ปลอมหลักฐานหักล้างเงินยืม! สตง.ชี้มูลบิ๊กสภาอุตฯ-พวก อบรมแรงงานน้ำท่วม 12 ล. ปี 56
เผยผลสอบสตง. ชี้มูลคดีอบรมแรงงานน้ำท่วม 12 ล. ปี 56 ใช้จ่ายเงินไปตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ พบหลักฐาน บิ๊กสภาอุตสาหกรรม -พวก จัดทำเอกสารพยานหลักฐานปลอมหักล้างเงินยืมกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน- ส่งป.ป.ช.เชือดคดีอาญา
สืบเนื่องจากในช่วงปี 2556 เกิดกรณีมีผู้ประกอบการจังหวัดลพบุรีจำนวนหนึ่ง เข้าร่วม “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ” ของสภาอุตสาหกรรมจังหวัด แต่ได้รับเงินค่าฝึกอบรมจากรัฐบาลไม่ครบ และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณวงเงิน กว่า 12 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง.ได้สรุปผลการสอบสวนการใช้จ่ายเงินในโครงการนี้ไปแล้ว พบว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการ พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว
สตง. ระบุในรายงานผลการสอบสวนว่า การดำเนินโครงการนี้ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการประชุมเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2555 โดยมีรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองแผนงานและสารสนเทศ และผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ได้ประชุมปรึกษาหารือกันและมีความเห็นว่า สามารถดำเนินโครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบกิจการได้โดยการนำเงินงบประมาณโครงการฯ จำนวน 12.24 ล้านบาท ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดการเงินงบประมาณดังกล่าวภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีเอง มอบให้เอกชนไปดำเนินการโดยไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใด ให้สามารถกระทำได้
ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ มีหนังสือขออนุมัติโครงการในวันที่ 21 มีนาคม 2555 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง มีหนังสือลงวันที่ 28 มีนาคม 2555 ขอความอนุเคราะห์งบประมาณในโครงการฯ และอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้อนุมัติโครงการฯ ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 ให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดดังกล่าวนำโครงการไปดำเนินการทั้งที่การดำเนินการดังกล่าวเป็นภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
จากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ในฐานะผู้ขออนุมัติและรับผิดชอบโครงการฯ ได้ดำเนินการขออนุมัติโครงการฯ และได้ยืมเงินราชการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฝึกอบรม จำนวน 12.24 ล้านบาท และในวันที่ 30 มีนาคม 2555 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นผู้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินและให้ยืมเงินราชการ โดยขั้นตอนทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 10 วัน
เมื่อผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับเงินก็ได้นำไปใช้จ่ายโดยไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบของทางราชการ ต่อมายังได้ร่วมกันกับพวกจัดทำเอกสารและพยานหลักฐานปลอมขึ้นเพื่อนำมาหักล้างเงินยืมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งทุกขั้นตอนมีลักษณะของการแบ่งขั้นตอนกันทำอย่างเป็นกระบวนการเพื่อได้ไปซึ่งเงินงบประมาณแผ่นดินโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เงินจำนวนดังกล่าวมิได้ถูกใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โครงการอย่างแท้จริงจึงเกิดความเสียหายกับเงินของทางราชการเต็มจำนวน 12.22 ล้านบาท
พิจารณาแล้วปรากฏพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
สตง.จึงได้ชี้มูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาผู้รับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายจำนวน 12.22 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และแจ้งให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ สำหรับผลการดำเนินการทางแพ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้กับกรมบัญชีกลางและมีหนังสือขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายพนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีเรียกเงินแล้วทางอาญากรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนแล้วและทางวินัยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการทางวินัยแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/