กลับมาระบาดมากขึ้นอีก เช่น วัณโรค เป็นต้น) โรคระบาดในยุคที่ 3 นี้แพร่ระบาดได้รวดเร็วเพราะเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการข้ามพรมแดนของผู้คน สินค้า ข้อมูลข่าวสารและไลฟ์สไตล์ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
.
ในยุคของการเปลี่ยนผ่านทางระบาดวิทยาครั้งที่ 3 นี้ โรคที่อุบัติขึ้นใหม่ๆ ไม่เพียงแต่จะมีความซับซ้อนทางการแพทย์ แต่การไขปัญหา “โรคปริศนา” นี้ต้องการความรู้ความเข้าใจในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคด้วย และปัจจุบัน องค์กรต่างๆและแวดวงวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้หันมาให้ความสำคัญกับความรู้ความเข้าใจทางสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยามากขึ้น (Sommerfeld, 2002) ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีการแพร่ระบาดของโรคอีโบล่า ที่นักมานุษยวิทยาได้เข้าไปทำงานกับแพทย์ นักระบาดวิทยาและนักการสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด Malissa Leach นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาการจัดการพิธีฝังศพที่เป็นทางเลือกใหม่ที่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรม จนทำให้เกิดทางออกในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของอีโบล่า เธอได้สร้างพื้นที่เพื่อระดมความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาจากนักมานุษยวิทยาบนเว็บไซต์ชื่อ Ebola Response Anthropology Platform (http://www.ebola-anthropology.net/) ที่ประยุกต์การใช้ข้อมูลจากการศึกษาภาคสนามสำหรับการวินิจฉัยโรค จัดการศพ การดูแลผู้ป่วย การวิจัย การเตรียมพร้อมรับมือปัญหา และการสื่อสารเพื่อการควบคุมโรค
.
มานุษยวิทยาไม่เพียงแต่ช่วยให้ข้อเสนอเพื่อให้มาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการนำเสนอความรู้และความเข้าใจในมิติทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการวิพากษ์แผนงานโครงการที่ไม่เหมาะสม (Justice, 1989) ช่วยสะท้อนปฏิกิริยาที่สาธารณชนมีต่อมาตรการด้านการสาธารณสุข (Paul, 1995) รวมทั้งการทำงานที่ละเลยหรือปิดบังกลบเกลื่อนรากเหง้าของปัญหา (Ferguson, 1990) เช่น โครงสร้างของความรุนแรงที่ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำและการเสียเปรียบของกลุ่มคนไร้อำนาจ ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อของโรคระบาดและเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ การทำงานแบบสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์โดยไม่สนใจโครงสร้างของความรุนแรงไม่เพียงแก้ปัญหาได้ไม่ยั่งยืน แต่ยังผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำและสืบทอดความไม่เท่าเทียมทางสังคมต่อไปอีกด้วย (Farmer, 2004) พอล ฟาร์มเมอร์ (Paul Farmer) นักมานุษยวิทยาการแพทย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “โรคอุบัติใหม่” หรือ “โรคอุบัติซ้ำ” นั้นเป็นการนิยามจากมุมมองของโลกที่หนึ่ง ในความจริงของประเทศที่ยากจนแล้ว โรคเหล่านี้มันไม่ได้อุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำเลย มันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ท่ามกลางคนยากจนเสมอมา แต่มันถูกมองว่าอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำเพราะมันเริ่มระบาดจนเป็นภัยคุกคามต่อประเทศที่ร่ำรวยแล้วเท่านั้น (Farmer, 1996)
.
นักมานุษยวิทยายังตั้งคำถามกับ “เรื่องเล่า” ที่ใช้พรรณาบอกกล่าวเรื่องราวการเกิดโรคใหม่ๆ ตัวอย่างสำคัญคือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคซารส์ พริสซิลลา วาลด์ (Priscilla Wald) เรียกวิธีเล่าเรื่องนี้ว่า “Outbreak narrative” ซึ่งเป็นวิธีเล่าเรื่องที่มีแบบแผนและมีพล็อตแบบสำเร็จรูป(Wald, 2008) เริ่มจากการมี “โรคปริศนา” ที่เกิดขึ้นใน “พื้นที่ทางภูมิศาสตร์” (ในกรณีของซาร์ส คือ มณฑลกวางตุ้ง ส่วนโคโรนาไวรัส คือ เมืองอู่ฮั่น) โดยมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการที่ไม่เหมือนกับโรคที่เรารู้จัก ต่อมาการสืบสวนทางระบาดวิทยาทำให้รู้ว่าโรคเกิดจากพาหะอะไร แพร่ระบาดทางไหน มีการติดตามผู้ป่วยรายแรกๆ ที่แพร่ต่อไปยังรายต่อๆ ไปผ่านการเดินทางข้ามพรมแดน เมื่อข้อมูลทางระบาดวิทยาชัดเจนขึ้นก็มีการดำเนินมาตรการควบคุมโรค เช่น การกำหนดเขตกักกันโรค การติดตามเคสผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค และการวางระบบเฝ้าระวัง จนในที่สุดการสามารถควบคุมโรคระบาดใหม่นี้ได้ Pricilla ตั้งข้อสังเกตว่า การเล่าเรื่องโดยมีพล็อตเช่นนี้ แม้จะเปิดเผยให้เห็นว่าปฏิบัติการทางระบาดวิทยาดำเนินไปอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันมันก็ปกปิดอะไรอีกมากมาย ความจริงอีกหลายอย่างไม่ได้ถูกบอกเล่าผ่านเรื่องเล่าที่เรียกว่า Outbreak narrative นี้ เธอเสนอว่า แทนที่เราจะเล่าเรื่องแบบนี้เพียงแบบเดียว การหาวิธีเล่าเรื่องโรคระบาดแบบอื่นที่จะช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนด้อยโอกาสต้องเผชิญกับความเสี่ยง และเข้าไม่ถึงบริการอาจช่วยให้เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและมองเห็นรากเหง้าของปัญหาชัดเจนขึ้น
.
การระบาดอย่างรวดเร็วและความแตกตื่นต่อการระบาดของโคโรน่าไวรัส เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของโลกที่ต้องเผชิญกับโรคใหม่ๆ มากขึ้น ในขณะที่บริบททางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ เชื้อโรคปรับแปลงพันธุกรรมกลายเป็นเชื้อดื้อยา การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทำให้พาหะของโรคแพร่หลายมากขึ้น มนุษย์สัมผัสกับเชื้อโรคจากสัตว์ (Zoonosis) ผ่านการบริโภคและการปศุสัตว์ที่เข้มข้น (Brown & Nading, 2019) ในขณะที่โลกาภิวัฒน์ทำให้โลกไร้พรมแดน เชื้อโรค พาหะนำโรคและผู้ป่วยเดินทางไหลเวียนไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว (Nguyen, 2017) หากเรามองการระบาดของโรคนี้ว่าไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาทางชีวการแพทย์ที่จะแก้ได้ด้วยมาตรการทางการแพทย์ แต่เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่ต้องใช้ความเข้าใจจากวิชาการและศาสตร์หลายแขนง มานุษยวิทยาก็อาจเป็นวิชาการแขนงสำคัญแขนงหนึ่ง ที่จะช่วยให้มุมมองที่จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันไข้หวัดจากโคโรน่าไวรัส ที่เรากำลังเผชิญอยู่และโรคใหม่ๆ ที่เราจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต
......................................
บทความ เรื่อง มานุษยวิทยากับโรคระบาด: โคโรน่าไวรัส โรคอุบัติใหม่กับงานวิจัยทางมานุษยวิทยา เผยแพร่ทางเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)