คณะพูดคุยฯ ออกแถลงการณ์ร่วมถก "บีอาร์เอ็น"
ในขณะที่ "นายกฯลุงตู่" นำคณะรัฐมนตรีลงไปร่วมประชุม ครม.สัญจร ครั้งแรกของปี 2563 ที่จังหวัดนราธิวาส ปรากฏว่าอีกด้านหนึ่งมีความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อย่างเป็นทางการพอดิบพอดี
กองเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ออกเอกสารข่าวของคณะพูดคุยฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม คณะพูดคุยฯ นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ได้มีการพบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของ BRN นำโดย Mr.Anas Abdulrahman ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี ตันสรี อับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นอร์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก
การพูดคุยฯครั้งนี้เป็นเจตจำนงร่วมกันทึ่ต้องการแก้ไขและสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี โดยได้ออกแบบกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
การพูดคุยฯ ในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำความรู้จักและรับทราบกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยฯ ในห้วงต่อไป มีความก้าวหน้าและต่อเนื่อง โดยบรรยากาศของการพูดคุยเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการร่วมมือกันต่อไป
คณะพูดคุยฯ ตระหนักดีว่าการสร้างสันติสุขที่ย่ง่ยืนนั้น ต้องเกิดจากการพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างโดยใช้แนวทางสันติวิธี โดยรับฟังความคิดเห็นและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้คณะพูดคุยฯจะพยายามอย่างเต็มควมสามารถในการผลักดันให้กระบวนการสันติสุขนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมาย คือ การสร้างสันติสุขและการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนในพื้นทึ่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นนั้น เคยมีมาแล้วในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 โดยครั้งนั้นเรียกว่า "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ" ฝ่ายไทยมี พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนฝายบีอาร์เอ็นมี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้า แต่การพูดคุยดำเนินการมาได้ไม่นาน ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่ฝ่ายไทยไม่สามารถยอมรับได้บางข้อ จนทำให้การพูดคุยไม่คืบหน้า ประกอบกับเกิดปัญหาการเมืองภายในประเทศ มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เพื่อขับไล่รัฐบาล ทำให้การพูดคุยต้องหยุดชะงักและล้มไป
กระทั่งรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ได้ริเริ่มกระบวนการพูดคุยขึ้นมาอีกครั้งในปี 2558 เป็นการพุดคุยกับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ซึ่งเป็น "องค์กรร่ม" ของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่ม รวมทั้งบีอาร์เอ็น แต่หลายฝ่ายมองว่าแกนนำบีอาร์เอ็นที่มาร่วมนั้น ยังไม่ใช่ตัวแทนจากองค์กรบีอาร์เอ็นที่แท้จริง ทำให้กระบวนการพูดคุยไม่มีความคืบหน้า ไม่บรรลุข้อตกลงที่สำคัญ และไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
ต่อมามีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จาก พลเอก อักษรา เกิดผล เป็น พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ตามด้วย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ และมีความพยายามส่งสัญญาณชัดเจนว่า รัฐบาลไทยต้องการคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น เพราะเชื่อว่า "บีอาร์เอ็น" คือกลุ่มขบวนการที่มีบทบาทสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุดจึงมีการเปิดโต๊ะพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นได้สำเร็จ ภายใต้การนำของ นาย อานัส อับดุลเราะห์มาน (Mr.Anas Abdulrahman)
----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : "พล.อ.วัลลภ" นำทีมเปิดโต๊ะพุดคุยตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาเลย์