แนวทางการใช้กัญชาในการดูแลผู้ป่วยของสหราชอาณาจักร
"...ทั้งสี่ข้อนี้คือบทสรุปจากการทบทวนความรู้ทั่วโลกที่ได้รับการพิสูจน์ผ่านขั้นตอนมาตรฐานของการศึกษาวิจัยระดับสากล ก่อนจะประกาศออกมาเป็น practice recommendation ของสหราชอาณาจักร..."
จาก NICE UK Guideline on Cannabis (2019)
1. อาการปวดเรื้อรัง
แพทย์ไม่ควรใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชา ไม่ว่าจะเป็น Nabilone, Dronabinol, THC, รวมถึงผลิตภัณฑ์ผสมของ THC และ CBD ในการรักษาผู้ป่วย
สารสกัดกัญชาประเภท CBD จะใช้ในผู้ป่วยปวดเรื้อรังได้เฉพาะในการศึกษาวิจัยเท่านั้น
2. อาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงหลังได้รับเคมีบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
แพทย์สามารถใช้ยา Nabilone เป็นยาเสริมในการบรรเทาอาการได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานแล้วเท่านั้น โดยให้ใช้ในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากยาสารสกัดกัญชานี้เสมอ เช่นผลต่อระบบประสาท
3. อาการชักรุนแรงในผู้ป่วยโรคลมชัก
ข้อมูลปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะแนะนำวิธีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชาไปใช้ในการรักษาได้
ยาประเภทสารสกัดกัญชาที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ใช้ได้เฉพาะโรค Dravet และ Lennox-Gastaut Syndrome เท่านั้น
4. อาการเกร็งในผู้ป่วยโรค Multiple Sclerosis
ให้ใช้เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานแล้วเท่านั้น
โดยให้ลองใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของ THC และ CBD ได้ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ หากอาการดีขึ้นอย่างน้อย 20% จึงจะพิจารณาให้ใช้ต่อได้
ทั้งสี่ข้อนี้คือบทสรุปจากการทบทวนความรู้ทั่วโลกที่ได้รับการพิสูจน์ผ่านขั้นตอนมาตรฐานของการศึกษาวิจัยระดับสากล ก่อนจะประกาศออกมาเป็น practice recommendation ของสหราชอาณาจักร
ไม่ได้ทำตามกระแสกดดันทางการเมือง แรงปั่นสังคมด้วยความเชื่องมงาย หรือไม่ได้ทำแบบเวทมนตร์ มนตร์ดำ ไสยศาสตร์
เพราะระบบสาธารณสุข และกระบวนการดูแลรักษาโรคนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงต่อชีวิตคน
ขืนประกาศนโยบายไปแบบมั่วซั่วโดยไม่อิงหลักฐานข้อมูลวิชาการที่เป็นมาตรฐาน จะถูกใครต่อใครในสากลโลกมองว่ากำลังดูนิยาย Fiction and Fantasy เป็น Ministry of Magic
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง Cannabis-based Medicinal Products: NICE Guideline. National Institute for Health and Care Excellence, November 2019.
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย