เศรษฐกิจไทยปี 2563 : ชวดอีกปีหรือดีอีกหน
"...แม้เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะมีทิศทางที่ดูดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังโตได้ต่ำกว่าระดับที่เรียกว่าศักยภาพ ต้นเหตุสำคัญที่สุดมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง อาทิ ความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ของภาคครัวเรือน รวมถึงผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และปัญหาหนี้ครัวเรือน..."
ทบทวนเศรษฐกิจไทยปี 2562 : ปีหมูที่ไม่หมู
ช่วงต้นปี 2562 นักวิเคราะห์หลายสำนักรวมทั้งแบงก์ชาติ ต่างคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 4 หรือหากพูดเป็นภาษาทางการคืออยู่ในช่วงระดับศักยภาพ แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่าในปี 2562 มีอะไรเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ต้นปีและได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่หลายคนประเมินไว้ โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ทำให้ภาคการส่งออกของไทยที่เดิมคาดว่าจะขยายตัวได้กลับกลายเป็นหดตัว จนทำให้ปีหมูที่เคยคิดว่าจะขยายตัวได้ดี กลับชวดตัวเลขที่เคยมองไว้อย่างน่าเสียดาย โดยเมื่อช่วงปลายปีแบงค์ชาติได้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.5
แล้วเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะชวดอีกปีหรือจะกลับมาดีอีกหน
เราคงต้องมาตรวจเช็คสุขภาพเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกันก่อนว่า มีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 อย่างไร
เครื่องยนต์แรกการส่งออก การส่งออกสินค้านับว่าเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะทำให้พลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยในปีนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก (1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัว เพราะสงครามการค้าเริ่มผ่อนคลายไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน
และ (2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มใช้ระบบ 5G ในหลายประเทศ ซึ่งการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยน่าจะเกาะกระแสการฟื้นตัวนี้ได้บ้าง โดยจะเริ่มเห็นคำสั่งซื้อและการผลิตเพื่อรอส่งมอบชัดเจนขึ้นในช่วงกลางปีนี้ สำหรับการส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ดีอยู่ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว
เครื่องยนต์การลงทุน ทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนนับเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดกันว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นจากหลายโครงการถูกเลื่อนมาจากปีก่อนจากงบประมาณที่เพิ่งผ่านสภา โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันได้มีการเซ็นสัญญาและเริ่มลงทุนแล้ว และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ที่จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการลงทุนในโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ที่น่าจะเดินหน้าได้หลังการประมูลเสร็จสิ้น
เครื่องยนต์การบริโภคภาคเอกชน เครื่องยนต์นี้นับเป็นพระเอกคนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา แม้การจ้างงานและรายได้ครัวเรือนจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว แต่การบริโภคโดยรวมยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากได้ยากระตุ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการภาครัฐ เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ มาตรการช่วยเหลือรายได้เกษตรกร ซึ่งมาตรการเหล่านี้เน้นความรวดเร็วและการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี ในปีนี้เครื่องยนต์นี้คาดว่าจะขยายตัวแผ่วลงบ้าง ตามปัจจัยพื้นฐานด้านรายได้แม้ว่าการส่งออกจะมีทิศทางดีขึ้นก็ตาม เนื่องจากตลาดแรงงานมักอาศัยเวลาในการฟื้นตัวที่ช้ากว่าและการที่ภาคธุรกิจจะกลับมาจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ก็ต้องมั่นใจก่อนว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคธุรกิจมีการนำ Automation เข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ตกสู่กลุ่มแรงงานน้อยลง ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะถัดไป
ถามว่าโดยรวมแล้ว ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร? การขยายตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะดีกว่าปีก่อน จากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนที่น่าจะเริ่มเดินหน้าได้ในปีนี้ อย่างไรก็ดี อดที่จะพูดถึงความเสี่ยงที่อาจเป็นปัจจัยทำให้นักวิเคราะห์ทั้งหลายต้องปรับมุมมองภาพเศรษฐกิจระหว่างทางในปีนี้
เช่น 1) พัฒนาการของการค้าและการลงทุนโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อาจกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง (2) ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และ (3) พัฒนาการของตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือน ที่อาจใช้เวลาการฟื้นตัวนานกว่าอดีตแม้การส่งออกจะฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
แม้เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะมีทิศทางที่ดูดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังโตได้ต่ำกว่าระดับที่เรียกว่าศักยภาพ ต้นเหตุสำคัญที่สุดมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง อาทิ ความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ของภาคครัวเรือน รวมถึงผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันและผูกโยงกัน
ดังนั้น การจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวดีขึ้นและใกล้เคียงกับระดับศักยภาพได้อีกหน คงไม่สามารถพึ่งพายากระตุ้นผ่านมาตรการการคลังระยะสั้น หรือการใช้นโยบายการเงินที่มีประสิทธิผลจำกัดในการรักษาโรคที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างได้ การแก้ไขปัญหาปัญหาเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องได้รับยาที่ถูกโรคหรือการผ่าตัดเศรษฐกิจไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้พร้อมออกวิ่งในสนามอย่างแข็งแกร่งยามเมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
มิเช่นนั้นแล้วเศรษฐกิจไทยคงต้องชวดอีกหลายปีและไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะกลับมาดีได้อีกหน?
นายวิศรุต มาลสุขุม นายณัฏฐภัทร์ กิ่งเนตร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/