ภาคปชช.ใส่หน้ากาก เดินรณรงค์เรียกร้องรัฐบาล 'พอกันที ขออากาศดีคืนมา'
องค์กรภาคประชาสังคม จัดกิจกรรม เดินเรียกร้องไปยังทำเนียบฯ ขอรัฐบาลลงมือ ปกป้องสุขภาพประชาชนจาก PM2.5 พร้อมออกแถลงการณ์ย้ำชัดวิกฤตฝุ่นพิษ ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติลงโทษ -โชคร้าย ยันรากเหง้าปัญหามาจากการพัฒนาผิดทิศทาง ไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับ
วันที่ 23 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. บริเวณด้านข้างวัดเบญจมบพิตร (ฝั่งคลองเปรมประชากร) กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Friend Zone และ Climate Strike Thailand จัดกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” เดินเรียกร้องไปยังทำเนียบรัฐบาล ขอให้รัฐบาลลงมือทำเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยดำเนินมาตรการที่สอดคล้อง มีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและเป็นธรรม รวมถึงการยกระดับมาตรฐาน PM2.5 ให้เข้มงวด ตลอดจนการปฏิรูปนโยบายสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายทำเนียบการเคลื่อนย้ายและปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น นำโดยนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายธารา กล่าวถึงการรวมตัวเรียกร้องของประชาชนเรื่องอากาศ และฝุ่นพิษ PM2.5 อยากให้ผู้บริหารระดับสูง นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลต้องตระหนักถึงแหล่งกำเนิดมลพิษ ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน เพราะหลายประเทศในเอเชียได้นำนโยบายเศรษฐกิจบูรณาการกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
จากนั้น เวลา 09.50 น.ภาคประชาชน เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล ก่อนยื่นข้อเสนอ ผ่านรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มีการส่งเสียง "พอกันที พอกันที พอกันที ขออากาศดีคืนมา" และระบุว่า รัฐบาลมีหน้าที่ตามกฎหมายดูแลปัญหาเรื่องฝุ่น และต้องเร่งแก้ไขโดยรวดเร็วไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาฝุ่นวนเวียนกลับมาอย่างทุกวันนี้ แม้ว่า รัฐบาลออกแผนการจัดการฝุ่น แต่ก็ยังไม่เห็นถึงประสิทธิภาพ อย่างชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่แถลงการณ์ “พอกันที #ขออากาศดีคืนมา” ใจความในหนังสือระบุว่า
นับจากปี พ.ศ.2561 ที่แรงกดดันทางสังคมจากความตระหนักถึงผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นพิษ PM2.5 ส่งผลให้ภาครัฐประกาศดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ที่รวม PM2.5 มาจนถึงปัจจุบัน เราทุกคนเป็นประจักษ์พยานถึงระดับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่อันตรายและส่งผลกระทบในวงกว้าง บางคนเกิดอาการแพ้อย่างหนักตั้งแต่แสบตา เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก จนถึงเลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด อาการเหล่านี้สอดคล้องกับงานศึกษาผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งขององค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา รายงาน State of Global Air ในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศไทย ประมาณ 37,500 คนต่อปี ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการให้ฝุ่นพิษ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง
นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขในสังคมไทย!
ความตระหนักของประชาชนต่อผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 ยังทำให้รัฐบาลกำหนดให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 แต่น่าเสียดาย สิ่งที่ไม่มีในแผนปฏิบัติการฯ นี้ เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 คือ ทีมเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน(Emergency Response Team) และระบบการสื่อสารสาธารณะที่รวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ เที่ยงตรง และเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องดูแลสุขภาพของตนและครอบครัวได้ทันท่วงที ซ้ำร้าย สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอต่อสาธารณะคือความเพิกเฉยต่อปัญหา สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ และโยนภาระมาให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีในท้ายที่สุด
แม้ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ระบุว่า “สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน” จึงมีมติเห็นชอบให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ข้อ แต่มาตรการดังกล่าวขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบและสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศจนกว่าจะมีการแก้ไขนั้น ไม่มีฐานข้อมูลรองรับว่าจะตรวจสอบโรงงานประเภทใด จะลดฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นปริมาณเท่าใด และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของภาครัฐได้อย่างไร การจัดทำฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ PM2.5 (Inventory) ได้คำนึงถึงมลพิษทางอากาศข้ามจังหวัด(Interprovincial)หรือข้ามพรมแดน(Transboundary)ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญ มาตรการ 12 นั้นเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องควบคุมตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นตามกฏหมายอยู่เดิมแล้ว
ส่วนมาตรการขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานนั้นจะไม่เกิดขึ้นได้เลยหากไร้ซึ่งแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แท้จริง เช่น การลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทั้งระบบหรือใช้ขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤตฝุ่น ในขณะเดียวกัน ทำการพัฒนาปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกันอย่างดี มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผลเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการใช้รถยนต์
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/greenpeaceseath/
การที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากและเครื่องฟอกอากาศ ได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยให้มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง “clean room” กระจายอยู่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อบริการประชาชนที่สัญจรตามทางเท้าในช่วงวิกฤตมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศและให้ข้อแนะนำการซื้อและใช้อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษขนาดเล็กและการตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์
เพื่อเริ่มต้นปกป้องประชาชนจากผลกระทบฝุ่นพิษ PM2.5 รัฐบาลต้องปรับ “มาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ” ของประเทศไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ของ WHO(Interim Target 3) โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ.2563 ในขณะเดียวกัน เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ในสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องเน้นมาตรการการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกระทั่งรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมยังถูกควบคุมด้วยค่ามาตรฐานของ ‘ฝุ่นละอองรวม’ ทั้งที่ความเป็นพิษของฝุ่นแต่ละขนาดมีไม่เท่ากัน และการตรวจวัดก็ต่างกัน
เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ในเมืองใหญ่ รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน นอกจากเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะแล้ว ให้นำพื้นที่จากหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเป็นหน่วยงานกลางเมืองที่ประชาชนไม่ได้ติดต่อเป็นประจำย้ายไปนอกเมืองและสร้างสวนธารณะขึ้นแทน งานวิจัยโดย The Nature Conservancy ระบุว่า หากมีพื้นที่สีเขียวมากพอจะลดปริมาณฝุ่นได้เฉลี่ยร้อยละ 7 – 24
การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จากภาคเกษตรกรรม ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเคารพสิทธิมนุษยชน ดังคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี เพราะสิทธิของประชาชนและเด็กๆที่จะได้รับอาหาร น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของ “อภิสิทธิชน” และการส่งเสริมบทบาทกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษทางอากาศและการใช้สารเคมีการเกษตรร้ายแรงของประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข
มาตรการของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศให้มีการลดการเผา จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งในแง่การใช้มาตรการที่เข้มงวดให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการเศษซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อฟื้นฟูพัฒนาดิน
ในระยะยาว มีความจำเป็นในการลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวทั้งข้าวโพด และอ้อย เนื่องจากนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวางดังที่เห็น โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากระบบการผลิตเหล่านี้กลับไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น ได้แสดงให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปได้เห็นแล้วว่า เราไม่อาจปล่อยให้ทิศทางการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศเป็นไปตามแรงผลักดันของบริษัทยักษ์ใหญ่หรือหน่วยงานรัฐแต่เพียงลำพัง
ท้ายที่สุดแล้ว วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติลงโทษหรือความโชคร้าย รากเหง้าของปัญหามาจากการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับก่อนการตัดสินใจอย่างเพียงพอ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผลจากแรงกดดันทางสังคม รัฐบาลประกาศมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมาอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่ไม่ได้ผล ทางออกจากวิกฤตนี้ นอกจากการรับมือเฉพาะหน้าแล้ว ต้องอาศัยการทำงานในระยะยาว และเครื่องมือที่สำคัญคือ ‘กฏหมาย’ เช่น (1)กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกระทั่งรถยนต์ (2) การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) (3) กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) ที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน (4) กฏหมายกำหนด ‘ระยะแนวกันชน’ ระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน (Buffer zone) และ (5) การดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษ เช่นมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมกับมาตรการเชิงบังคับควบคุมที่ต้องใช้งบประมาณมากแต่ไม่เพียงพอในการจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
ความสำเร็จของประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกาในการควบคุมปริมาณ PM2.5 จนมีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการปล่อยมลพิษทางอากาศ 6 ชนิดรวมกัน (PM2.5, PM10, SO2, NOx, VOCs, CO and Pb) ลดลง ร้อยละ 74 ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2561 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการออกแบบระบบกฏหมายสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานและพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ต่อยอดจากฐานทางกฏหมายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มต้นถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะสามารถฝ่าวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยกระดับมาตรการป้องกัน-แก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองช่วงสถานการณ์วิกฤต
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/