ครป. ยื่นพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จี้บีโอไอ เปิดตัวเลขการอนุญาตต่างชาติถือครองที่ดิน
ครป. ยื่นพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จี้บีโอไอ เปิดตัวเลข การอนุญาตต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภายใน 30 วัน หวั่นสร้างความเหลื่อมล้ำ เอื้อกลุ่มนายทุนซื้อขายที่ดิน และกลุ่มอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน - สิ่งแวดล้อม
วันที่ 24 ม.ค. 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ เนื่องในโอกาสครบรอบ 54 ปีบีโอไอ เพื่อขอให้ทบทวนนโบายให้สิทธิประโยชน์ลดเว้นภาษีกลุ่มทุนต่างๆ ซึ่งกลับส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พร้อมขอให้เปิดเผยข้อมูลการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ต่างชาติทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งทำให้ที่ดินไทยถูกต่างชาติยึดครองในอนาคตหากไม่หยุดการอนุญาต โดยขอรับข้อมูลตามสิทธิพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ใน 30 วัน
โดยใจความของหนังสือ เรื่อง ขอให้เปิดเผยข้อมูลการส่งเสริมการลงทุน การให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการต่างๆ และการให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บริษัทต่างชาติ ระบุว่า
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นหน่วยงานราชการที่มีอายุครบรอบ 54 ปี ในการทำงานส่งเสริมการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2509 ในขณะประเทศกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมีภารกิจหลักคือการส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ แก่เอกชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) และเติบโตอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2557 คือการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมฯ ทั้งนี้ โดยมีการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (ขึ้นกับประเภทกิจการและเงื่อนไข) ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี (เฉพาะเขตส่งเสริมการลงทุน) รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี เช่น การอนุญาตต่างชาติถือหุ้น 100% (ยกเว้นกิจการตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ) และอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นต้น
ครป. ได้ติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจและการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้สัญญาสัมปทาน โครงการร่วมทุนภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนและโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เพื่อตรวจสอบการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม การป้องกันเศรษฐกิจผูกขาด และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น กลับสวนทางกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่กลุ่มทุนที่ร่ำรวยมั่งคั่งอยู่แล้วให้ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ การยกเว้นภาษีรวมถึงการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่นักลงทุนต่างชาติ เป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ ผ่านการครอบครองเศรษฐกิจและสงครามการแย่งชิงทรัพยากรภายใน ที่อาจส่งผลร้ายต่อสังคมและความมั่นคงในระยะยาว
เพื่อตรวจสอบปัญหาดังกล่าว ครป. จึงมีขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดังต่อไปนี้
1. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนแก่กลุ่มทุนต่างๆ ทั้งหมดอย่างโปร่งใสในระบบอิเลคทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการตรวจสอบจากประชาชน โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีในโครงการต่างๆ และการอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บริษัทต่างชาติทั้งหมด ตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนจนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติให้บริษัทถือครองที่ดินไปแล้วจำนวนมากน้อยเพียงใด คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของที่ดินประเทศไทย เป็นจำนวนกี่ไร่ กี่โครงการและแก่บริษัทใดบ้าง ตามพระราชบัญญัติการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ทั้งนี้ ครป. ขอรับข้อมูลดังกล่าวใน 30 วัน
2. ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทบทวนนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% และอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่เอกชนได้รับฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในประเทศไทยที่พัฒนาแล้วมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ มากมาย (Tax the Rich) เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากกลุ่มทุนและคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วไม่ควรได้รับการยกเว้นภาษี แต่ควรเก็บภาษีให้มากขึ้นเป็นลำดับเพื่อคืนส่วนเกินที่ได้กำไรไปจากสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่รัฐเปิดโอกาสให้ โดยการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าเพื่อคืนส่วนเกินระหว่างทาง และการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้าคือการคืนส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และเศรษฐกิจติดอันดับโลก ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคมในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ จะเข้ามากำกับดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยตรง แทนการสนับสนุนนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาดโดยการอ้างส่งเสริมการลงทุนเหมือนในยุคการพัฒนาทุนนิยมและอุตสาหกรรมเริ่มแรกซึ่งเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว และนำมาสู่ปัญหาการกระจุกตัวทางอำนาจในปัจจุบันในรูปแบบทุนครอบงำรัฐและระบอบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ในประเทศไทย
3. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หยุดการพิจารณาการให้อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บริษัทต่างชาติเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติในระยะยาว ระหว่างการตรวจสอบจำนวนการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่ผ่านมานี้ เนื่องจากมีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมากจากโครงการและกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และที่อื่นๆ ที่การจัดทำผังเมืองยังไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนในพื้นที่และมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง
ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 1/2551 ขยายเวลาตามประกาศ ที่ 4/2556 ซึ่งอนุญาตให้บริษัทต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อเป็นสำนักงานและที่พักอาศัยได้ด้วย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในเรื่องนี้อย่างไร เคยมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่มีกฎหมายนี้หรือไม่ว่าบริษัทได้นำที่ดินไปใช้ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ แม้ว่าตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ห้ามทำธุรกิจด้านการเกษตรกรรม แต่ช่องโหว่ของกฎหมายทำให้บริษัทต่างชาติหลายบริษัท ขอรับการส่งเสริมในกิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์และกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ หรือมาขอซื้อถือดินได้นับร้อยนับพันไร่ได้โดยให้เหตุผลว่าเป็นแปลงทดลองต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก และอาจมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แอบแฝงด้วย หากไม่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด พื้นที่ส่งเสริมการลงทุนบางแห่งอาจจะกลายเป็นแหล่งรับขยะอิเลคทรอนิกส์ในอนาคตดังที่เคยเกิดขึ้นในบางพื้นที่แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ การให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ต่างชาติตามมาตรา 27 ของกฎหมาย BOI คือภัยคุกคามความมั่นคงของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสมควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยนี้โดยด่วน เนื่องจากปัจจุบันนี้กลุ่มทุนต่างชาติได้เข้ามายึดครองกรรมสิทธิ์ที่ดินมากมายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก จากดุลยพินิจของฝ่ายบริหารโดยไม่มีมาตรการรองรับ รวมถึงอาจมีการใช้อำนาจส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ ท่ามกลางผลประโยชน์ของนักการเมืองและเครือญาติที่อาจมีบุคคลที่เกี่ยวข้องแอบอ้างเป็นนายหน้าค้าขายที่ดินเก็งกำไรในระบบดังกล่าว ที่เชื่อมโยงกับขบวนการการเมืองระดับชาติและได้รับผลประโยชน์จากโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมักมีการซื้อขายที่ดินแล้วกักตุนไว้ปล่อยขายในราคาสูง โดยอาจมีการทำงานเชื่อมประสานกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่อาจมีผลประโยชน์ในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ การดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจขัดต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ และมีการดำเนินการในลักษณะการจัดทำแผนผังที่มีการเปลี่ยนสีผังเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนซื้อขายที่ดินและกลุ่มอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
ครป. จึงขอเรียกร้องมาเพื่อพิจารณาแก้ไขทบทวนและเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/