'ฐากร' วิเคราะห์ประมูล 5G มั่นใจ 'AIS-TRUE-DTAC' มาครบ 'หากไม่มา...ลูกค้าย้ายค่าย'
"...ความเร็วของ 5G จะต้องอยู่ที่ 20 Gb/s ส่วนอัตราค่าบริการ 5G จะไม่สูงกว่า 4G หรือราคาไม่เกิน 26 สตางค์/1 เมกะไบต์ และเมื่อประชาชนใช้งานมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น อัตราค่าบริการจะถูกลง..."
ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ จะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน คลื่น 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้บริการ 5G โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม 5 ราย เข้ารับซองเอกสารการประมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แก่ เอไอเอส (AIS) , ทรู (TRUE) , ดีแทค (DTAC) , บริษัท ทีโอที (TOT) และกสท โทรคมนาคม (CAT)
‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ เลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงวิธีการประมูลและแนวโน้มการแข่งขันประมูลคลื่น 5G ดังนี้
@รูปแบบการเคาะประมูลคลื่น 5G เป็นอย่างไร
ฐากร : เดิมก่อนที่เราไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เราจะใช้วิธีการเปิดประมูล 4 คลื่นพร้อมกันครั้งเดียวเลย แต่เมื่อไปรับฟังมาแล้ว ผู้ประกอบการทั้งหมดบอกว่า จะสร้างความสับสนให้กับทั้งผู้ประกอบการและประชาชน และเมื่อประมูลพร้อมกัน 4 คลื่น ก็มีคำถามว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ เพราะประมูลพร้อมกันทีเดียว เอกชนจะเลือกคลื่นอะไรก็ได้ และจะทำให้มีการฮั๊วประมูลกันได้หรือไม่ เพราะทำให้มีการตกลงกันง่ายขึ้น
“เมื่อไปรับฟังมาแล้ว โอเปอเรเตอร์มองว่า ถ้าทำวิธีนี้ตัวเขาเองก็สับสน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และสร้างความโปร่งใสให้กับการประมูลมากที่สุด ผมจึงสนับสนุนกรรมการ กสทช. ที่เห็นว่าควรให้ประมูลทีละคลื่น และอย่าไปกลัวว่าการประมูลจะยืดเยื้อไป 2 วัน โดยเราจะเริ่มที่คลื่น 700 MHz ก่อน ถ้าจบเมื่อไหร่ ก็ตามด้วยคลื่น 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz จบตอนไหนก็จบตอนนั้น และเป็นวิธีการที่อธิบายต่อประชาชนได้ง่ายที่สุด”
ส่วนการประมูลแต่ละคลื่นยังคง ‘จำกัด’ เพดานใบอนุญาตไว้ตามเดิม คือ คลื่น 1,800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาตๆ ละ 5 MHz จำกัดไม่เกินรายละ 4 ใบอนุญาต คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 MHz (รวม 190 MHz) จำกัดไม่เกินรายละ 10 ใบอนุญาต และคลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาตๆ ละ 100 MHz จำกัดไม่เกินรายละ 12 ใบอนุญาต ส่วนคลื่น 700 MHz ที่มีทั้งหมด 3 ใบอนุญาตๆ ละ 5 MHz จะไม่จำกัดเพดาน
“คลื่นที่เราคาดการณ์ว่าจะมีคนเข้าประมูล คือ คลื่น 700 MHz และคลื่น 2600 MHz เพราะตอนนี้คลื่น 700 MHz ที่นำมาทำ 4G นั้น มีการใช้งานเต็มความจุแล้ว เขาน่าจะเอาคลื่นไปให้บริการ 4G ก่อน และรออีก 2 ปี ก็จะนำคลื่น 700 MHz ไปทำ 5G เพราะว่าตอนนี้เทคโนโลยียังไปไม่ถึง และคลื่น 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ทำ 5G ได้อยู่แล้ว ทุกคนจึงสนใจเข้าคลื่นนี้อยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้คลื่นที่ทำ 5G ได้เลย ก็จะมีคลื่น 2600 MHz และคลื่น 3400-3700 MHz
ส่วนคลื่น 1800 MHz และคลื่น 26 GHz ต้องรอการยืนยันอีกครั้ง โดยในวันที่ 4 ก.พ.จะมีการยื่นเอกสารว่า ใครจะเข้าคลื่นไหนบ้าง อย่างคลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นที่เรายึดราคาเริ่มต้นจากราคาประมูลครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเอกชนมองว่าราคาสูงเกินไป แต่ถ้าไม่มีผู้เข้าประมูล ก็ค่อยพิจารณาราคากันใหม่ ส่วนคลื่น 26 GHz ที่จะนำมาใช้งาน 5G นั้น ยังไม่มีตัวอย่างชัดเจนมาก จะเอาหรือไม่เอา เอกชนต้องตัดสินใจอีกทีหนึ่ง แม้ว่าราคาจะถูก”
@มองการแข่งขันประมูลจะเป็นอย่างไร หลัง TOT และ CAT เข้าร่วมประมูลด้วย
ฐากร : ผมมองว่า TOT ไม่น่าจะแข่งขันกับเจ้าอื่นๆได้มากนัก เพราะเงินไม่ค่อยมี แต่ CAT อาจจะเข้า เพราะมีเงินสะสมไว้มากพอสมควร เนื่องจากได้เงินค่าปรับต่างๆ ที่ TRUE จ่ายให้เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น CAT น่าจะเข้าประมูลคลื่น 2600 MHz ก็ได้ และอย่างน้อย CAT น่าจะอยากได้คลื่น 700 MHz เพราะสามารถนำไปทำ 4G ได้ และทำให้ CAT ประกอบกิจการของตัวเองต่อเนื่องไปได้อีก
“คลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นที่ทุกคนอยากได้ ซึ่งมีอยู่ 190 MHz และถ้าจะนำมาทำ 5G ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ จะต้องได้ความจุไปประมาณ 100 MHz แต่ถ้าไม่ได้ 100 MHz ได้ 80 MHz ก็ยังดี”
ผมอยากเรียนว่า DTAC ที่ได้ปลดซีอีโอ ซึ่งรับปากว่าจะประมูลคลื่นว่า เราไปสำรวจพฤติกรรมของประชาชนแล้วพบว่า โอเปอเรเตอร์ที่ไม่มีการให้บริการ 5G ผลสำรวจบอกว่า ประชาชนย้ายค่ายแน่ จึงอยากฝากเตือนไปก่อนว่า ถ้าใครไม่เข้าประมูล 5G ครั้งนี้ ประชาชนจะย้ายไปยังค่ายที่เปิดให้บริการ 5G อย่างแน่นอน ทำให้โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายอยากจะเข้าแข่งขัน และล่าสุดคุณซิคเว่ (เบรคเก้ กรุ๊ปซีอีโอ ‘เทเลนอร์’) ก็ยืนยันแล้วว่า จะเข้าประมูล 5G
และถ้าโอเปอเรเตอร์บอกว่าจะไปรอคลื่น 3400 MHz หลังจากสัญญาสัมปทานไทยคมฯ สิ้นสุดในวันที่ 11 ก.ย.2564 และกสทช.จะนำคลื่น 3400-3700 MHz มาเปิดประมูลล่วงหน้าในช่วงปลายปี 2563 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ ก็จะเหมือนกับกรณี DTAC ที่ไม่เคาะราคาสู้ต่อในการประมูลคลื่น 900 MHz และคลื่น 1800 MHz รอบที่แล้ว และหวังว่ากสทช.จะมีการประมูลคลื่นใหม่ สุดท้ายประชาชนก็ย้ายค่าย และยอดผู้ใช้งานของ DTAC ลดลงไปเลย
“คลื่นความถี่ของตัวเอง (DTAC) ก็ไม่ค่อยมี เหมือนกับถนนมีอยู่แค่ 5 เลน แต่เจ้าอื่นเขามี 20 เลน ลูกค้าจึงไม่มั่นใจ คุณภาพสัญญาณก็สะดุดลงไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ลูกค้าที่เคยอยู่ที่ 30 ล้านเบอร์ในตอนนั้น เหลือประมาณ 20 ล้านเบอร์ในตอนนี้ เพราะย้ายไปอยู่ค่ายอื่น ดังนั้น การไปรอประมูลคลื่นในอนาคตข้างหน้า ถามว่าคุ้มหรือไม่ ถ้าลูกค้าย้ายออกไป ซึ่งการจะดึงลูกค้ากลับมาใหม่ เป็นเรื่องยาก ผมฝากโอเปอเรเตอร์ 3 ค่าย อยากให้เข้าประมูลจริงๆ หากไม่มาลูกค้าย้ายค่ายแน่”
ฐากร ตัณฑสิทธิ์
@การประมูลคลื่น 5G รอบนี้จะมีใบอนุญาตเหลือหรือไม่
ฐากร : เหลือแน่นอน คือ คลื่น 1800 MHz น่าจะเหลือ เพราะราคาแพง คลื่น 26 GHz น่าจะเหลือ ส่วนคลื่น 700 MHz น่าจะไม่เหลือ เพราะตอนนี้ AIS มีคลื่น 700 MHz อยู่แล้ว 15 MHz ถ้าเขาได้ไปอีก 5 MHz จะไปเติมเต็ม ซึ่งการใช้งานคลื่น หากมี 10 20 และ 30 MHz จะดีกว่าการใช้งานที่มี 5 15 และ 25 MHz จึงทำให้ AIS อยากจะได้คลื่น 700 MHz เพื่อให้สัญญาณแรงกว่าค่ายอื่น อีกทั้ง AIS มีลูกค้า 40 ล้านเบอร์ คลื่นที่มีอยู่จึงไม่น่าจะเพียงพอ
@หลังจากประมูลเสร็จแล้ว เอกชนต้องลงทุนและเปิดให้บริการ 5G เมื่อใด
ฐากร : เท่าที่รับทราบข้อมูลจากเอกชน ปี 2563 เอกชนจะมีลงทุนอุปกรณ์และระบบต่างๆประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และเงินลงทุนตรงนี้จะสร้างงานและก่อให้เกิดมัลติพลายเออร์ (ตัวคูณ) ในระบบเศรษฐกิจอีก 6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งก่อให้เกิดการต่อยอดการใช้งาน 5G ได้อีก 2,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มาก เพราะเพิ่งเปิดให้บริการใหม่ๆ หรือรวมแล้วในปี 2563 การลงทุนและใช้งาน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.72 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.02% ของจีดีพี
“เราและแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ร่วมกันคำนวณว่าเมื่อมีการลงทุน 5G แล้ว จะเพิ่มจีดีพีได้เท่าไหร่ ก็พบว่าในปี 2563 จะเพิ่มจีดีพีได้ 1% ซึ่งถือว่าสูงมาก ในขณะที่เราเมินการนำ 5G ไปต่อยอดไว้ต่ำมาก เพียง 2,000 ล้านบาท เพราะหากเทียบกับการเปิด 4G ครั้งที่แล้ว เดิมเราประเมินว่าจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท แต่ประชาชนใช้กันมากและมีการต่อยอดการใช้งานคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทในปีแรก”
ผมประเมินว่าคนไทยในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในย่านสยามสแควร์ จะได้ใช้บริการ 5G ได้ หลังจากเอกชนได้รับใบอนุญาตไปแล้วไม่เกิน 2-3 เดือน เนื่องจากทราบว่าโอเปอเรเตอร์ 2 ราย ได้เริ่มนำเข้าอุปกรณ์แล้ว และคนไทยในพื้นที่อื่นๆจะได้ใช้งาน 5G ได้ก่อนมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนก.ค.นี้ โดยอาจไม่ต้องรอถึงเดือนก.ย.-ต.ค.2563 เพราะโอเปอเรเตอร์ เขาต้องการแข่งขันกันดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ 5G ของค่ายเขา
@การกำกับดูแลอัตราค่าบริการ 5G
ฐากร : ความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ตของ 5G กสทช.จะกำหนดไว้ที่ 20 Gb/s (กิกะบิต/วินาที) หรือ 20 เท่าของ 4G แต่จากการทดลองพบว่าความเร็วสูงสุดวิ่งเร็วกว่า 4G ถึง 100 เท่าไปแล้ว ดังนั้น เมื่อการแชร์สัญญาณกันแล้วความเร็วของ 5G จะต้องอยู่ที่ 20 Gb/s ส่วนอัตราค่าบริการ 5G จะไม่สูงกว่า 4G หรือราคาไม่เกิน 26 สตางค์/1 เมกะไบต์ และเมื่อประชาชนใช้งานมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น อัตราค่าบริการจะถูกลง
“ยิ่งประชาชนมีการใช้งานข้อมูล (Data) เยอะ เขาก็เก็บเงินได้เยอะขึ้น และเมื่อมีการแข่งขัน อัตราค่าบริการ 5G จะลดลง แต่ตอนนี้เรายังไม่กำหนดว่าเมื่อถึงปีนั้นๆ ค่าบริการจะลดลงเป็นเท่านี้ เพียงแต่กำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 26 สตางค์/1 เมกะไบต์ เพราะถ้าไปกำหนดในทีโออาร์เลย เอกชนจะไม่ลงทุน เราจึงอยากให้เขาลงทุนไปก่อน แล้วค่อยเรียกเขามาหารือ เพื่อให้อัตราค่าบริการเป็นเรตเดียวกัน”
และหากโอเปอเรเตอร์ออกแพกเกจการให้บริการ 5G แบบ Unlimited และเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้น กสทช.จะเข้าไปกำกับดูแลว่า ต้องเป็น 5G แบบ Unlimited จริงๆ ไม่ใช่ว่าใช้งานข้อมูลไประดับหนึ่งแล้ว ความเร็วลดลง ไม่ใช่ 5G ซึ่งตรงนี้ กสทช.ได้สั่งห้ามไม่ให้โอเปอเรเตอร์ทำแล้ว เช่นกรณีการทำโปรโมชั่น 4G แบบ Unlimited หากไม่ใช่ Unlimited จริงๆ กสทช.ได้สั่งให้ถอดโปรโมชั่นในส่วนนี้ไป และจะนำมาใช้กับกรณี 5G แบบ Unlimited เช่นกัน
“ไม่ใช่แค่ 4G แต่จะรวมถึง 5G ด้วย หากโอเปอเรเตอร์ออกโปรโมชั่นแบบ Unlimited แต่เมื่อใช้ข้อมูลไประดับหนึ่ง ความเร็วลดลง ก็ถือว่าผิดในเงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ให้ร้องเรียนเข้ามาที่กสทช.ได้เลย เพื่อที่กสทช.จะได้ดำเนินการกับโอเปอเรเตอร์ต่อไป”
@แนวทางการเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาให้บริการ 5G
ฐากร : ตอนรับฟังความเห็น เราบอกว่าจะเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้าใช้คลื่น 2600 MHz และให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามา อย่าง WHA (บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม บริหารพื้นที่คลังสินค้า และโลจีสติกส์ครบวงจร) ตอนแรก เราก็คิดว่าเขาจะเข้าประมูลคลื่น 2600 MHz เพื่อนำไปใช้ในโรงงาน ซึ่งไม่ได้แพง แต่พอมารับฟังความคิดเห็น เขาบอกว่า ไม่มีใครเขาทำ เพราะเขาไม่มีความเชี่ยวชาญ
“เขาบอกว่าเขาทำทางด้านโลจีสติกส์อยู่แล้ว จะให้เขาไปลงทุนด้านโทรคมนาคมอีก เขาบอกไม่มีความเชี่ยวชาญและไม่รู้ว่าต้องลงทุนเท่าไหร่ เขาจึงเสนอให้พับเถอะ เพราะไม่มีใครมาลงทุนหรอก เขาเลยบอกว่าจะให้โอเปอเรเตอร์เข้าไปลงทุน และซื้อบริการจะถูกกว่า ใครเก่งด้านไหน ก็ทำด้านนั้นไป
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงใช้วิธีเชิญชวน service provider เจ้าอื่นๆ คือ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-มาเลเซีย ดำเนินธุรกิจเคเบิลใต้น้ำ เข้ามาประมูล แต่ตอนนี้ยังไม่เข้า ส่วน JAS (บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล) ซึ่งน่าจะเป็นผู้ประกอบการ 5G รายใหม่ที่พร้อมที่สุด เพราะให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว และมีลูกค้า 4-5 ล้านราย แต่ล่าสุดเขาตัดสินใจไม่เข้าประมูล เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงเป็นแสนล้าน”
ส่วนที่มีข้อเสนอให้ กสทช. ให้แต้มต่อกับเอกชนรายเล็ก เพื่อเข้ามาให้บริการ 5G ในระดับพื้นที่นั้น พวกนี้พอทำไปยักษ์ใหญ่เขาก็คุมทั้งหมดเหมือนเดิม และหากจะเปิดให้รายใหม่เข้ามาแข่งขัน จะต้องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคม เพราะหากยังเป็น 51 : 49 อย่างนี้ ต่างชาติถือเกินกว่า 49% ไม่ได้ ก็ยากที่จะรายใหม่เกิดขึ้น แต่ถ้าให้ถือเกิน 50% ต่างชาติอย่างญี่ปุ่นอาจเข้ามาสู้เลย ทุกอย่างเลยหยุดตรงนี้
ในอีกไม่กี่สัปดาห์จากนี้ คงต้องติดตามกันว่าจะมีค่ายมือถือ และรัฐวิสาหกิจอย่าง TOT และ CATยื่นข้อเสนอประมูล 5G กี่ราย จะมีการแข่งขันดุเดือดมากนักแค่ไหน และคนไทยจะได้ใช้บริการ 5G เมื่อไหร่ แต่นี่ก็เป็นขุมทรัพย์มูลค่าหลายแสนล้านที่บรรดาค่ายมือถือต่างก็ต้องการ
อ่านประกอบ : สุพจน์ เธียรวุฒิ : ‘5G ที่จะได้ใช้ในปีนี้ แม้จะเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ 5G ที่แท้จริง’
บอร์ดกสทช.เห็นชอบประมูล 5G ใน 4 คลื่นความถี่
สดจาก 'สตอกโฮล์ม'! 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' ว่าด้วยการประมูลคลื่น5G ไทยVSสวีเดน ใครเร็วกว่ากัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/