สภาพัฒน์ จับตาหนี้ครัวเรือน หลังพบออมน้อย แบกหนี้สูงและผ่อนนาน
โฆษกสภาพัฒน์ รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 2 ปี 2562 ระบุหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.7% เกินกว่าครึ่ง เป็นหนี้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ยานยนต์ การประกอบธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ในระดับ 41.5%
วันที่ 15 มกราคม นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโฆษกฯ เปิดเผยว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประจำเดือนธันวาคม 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 78.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน อาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวล สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการนำเสนอสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นส่วนหนึ่งของรายงานภาวะสังคม ซึ่งเผยแพร่เป็นประจำทุกไตรมาส
หนี้สินครัวเรือน ในไตรมาสสอง ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Households debt to GDP) พบว่ามีแนวโน้มทรงตัว จากสัดส่วนที่สูงสุดในปี 2558 ร้อยละ 80.8 ลดลงเป็นร้อยละ 79.3 และ 78.05 ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ และมาอยู่ที่ร้อยละ 78.7 ในไตรมาสสองปี 2562
วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรและเพื่อดำเนินธุรกิจ จากรายงานนโยบายการเงินเดือนธันวาคม 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2562 ร้อยละ 58.8 ของหนี้สินครัวเรือนไทยทั้งหมดเป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ยานยนต์ และเพื่อประกอบธุรกิจ โดยมีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยร้อยละ 24.4 สินเชื่อยานยนต์ร้อยละ 17.1 และสินเชื่อเพื่อธุรกิจร้อยละ 17.0 ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนร้อยละ 41.5 ของสินเชื่อครัวเรือนทั้งหมด
นายดนุชา กล่าวถึงภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังคงทรงตัว แต่คุณภาพสินเชื่อบางประเภทจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสาม ปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.81 ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 2.74 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยคุณภาพสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิตอยู่ในระดับที่ต้องติดตาม
"สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นผลจากพฤติกรรมของทั้งผู้ปล่อยกู้และผู้กู้ โดยช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ และ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) มีการแข่งขันกันสูง ขยายฐานลูกค้าถึงกลุ่มประชาชนที่มีฐานะการเงินที่ยังไม่มั่นคงนัก ขณะที่ผู้กู้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเทคโนโลยี สามารถซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ได้สะดวก เรื่องนี้รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจออกมาตรการต่างๆ ออกมาทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนบรรเทาลง และดีขึ้นกว่านี้"
รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น สร้างความรู้ทางการเงินเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน มีสัดส่วนหนี้ค่อนข้างสูง ฉะนั้นการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค มีการก่อหนี้ คงต้องตรวจสอบสถานะทางการเงินอย่างรอบคอบด้วย ทั้งรายได้ทั้งหมด ต้องดูการออม ความสามารถก่อหนี้ได้ระดับไหนไม่ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ออกมาตรการการกำกับดูแลให้เกิดการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม ทั้งผู้ให้กู้และผู้กู้ด้วย ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์สินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น จำนำทะเบียนรถยนต์ ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ศึกษารายละเอียดเพื่อกำหนดมาตรฐานการคำนวนภาระหนี้รวมต่อรายได้ (DSR) ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับที่ดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งที่มีการดำเนินการไปแล้ว คือการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้่สามารถชำระหนี้ได้มากขึ้น
"การก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ต้องพิจารณาสถานะทางการเงินอย่างรอบคอบ โดยนำรายได้ หักเงินออม และรายจ่ายที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว แล้วดูว่า มีเงินเหลือพอก่อหนี้ได้หรือไม่อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการสร้างหนี้เกินกว่าความสามารถในการชำระหนี้"