290 - 176: หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย
เหตุการณ์เมื่อสามสิบปีที่ผ่านมาของเที่ยวบิน IR655 ช่างคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เครื่องบินเที่ยวบิน PS 752 ของยูเครนที่ตกในอิหร่านเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 176 คนส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน แต่มีชาวแคนาดารวมอยู่ด้วย 63 คน
ทันทีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความสื่อให้ประชาคมโลกรับรู้ว่าจะโจมตีเป้าหมายสำคัญของอิหร่าน 52 แห่ง หลังจากจบปฏิบัติการสังหารนายพลโซไลมานีแห่งอิหร่านอย่างไม่แคร์สายตาชาวโลก ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี่ ของอิหร่านได้ออกมาตอบโต้อย่างทันควันเช่นกันว่า ใครก็ตามที่เอ่ยถึงตัวเลข 52 ก็พึงระลึกถึงตัวเลข 290 เอาไว้ด้วย
ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิหร่านต่างมีความหลังฝังใจต่อตัวเลขดังกล่าวมาตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้วและเมื่อเอ่ยตัวเลยนี้ขึ้นมาครั้งใดความแค้นที่อยู่ในใจของผู้นำของสองประเทศก็มักจะปะทุขึ้นมาเสมอและพร้อมที่จะปฏิบัติการแก้แค้นกันได้ตลอดเวลา
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าตัวเลข 52 ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เอ่ยขึ้นมานั้นเป็นตัวเลขจำนวนชาวอเมริกัน 52 คนที่อิหร่านจับเป็นตัวประกันไว้นานถึง 444 วันเมื่อ 40 ปีที่แล้ว สิ่งที่สร้างรอยแผลให้กับผู้นำอเมริกันในยุคนั้นเกิดขึ้นเมื่อปฏิบัติการที่ทหารอเมริกันเข้าไปช่วยเหลือตัวประกันเพื่อนำออกมาจากที่คุมขังเกิดความผิดพลาดเมื่อเฮลิคอปเตอร์ 3 ใน 8 ลำปฏิบัติการผิดพลาด ภารกิจการช่วยเหลือจึงถูกยกเลิก แต่เฮลิคอปเตอร์อีกลำหนึ่งพลาดท่าขณะถอนกำลังโดยชนเข้ากับเครื่องบิน C-130 ทำให้ทหารอเมริกันต้องสังเวยชีวิตไป 8 นายและบาดเจ็บอีก 5 นาย และในวันรุ่งขึ้นสถานีโทรทัศน์ของอิหร่านได้แพร่ภาพร่างของทหารทั้งหมดให้ชาวโลกได้รับรู้สร้างความเสียหน้าครั้งใหญ่แก่รัฐบาลของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ อยู่ไม่น้อยแต่เขาได้ออกมาแสดงถึงความรับผิดชอบทั้งหมดในเวลาต่อมา
ส่วนตัวเลข 290 ที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี่ ของอิหร่านออกมาพูดถึงนั้น เป็นตัวเลขจำนวนผู้โดยสารของสายการบินอิหร่านแอร์เที่ยวบินที่ IR655 ที่บินจากเมืองบันดา แอบบาส ของอิหร่าน ไปยังเมืองดูไบ เสียชีวิตทั้งลำจากการถูกยิงจากเรือรบสหรัฐชื่อ USS วินเซนเนส บริเวณช่องแคบฮอร์มุส เมื่อปี 1988 ในจำนวนผู้โดยสาร 290 คน มีเด็กรวมอยู่ด้วยถึง 66 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของอิหร่านที่มิได้เกิดจากอุบัติเหตุจากการขัดข้องทางเทคนิคของเครื่องบินแต่อย่างใด
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะออกมายอมรับว่า เป็นความผิดพลาด แต่เป็นความผิดพลาดที่แลกกับความสูญเสียของชีวิตผู้คนที่อิหร่านไม่เคยลืม ถึงแม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ เรแกนได้ออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียชีวิตก็ตาม แต่อิหร่านไม่ยอมรับและนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปีถัดมา ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องชดใช้ค่าเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านเหรียญดอลลาร์
เหตุการณ์เมื่อสามสิบปีที่ผ่านมาของเที่ยวบิน IR655 ช่างคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เครื่องบินเที่ยวบิน PS 752 ของยูเครนที่ตกในอิหร่านเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 176 คนส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน แต่มีชาวแคนาดารวมอยู่ด้วย 63 คนและทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ออกมาแสดงความเห็นในทันทีว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากการยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศที่มาจากฝั่งอิหร่านเองด้วยความไม่ตั้งใจและอิหร่านได้ปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว
หากสิ่งที่นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด กล่าวไว้เป็นความจริง สิ่งที่เหมือนกันระหว่างเที่ยวบิน IR 655 กับ PS 752 ก็คือ เครื่องบินทั้งสองเที่ยวบินนี้เป็นเครื่องบินโดยสารที่ตกในเขตประเทศอิหร่านและทั้งคู่โดนยิงด้วยขีปนาวุธ ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน เพราะในปี 1988 ก่อนที่เที่ยวบิน IR655 จะถูกยิงด้วยขีปนาวุธจากเรือรบของสหรัฐอเมริกาเพียงไม่กี่นาที เป็นช่วงเวลาที่มีการปะทะกันก่อนหน้าแล้วระหว่างเรือรบของอิหร่านกับเรือ USS วินเซนเนส ของสหรัฐอเมริกา ทั้งสองฝ่ายจึงอยู่ในสภาวะที่ต้องคุมเชิงกันอย่างเข้มงวดพร้อมที่จะปฏิบัติการโจมตีได้อย่างทันที ในขณะที่เหตุการณ์เที่ยวบิน PS 752 ที่เพิ่งเกิดอุบัติเหตุตกในอิหร่านเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งปฏิบัติการเด็ดหัวนายพลโซไลมานีและอิหร่านก็เพิ่งตอบโต้ด้วยการถล่มขีปนาวุธจำนวนหนึ่งใส่กองกำลังของสหรัฐอเมริกาที่ประจำการอยู่ในอิรัค
สถานการณ์ทั้งสองสถานการณ์แม้จะต่างเวลากันหลายปี แต่ก็เป็นสถานการณ์อันตรึงเครียดที่ทำให้ทั้งฝ่ายอิหร่านและสหรัฐอเมริกาต่างต้องอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมที่สามารถจะตอบโต้กันได้ทุกวินาทีและมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปิดฉากโจมตีต่อเครื่องบินหรือสิ่งแปลกปลอมที่อาจเข้ามาอยู่ในรัศมีทำการยิงได้ตลอดเวลา
เรือรบ USS วินเซนเนส ของสหรัฐที่ยิงใส่เที่ยวบิน IR 655 เมื่อปี 1988 นั้นเป็นเรือรบที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการทางทหารที่เรียกว่า Aegis ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้เรดาร์ในการติดตามและนำวิถีอาวุธ เพื่อการทำลายเป้าหมาย เรือลำนี้จึงมีชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า โรโบครูเซอร์( Robocruiser) เพราะเป็นเรือที่ควบคุมการตัดสินใจการใช้อาวุธด้วยระบบอัตโนมัติ ภายใต้การบัญชาการของกัปตัน วิลเลียม ซี โรเจอร์ ที่ 3
แม้ว่าเหตุการณ์ที่น่าเศร้าในครั้งนั้นกัปตัน วิลเลียม ซี โรเจอร์ ที่ 3 จะถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากนักวิเคราะห์สถานการณ์ต่อท่าทีที่แข็งกร้าวในสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างยิ่งในขณะนั้น แต่การสืบสวนในเชิงลึกพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับความสับสนระหว่างจุดประสานระหว่างผู้ใช้กับจอแสดงผลบนเรดาร์ (Confusing user interface) เพราะระบบไม่สามารถแยกแยะโดยอัตโนมัติให้เห็นได้ว่า จุดใดบนจอหมายถึงเครื่องบินพาณิชย์และจุดใดบนจอหมายถึงเครื่องบินข้าศึก ซึ่งหมายความว่า เกิดความสับสนระหว่างการชี้ว่าจุดใดบนเรดาร์คือจุดที่เครื่องบินกำลังลดระดับมุ่งเข้าหาเรือซึ่งหมายถึงการเตรียมเข้าโจมตี(Descending) ในที่นี้หมายถึงเครื่องบินขับไล่ F-14 ของอิหร่านหรือจุดใดแสดงว่า เครื่องบินกำลังขึ้น(Ascending) ซึ่งในที่นี้คือเครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ IR 655 ของอิหร่านที่กำลังมุ่งหน้าไปดูไบ
การที่ระบบอัตโนมัติเกิดความสับสนในการแยกแยะไม่ออกว่า เครื่องบินกำลังไต่ระดับหรือลดระดับได้สร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ให้กับประวัติศาสตร์การบินอีกครั้งหนึ่ง เพราะทันทีที่ระบบอัตโนมัติถูกสั่งให้แสดงข้อมูล เกี่ยวกับเครื่องบินที่ตรวจพบในวันนั้น ระบบได้รายงานทันทีว่า เครื่องบินนั้นกำลังลดระดับทั้งๆที่เครื่องบินที่ตรวจพบเป็นเครื่องบินที่กำลังบินขึ้น และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ(Transponder) ซึ่งแจ้งว่า เป็นเครื่องบินพาณิชย์อยู่ในสภาวะกำลังทำงาน ขณะที่สัญญาณการลดระดับจริงๆที่ระบบนำมาแสดงผลนั้นกลับกลายเป็นสัญญาณการลดระดับของเครื่องบินลาดตระเวนของสหรัฐอเมริกาเองอีกลำหนึ่งซึ่งกำลังปฏิบัติการอยู่ในอ่าวโอมานที่อยู่ห่างออกไป
กัปตัน วิลเลียม ซี โรเจอร์ ที่ 3 จึงประมวลผลจากข้อมูลที่ได้รับจากระบบตรวจจับอัตโนมัติว่า เครื่องบินโดยสาร IR 655 ที่กำลังเงยหัวขึ้นนั้น คือเครื่องบินขับไล่ F-14 ของอิหร่านที่กำลังลดระดับเพื่อเข้าโจมตี โดยไม่รู้เลยว่า เขากำลังจะสั่งทำลายเครื่องบินโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ถึง 290 ชีวิต กัปตันได้ตัดสินใจสั่งระบบ Aegis ให้ทำการยิงในทันที จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมอย่างไม่น่าเป็นไปได้ เพียงเพราะกัปตัน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดเลือกที่จะเชื่อระบบอัตโนมัติ ภายใต้สถานการณ์ที่คับขันที่สุดและยากที่จะตัดสินใจในทางหนึ่งทางใดด้วยตัวเอง
บทเรียนในครั้งนั้นทำให้ผู้พัฒนาระบบอาวุธอัตโนมัติต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาว่าการตัดสินใจใดๆ ก็ตาม ในการใช้อาวุธที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติจะต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ (Human in the loop) และไม่อาจปล่อยให้ระบบอัตโนมัติทำงานแต่โดยลำพัง การวางใจระบบอัตโนมัติมากเกินไปโดยไม่ให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องอาจสร้างความสูญเสียใหญ่หลวงที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาชดเชยได้ แต่มนุษย์มักจะละเลยต่อบทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมาและมักตัดอำนาจการตัดสินใจของมนุษย์ออกจากวงจรของระบบอัตโนมัติเสมอเพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติการ
แม้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินของสายการบินยูเครนเที่ยวบินที่ PS 752 จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้และหากอุบัติเหตุครั้งนี้มิได้เกิดจากปัญหาของเครื่องบินหรือความผิดพลาดของนักบินและถ้าเครื่องบินถูกยิงด้วยขีปนาวุธจากฝั่งอิหร่านจริงตามที่บางฝ่ายมีการกล่าวหา จึงน่าจะมีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อยที่เที่ยวบิน PS 752 อาจถูกยิงตก เพราะความสับสนในการแปลความหมายระหว่างคนกับเครื่องจักร หรืออาจเป็นความสับสนของเครื่องจักรเองที่แปลความหมายเหตุการณ์คลาดเคลื่อนภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดซ้ำรอยกับปฏิบัติการสอยเครื่องบิน IR 655 ของอิหร่านเมื่อสามสิบปีก่อน
ณ วันนี้เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นยังไม่มีใครออกมายืนยันได้นอกจากรอผลพิสูจน์จากหลักฐานทางการบินที่อาจต้องใช้เวลานานนับปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/