มาตรการใหม่ต้านคอร์รัปชันกับการครอบงำสื่อด้วยงบพีอาร์ของราชการ
"...4. ต้องสามารถควบคุมและลดการบริหารจัดการที่ผิดพลาด เช่น การกำหนดเนื้อหา รูปแบบ วิธีการสื่อสารและเลือกใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม การกำหนดวงเงินใช้จ่าย การเลือกเอกชนคู่สัญญาเพื่อบริหารจัดการ การตรวจสอบคุณภาพ ความล่าช้า การรับประกันคุณภาพ และการประเมินผลที่ได้รับจากการลงทุน เป็นต้น..."
การต่อต้านคอร์รัปชันก้าวหน้าไปอีกขั้น เมื่อมีการประกาศมาตรการแก้ไขปัญหา “คอร์รัปชันในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ” ที่มีงบประมาณราว 8 พันล้านบาทปี [1] และมักกลายเป็นถุงเงินอันหอมหวนที่รัฐมนตรี นักการเมืองและข้าราชการใหญ่จำนวนมากจ้องฉกฉวยหาประโยชน์ให้ตัวเอง พวกพ้องและพรรคการเมืองตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
นอกจากโกงง่ายและกินหลายต่อแล้ว [2] เงินเหล่านี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่าง เพื่อ "แทรกแซงและครอบงำสื่อ" ให้นำเสนอข่าวที่บิดเบือนต่อสังคมด้วย
ข้อเสนอเรื่องนี้ริเริ่มและผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยคุณบรรยง พงษ์พานิช ทีดีอาร์ไอ องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน – ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์และภาคประชาชน
กล่าวคือในปี 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ศึกษาและเห็นชอบ ปี 2559 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ศึกษาและจัดทำ “ร่าง พ.ร.บ. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ร่าง ประกาศสำนักนายกฯ” เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในขณะนั้น แต่เรื่องเงียบหายไป จนกระทั่งมีการประกาศ “มาตรการให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” (สตง.) และสื่อมวลชน ดังที่ปรากฏ
มีข้อสังเกตว่า ตามประกาศฯ นี้ [3] กำหนดไว้เพียงวิธีเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเท่านั้น ไม่มีการกล่าวถึงแนวทางการใช้งบประมาณที่เหมาะสมและไม่มีบทลงโทษ ดังนั้น สตง. และรัฐบาลควรประกาศแนวทางเพิ่มเติมให้ชัดว่า
1. การเปิดเผยข้อมูลต้องทำอย่างไม่มีข้อจำกัด
2. ต้องไม่มีการรั่วไหลและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง
3. งบประมาณที่ใช้ไปต้องเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับกิจการของรัฐและสาธารณชน เช่น ห้ามการโฆษณาที่เน้นตัวบุคคลมากกว่างานของหน่วยงานที่ต้องการให้ประชาชนรับรู้
4. ต้องสามารถควบคุมและลดการบริหารจัดการที่ผิดพลาด เช่น การกำหนดเนื้อหา รูปแบบ วิธีการสื่อสารและเลือกใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม การกำหนดวงเงินใช้จ่าย การเลือกเอกชนคู่สัญญาเพื่อบริหารจัดการ การตรวจสอบคุณภาพ ความล่าช้า การรับประกันคุณภาพ และการประเมินผลที่ได้รับจากการลงทุน เป็นต้น
5. ควรกำหนดสัดส่วนของงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ต่องบประมาณโครงการ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
อ่านประกอบ
[1] งบพีอาร์ราชการโกงง่าย ได้มากกว่าเงิน http://bit.ly/2NXK94S
[2] เม็ดเงินพีอาร์รัฐกว่า 8 พันล้าน 6 องค์กรจับมือดันร่าง กม.สกัดครอบงำสื่อ https://www.thairath.co.th/content/451422
[3] ประกาศ คตง. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/006/T_0025.PDF