ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการ กระตุ้นลงทุนเอกชน 1.1 แสนล. ดันจีพีดีโต 0.25%
ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชน เปิดทางนำรายจ่ายลงทุนเครื่องจักรหักภาษีได้ 2.5 เท่า ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร 146 รายการ คาดสูญรายได้ 8.6 พันล้านบาท พร้อมอุดหนุนส่วนต่างดอกเบี้ย 350 ล้านบาท ให้ ธสน. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเร่งผู้ประกอบการฯปรับปรุงการผลิต คาดกระตุ้นจีดีพีโตเพิ่ม 0.25%
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 พร้อมอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไปพลางก่อน และปีต่อๆไป จำนวน 350.67 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
สำหรับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 250% หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งและลงทุนในเครื่องจักรเพื่อให้เช่าเครื่องจักรนั้นแบบลีสซิ่ง โดยให้หักรายจ่าย 100% แรก หรือ 1 เท่าแรก ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรกำหนด และให้ทยอยหักรายจ่ายส่วนเพิ่มเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี
สำหรับรายจ่ายที่จะนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จะต้องเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563 โดยคาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 6,600 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
2.มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยจะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 146 ประเภทย่อย โดยให้มีผลนับตั้งแต่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) มีผลบังคับใช้ ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563 ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้อากรขาเข้าประมาณ 2,000 ล้านบาท
3.มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการที่มีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการพัฒนาประเทศ สำหรับใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยมาตรการนี้จะสิ้นสุดเมื่อวงเงินสินเชื่อเต็ม แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2563
ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อดังกล่าว ผู้กู้จะเสียดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เพียง 2% ส่วนปีที่ 3-5 เสียดอกเบี้ย Prime Rate -2% (Prime Rate = 6%) และปีที่ 6-7 เสียดอกเบี้ย Prime Rate โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้แก่ ธสน. เป็นเงิน 350.67 ล้านบาท
นางนฤมล กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 110,000 ล้านบาท และสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.25% นอกจากนี้ การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตามมาตรการนี้ ในระยะสั้น จะส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศได้รับความคุ้มครองลดลง ต้องแข่งขันกับของที่นำเข้ามากขึ้น แต่เมื่อสิ้นสุดมาตรการแล้วจะได้รับความคุ้มครองเท่าเดิม และจะมีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
อ่านประกอบ : ‘ไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น’ สะเทือนท่องเที่ยวไทย มรสุมระลอกใหม่ถล่มเศรษฐกิจ
ร่างพ.ร.บ.งบปี’ 63 ส่อ ‘แท้ง’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยซบยาว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/