เลือกตั้งแล้วแต่ยังมีรับสินบน! ป.ป.ช.เผยเบื้องหลังค่า CPI ไทยร่วง-รบ.ต้องแก้จริงจัง
‘วัชรพล’ เผยเบื้องหลังคะแนน CPI แม้จะร่วงลงอยู่ลำดับ 101 ของโลก แต่คะแนนความโปร่งใส-หลักนิติธรรม-ปัจจัยต้านคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น 3 แหล่ง-รับรู้ความจริงจังของภาครัฐในการป้องปรามโกง 2 แหล่งได้ลดลงเหตุ ขรก.ใช้ทรัพย์สินราชการแสวงผล ปย.ส่วนตน-เลือกตั้งแล้วแต่มีเรียกรับสินบนอยู่ 4 แหล่งได้คะแนนเท่าเดิมเหตุ การแก้ปัญหาสินบน-สอบ จนท.รัฐไม่ต่างจากปี 61 รับปัจจัยหนึ่งมาจากปัญหาการเมือง เร่งฝ่าย จนท.วิเคราะห์อยู่ ตั้งเป้าปี 64 คดีค้างเก่าหมด ลั่น รบ.ต้องมีเจตจำนงให้ชัดในการต้านทุจริต
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ที่ห้องนนทบุรี 1 อาคาร 4 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดโครงการหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 11 ตอนหนึ่งว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ประกาศค่าคะแนนดัชนีรับรู้การทุจริต (CPI) ค.ศ. 2019 ปรากฏว่ามี 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศ ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ทั่วโลกคะแนนเฉลี่ย 43 คะแนน โดยประเทศสูงสุดคือ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ได้ 87 คะแนนเท่ากัน ส่วนประเทศไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ ในการให้ค่าคะแนน CPI นั้น พิจารณาจาก 9 แหล่งข้อมูล โดยของไทยเพิ่มขึ้น 3 แหล่ง เท่าเดิม 4 แหล่ง และลดลง 2 แหล่ง สังเกตได้ว่า คะแนนที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส หลักนิติธรรม และปัจจัยเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นมีคะแนนเพิ่มขึ้น ดังนั้นในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่า CPI จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกัน สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต
“นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีเจตจำนงแก้ไขปัญหาการทุจริตให้ชัดเจน ต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบ ควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ภายหลังการเปิดหลักสูตร นยปส. พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงกรณีค่าคะแนน CPI ที่ได้เท่าเดิม แต่ลำดับลดลงว่า ตรงนี้ต้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไปวิเคราะห์รายละเอียด อย่างไรก็ดีขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์ และมีการประชุมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ที่สำคัญคือการสร้างความมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
@รับปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเมือง
เมื่อถามว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่า CPI ลดลงมาจากปัจจัยทางการเมืองหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งในหลายปัจจัย เพราะตามข้อเท็จจริงต้องดูในภาพรวม ตอนนี้ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียดีมาก ช่วยกันกดดันตีแผ่พวกทุจริตประพฤติมิชอบ สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม
ส่วนการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อให้คะแนน CPI เพิ่มขึ้นนั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เบื้องต้นกำลังให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด โดยจะดูจากหลายปัจจัย ทั้งนี้เพราะในไทยยังไม่มีตัวแทนจาก TI อย่างเป็นทางการ ทำให้การประสานข้อมูลกันค่อนข้างลำบาก แต่หลังจากนี้อาจเสนอให้ ม.หอการค้าไทย เป็นตัวแทน TI ประจำประเทศไทย เพื่อคอยประสานข้อมูลกัน หลังจากนี้จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายป้องกันการทุจริตให้เกิดขึ้นได้
@ตั้งเป้าปี 64 คดีค้างเก่าหมด-เร่งสาง 2,200 คดี/ปี
เมื่อถามถึงเป้าหมายของสำนักงาน ป.ป.ช. ในปี 2563 พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า แน่นอนว่ามีการตั้งเป้าหมายใหม่ให้สำเร็จในปี 2563 เช่น เรื่องคดี จากเดิมเป้าหมายทำให้เสร็จไม่น้อยกว่า 500 คดี/ปี แต่ในปี 2563 ตั้งเป้าจะทำให้เสร็จไม่น้อยกว่า 2,200 คดี/ปี หากทำได้เช่นนี้เชื่อว่าคดีค้างเก่าจะหมดไปในปี 2564 เหลือแต่คดีใหม่ ๆ ที่รับเข้ามา แสวงหาข้อเท็จจริง หรือหากมีมูลจะดำเนินการไต่สวนเป็นต้น ยืนยันว่าช่วงนี้ทำงานกันหนักมาก แต่มีเป้าหมายชัดเจน
@เบื้องหลังคะแนนเพิ่มขึ้น 3 แหล่ง-รับรู้ความจริงจังของภาครัฐในการป้องปรามโกง
วันเดียวกัน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงถึงกรณีนี้ว่า แหล่งข้อมูลของ TI ในการให้คะแนน CPI นั้นแบ่งเป็น 9 แหล่ง โดยมี 3 แหล่งที่ปี 2562 ไทยได้เยอะกว่าปี 2561 ได้แก่ 1.แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ปี 2562 ได้ 45 คะแนน ปี 2561 ได้ 41 คะแนน (เพิ่มขึ้น 4 คะแนน) โดยเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 4 ด้าน คือ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยว่า “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่” ด้วยคะแนน 45 และเพิ่มขึ้นถึง 4 คะแนน น่าจะเกิดจากการรับรู้ถึงความจริงจังของภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตที่มีมากขึ้น
2.แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน ปี 2561 ได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน) โดยการสำรวจจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศ โดยให้ประเมินระดับปัญหาการทุจริต ในประเทศหรือในธุรกิจ คะแนนการรับรู้ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนยังคงเห็นว่าปัญหาการทุจริตในประเทศไทย ยังเป็นความเสี่ยงสูงต่อการประกอบธุรกิจ
3.แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ปี 2562 ได้ 43 คะแนน ปี 2561 ได้ 42 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน) โดยเป็นในมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุด ในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ การคอร์รัปชัน ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค โดยถามเกี่ยวกับการจ่ายสินบน เช่น การนำสินค้าเข้าหรือส่งออก การทำสัญญาและออกใบอนุญาต และการจ่ายโอนเงินงบประมาณของรัฐไปสู่นิติบุคคล กลุ่มบุคคลหรือบุคคลคะแนนการรับรู้ดังกล่าว สะท้อนถึงอุปสรรคการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยลดน้อยลง ซึ่งอาจจะสืบเนื่องจาก การประกาศให้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูล
@2 แหล่งได้ลดลงเหตุ ขรก.ใช้ทรัพย์สินราชการแสวงผล ปย.ส่วนตน-เลือกตั้งแล้วแต่มีเรียกรับสินบนอยู่
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงมี 2 แหล่ง ได้แก่ 1.แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน, ปี 2561 ได้ 40 คะแนน(ลดลง 2 คะแนน) โดยเป็นคะแนนประเมินค่าความโปร่งใสใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชั่นและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ทรัพย์สินของราชการของข้าราชการสายบริหาร ตุลาการ ตำรวจ ทหาร และสภานิติบัญญัติคะแนน 38 ที่ลดลง เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนมองว่า กลุ่มข้าราชการยังคงใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และมีแนวโน้มว่าจะใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น
2.แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ปี 2562 ได้ 20 คะแนน, ปี 2561 ได้ 21 คะแนน โดยเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ด้วยคำถามที่ว่า การทุจริต ทางการเมืองเป็นที่แพร่หลายมากน้อยเพียงใด (How pervasive is political corruption?) ใน 4 กลุ่ม คือ ภาครัฐ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ คะแนน 20 คะแนนและลดลงไปอีกจากปี 2561 เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้เพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหม่แล้ว แต่สภาพพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการเรียกรับผลประโยชน์หรือสินบน หรือการเบียดบังเงินงบประมาณ ทรัพยากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องยังคงมีอยู่
@4 แหล่งได้คะแนนเท่าเดิมเหตุ การแก้ปัญหาสินบน-สอบ จนท.รัฐไม่ต่างจากปี 61
ส่วนแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเท่ากับปี 2561 มี 4 แหล่งข้อมูล ได้แก่ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF - TI) ได้ 37 คะแนน, Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน, Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน และ PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน PRS คะแนนเท่าเดิม ซึ่งทั้ง 4 แหล่งข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การแก้ไขปัญหาในเรื่องของการให้สินบน การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ และความโปร่งใสที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ยังมีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา
อ่านประกอบ :
เปิดบทวิเคราะห์ดัชนีทุจริตโลก2019 ชี้ปัญหาธรรมาภิบาลเอเชีย-กลุ่มทุนแอบแฝงล็อบบี้การเมือง
ประกาศดัชนีการทุจริต 2019 อันดับไทยร่วงอยู่ที่ 101 ของโลก ได้ 36 คะแนนเท่าเดิม
INFO ป.ป.ช. : ดัชนีคอร์รัปชันโลก 2019 'ทุจริตภาครัฐ-สินบนตุลาการ' ฉุดอันดับไทยร่วง 101
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/