สธ. ย้ำจำกัดการค้า-เดินทาง ไม่ช่วยลดเสี่ยง ‘โคโรน่า’ กระทบสิทธิมนุษยชน
สธ.เเจงละเอียดมาตรการคัดกรองผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าฯ ทั้งใน รพ.รัฐ-เอกชน เผยวิธีจำกัดเดินทาง ไม่ช่วยเเก้ปัญหาความเสี่ยง หวั่นกระทบสิทธิมนุษยชน วอน ปชช. หยุดเเชร์ข่าวปลอม ย้ำให้รับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
วันที่ 29 ม.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าวสถานการณ์ เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 ณ กระทรวงสาธารณสุข
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงมาตรการการดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ติดเชื้อดังกล่าวกว่า 150 ราย คัดกรองจากสนามบิน 29 ราย ส่วนจำนวนที่เหลือเป็นผู้ป่วยเดินเข้ามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดยกรณีคัดกรองที่ด่าน เจ้าหน้าที่จะเริ่มตรวจดูว่า มีไข้หรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีไข้และเดินทางมาจากประเทศจีน จะตรวจดูต่อว่า มีอาการระบบหายใจส่วนบนหรือส่วนล่างหรือไม่ เช่น ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือหายใจลำบา หากมีอาการดังกล่าวจะถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อคนไข้เดินทางมาถึงโรงพยาบาลจะถูกนำตัวไว้ที่ห้องแยกโรค แล้วแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากลำคอ เพื่อนำไปตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาฯ หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน จะคัดกรอง เก็บตัวอย่าง และตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ หากคนไข้ยืนยันให้ส่งตัวคนไข้ยืนยันมายังโรงพยาบาลของรัฐ แต่ส่วนใหญ่โอกาสเป็นคนไข้ยืนยันไม่สูงมากนัก แต่หากไม่ใช่การติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาฯ ให้โรงพยาบาลเอกชนดูแลรักษาตามปกติต่อไป
เมื่อมีการสอบถามถึงความพร้อมในการส่งเครื่องบินไปรับนักศึกษาในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการไปรับนักศึกษากลับมายังประเทศไทย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศจีนจะอนุญาตให้ไปรับตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันอย่างหนักแน่น พร้อมจะไปรับ โดยจัดทีมผสม ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและทีมแพทย์ ไปดูแลด้วย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อถึงข้อเรียกร้องให้มีการจำกัดการค้าและการเดินทางว่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) มักพูดเสมอว่า การจำกัดการค้าและการเดินทางนั้น เป็นวิธีป้องกันโรคที่ไม่แนะนำ และจนถึงปัจจุบันนี้ WHO ยังคงไม่แนะนำอยู่
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการจำกัดการค้าและการเดินทาง ว่าในอดีตมีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันมาแล้ว เช่น อีโบลา เมอร์ส หรือเหตุการณ์รุนแรงกว่านั้น แต่ไม่เคยมีการใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง เนื่องจากเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน และการใช้มาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบตามมาในมิติอื่น ๆ เวลาเราทำงาน คงไม่มองมิติสุขภาพอย่างเดียว ต้องมีมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงด้วย
ทั้งนี้ ย้ำว่า ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ยืนยันจะทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีปิดบังข้อมูลใด ๆ
“ถ้าประชาชนมีการตระหนักรู้และติดตามข่าวสาร ขอให้ อย่าแชร์ต่อ โดยที่ยังไม่มั่นใจในข้อมูล หรือขอให้แชร์ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะการแชร์ข้อมูลปลอม จะมีความผิด” ที่ปรึกษาระดับกระทรวงนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าว
ขณะที่นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงจำนวนห้องความดันลบในประเทศไทย (ห้องคนไข้แบบแยกเดี่ยวที่มีความดันในห้องเป็นลบ) ว่าปัจจุบันมีที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถี และในทุกจังหวัด แต่มีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เตรียมไว้แล้วตั้งแต่เกิดสถานการณ์อีโบลาและเมอร์ส
“ในส่วนที่สำคัญ ต้องกลับไปดูขั้นตอนการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และเข้าสู่กลไกการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกราย เพราะผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากนัก ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องความดันลบ ยกเว้น มีอาการรุนแรง เช่น ใช้ท่อช่วยหายใจ จามรุนแรง ประเด็นสำคัญ ต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลและความมั่นใจของระบบ และให้ประชาชนกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากาก ดูแลจุดสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ต้องดูแลให้ดี เพื่อลดการติดเชื้อ” รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :ระบาดมากกว่าโรคซาร์ SCMP ชี้ไวรัสโคโรน่า ยอดเสียชีวิตพุ่ง 132 คนแล้ว
สหประชาชาติ ชมจีนพยายามคุมการระบาดไวรัสโคโรน่า-ยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง 106 คนแล้ว ไทยเจอเพิ่มอีก 6
เปิดแผนที่แบบเรียลไทม์ แสดงการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า
จีนประกาศยอดเสียชีวิตไวรัสโคโรน่า เพิ่มเป็น 80 ราย-นายกฯหลี่ เค่อเฉียง ลงพื้นที่อู่ฮั่น
ไวรัสโคโรนา : ความท้าทายใหม่ของมนุษย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/