ความท้าทายทางการต่างประเทศ-ยุทธศาสตร์ความมั่นคง
"...ความท้าทายทางการต่างประเทศมีที่มาจาก ระเบียบโลกเดิมที่สหรัฐเคยครอบงำโลกแต่ผู้เดียวนั้น ได้กลายมาเป็นระบบโลกที่ในแง่หนึ่งมีหลายขั้วหลายฝ่าย คือ สหรัฐ ยุโรป รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น แบ่งอำนาจกัน แต่ในอีกแง่หนึ่งยุโรป ญี่ปุ่นนั้น ก็อยู่ใต้กำกับของสหรัฐไม่น้อย และ รัสเซีย เอง ก็ยังอ่อนด้อยกว่าชาติมหาอำนาจอื่นๆ มากในทางเศรษฐกิจ และประชากรก็มีไม่เพียงพอ จึงอาจสรุปได้อีกอย่างว่าขณะนี้โลกมีเพียงสองมหาอำนาจที่อยู่เหนือกว่าชาติอำนาจอื่นๆ ชัดเจน คือ สหรัฐ และ จีน..."
วันนี้ 9 ม.ค. 63 สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ จัดเสวนาเรื่องความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญในด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง มี อดีตเอกอัครราชทูต 5 ท่าน สมาชิกวุฒิสภา 3 ท่าน นายพลเอก นอกราชการ 2 ท่าน ผู้ใหญ่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและ นายทหาร นักวิชาการระดับอาวุโส ตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอีกหลายท่าน เข้าร่วม
ความท้าทายทางการต่างประเทศมีที่มาจาก ระเบียบโลกเดิมที่สหรัฐเคยครอบงำโลกแต่ผู้เดียว นั้น ได้กลายมาเป็นระบบโลกที่ในแง่หนึ่งมีหลายขั้วหลายฝ่าย คือ สหรัฐ ยุโรป รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น แบ่งอำนาจกัน แต่ในอีกแง่หนึ่งยุโรป ญี่ปุ่นนั้น ก็อยู่ใต้กำกับของสหรัฐไม่น้อย และ รัสเซีย เอง ก็ยังอ่อนด้อยกว่าชาติมหาอำนาจอื่นๆ มากในทางเศรษฐกิจ และประชากรก็มีไม่เพียงพอ จึงอาจสรุปได้อีกอย่างว่าขณะนี้โลกมีเพียงสองมหาอำนาจที่อยู่เหนือกว่าชาติอำนาจอื่นๆ ชัดเจน คือ สหรัฐ และ จีน
แม้ในด้านการทหารสหรัฐยังเหนือกว่าจีนค่อนข้างชัดเจน แต่ประชากรจีนนั้น นอกจากมีคุณภาพสูงแล้ว ยังมีจำนวนมากกว่าสหรัฐถึง 4 เท่า ในทางเศรษฐกิจจีนก็เติบใหญ่รวดเร็ว จนใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึง 4 เท่าแล้ว และใหญ่กว่าเยอรมันมากกว่านั้นเสียอีกและจะเติบใหญ่เท่าสหรัฐได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า ในด้านเทคโนโลยีจีนก็ไม่ได้เป็นพวกผลิตแต่ของถูก-ทำแต่ของปลอม ต่อไป หากยังมีนวัตกรรม และ มีไฮเทคของตนเองทีมีระดับค่อนข้างสูงทีเดียว
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สหรัฐในยุคของท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ยอมนิ่งเฉยต่อไป หากมุ่งระวัง กดดัน กีดกั้น ปิดล้อมจีน ในด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง เพื่อไม่ให้จีนดำเนินนโยบายในสองด้านนี้อย่างสะดวกสบาย และจะไม่ยอมให้จีนอาศัยเทคโนโลยี่ของตะวันตก และ อาศัยการค้าการลงทุนเสรีในตลาดโลกมาเติมพลังเศรษฐกิจให้ตนเองอย่างมหาศาล ดังที่เคยเป็นมา
ประเด็นที่มากระทบไทยและอาเซียนฉกาจฉกรรจ์ก็คือ: สหรัฐดูจะพยายามกดดันให้เราต้อง “เลือกฝ่าย” จะเป็นฝ่ายจีน หรือ ฝ่ายสหรัฐ เอาให้แน่ แต่จะอยู่กับทั้งสองฝ่ายไม่ได้ !! นี่คือความท้าทายใหญ่ที่ไทยเราต้องเผชิญในทางการต่างประเทศ เราจะทำอย่างไรดี ?
ท่านอดีตเอกอัครราชทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ชี้ว่า หากจะต้องเลือก ก็จงเลือกเพราะผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เลือกเพราะอุดมการณ์ เช่นที่สหรัฐพยายามชักจูงเรา ท่านเหมือนจะบอกว่าเราจงอย่าลืมอดีต คือ เมื่อเวียดนามรุกเข้ายึดกัมพูชาในปี 2522-23 นั้น ผลประโยชน์แห่งชาติก็กำหนดเราให้หันไปคบและเป็นพันธมิตรกับจีน ซึ่งช่างมีอุดมการณ์ต่างกับเรามาก เกือบจะตรงข้ามทีเดียว ในขณะนั้นเอง สหรัฐซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมือง-เศรษฐกิจร่วมกับเรา กลับละทิ้งเอเชียอาคเนย์ไปเสีย ปล่อยให้ไทยผู้เคยเป็นมิตรรักร่วมอุดมการณ์ ต้องพลันมารับศึกหนักจากเวียดนามที่มาประชิดชายแดนกัมพูชา-ไทย อยู่ตามลำพัง
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง ต้องตระหนักว่าจีนกับเราจริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็น “ปรปักษ์” ทางอุดมการณ์ จีนนั้นเลิก “ส่งออกอุดมการณ์” มานานแล้ว และได้เป็นมิตรใกล้ชิดกับไทยมาร่วม 4 ทศวรรษแล้ว ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือรัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือการยึดอำนาจ จีนก็ไม่มีปัญหา กลไก-สถาบันทางการเมืองของสองชาตินั้นก็แตกต่างกันมาก โปรดสังเกตว่าฝ่ายหนึ่งนั้นมีพรรคคอมมิวนิสต์นำรัฐ ส่วนอีกฝ่าย มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยของประเทศ
ท่านทูตสุรพงษ์แนะนำแข็งขันว่าไทยเราจะ “ต้องเอา ต้องคบ” ทั้งจีนและสหรัฐต่อไป และอาเซียนทั้งหมดก็คงไม่มีใครทิ้งจีน เราไม่ได้อะไรจากการทิ้งจีน และถ้าเราไปอยู่กับสหรัฐฝ่ายเดียวก็จะไม่ได้อะไรเพิ่มเติม หรือเพิ่มเติมมากนัก สถานะของสหรัฐตอนนี้ คงจะไม่ทำให้เราเสียหายมากนัก ถ้าสหรัฐไม่คบเรา และ เอาเข้าจริง แล้ว เชื่อว่าสหรัฐเองนั่นแหละย่อมจะไม่กล้าทิ้งไทย ไม่กล้าทิ้งอาเซียน เพราะว่าหากทิ้งไปแล้ว ผลประโยชน์ชาติและความมั่นคงของสหรัฐเองจะเสียหายมากกว่า และดุลกำลังที่เป็นจริง ที่ไม่ขาดเหลือกันมากนัก ที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ ระหว่างจีน-สหรัฐ ก็ดี และ สหรัฐ-อาเซียน ก็ดี ระหว่าง จีน-อาเซียน ก็ดี จะทำให้สหรัฐได้แต่พูดหรือเจรจาหรือขู่ แต่ที่จะกดดันให้เราทิ้งจีนได้จริงนั้น ยากมาก
ท่านทูตสุรพงษ์ย้ำว่าเราอย่ามองแต่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ต้องมองอะไรที่กว้างกว่านั้น ต้องอ่านปริบทให้ออก และอย่าส่งสัญญาณที่ผิดออกไปเป็นอันขาด ในอดีตนั้น เมื่อเวียดนามเตรียมบุกกัมพูชา ได้เดินทางมาพบปะกับท่านนายกรัฐมนตรีพล อ เกรียงศักดิ์หลายครั้ง แจ้งให้เราทราบว่าเวียดนามกับกัมพูชาขัดแย้งกันหนัก อาจมีสงคราม ขอให้เราเป็นกลาง นายกฯ เกรียงศักดิ์มักจะตอบว่าความขัดแย้งเป็นของสองชาติ ไม่เกี่ยวกับไทย เราเองไม่อยากให้เกิดสงคราม แต่ก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ตรงนี้เองที่เวียดนามมองว่าไทย “ส่งสัญญาณ” ว่าจะวางตัวเป็นกลาง และก็อาจเป็นด้วยเหตุนี้เอง จึงตัดสินใจเข้ายึดกัมพูชา
จากนั้น พล.อ. เจิดวุธ คราประยูร นักยุทธศาสตร์คนสำคัญ และยังอยู่ในราชการ ก็ได้นำเสนอหลักนิยมใหม่ด้านสงครามและความมั่นคง อันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ของโลก การก้าวกระโดดใหญ่ของสมรรถนะคอมพิวเตอร์ การมาถึงยุค 5 G ในการสื่อสาร เกิด เทคโนโลยีด้านการผลิตที่ชาญฉลาดและเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้บัดนี้สงครามไม่เป็นเรื่องของทหารและกำลังรบฝ่ายเดียว เส้นแบ่งระหว่างการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นทางการกับไม่เป็นทางการจะไม่มี เส้นแบ่งระหว่างการใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ กับฝ่ายที่อยู่นอกรัฐ หรือ ไม่ใช่รัฐ ก็จะไม่มี เส้นแบ่งระหว่างการพัฒนากับความมั่นคงไม่มี การต่อสู้ด้านความมั่นคงจะใช้รูปแบบมากมายหลากหลาย จนที่สุดกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และฝ่ายความมั่นคงอย่างที่เรามีจะไม่เพียงพอที่จะตั้งโจทย์ และ ตอบโจทย์ภัยคุกคามได้ ที่สำคัญพลังที่คุกคามจากนอกประเทศจะลอบเข้ามาแทรกแซงก่อเหตุในประเทศจนถึงขั้นล้มระบอบแล้วเปลี่ยนระบอบได้ (Regime Change) อย่างประณีตแนบเนียนเสมือนว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มาจากคนในประเทศล้วนๆ หรือมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก
สมาชิกในที่ประชุมหลายท่านเสนอว่า ในขณะที่โลกเปลี่ยนเร็วมาก เหมือนเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยเลยก็ว่าได้ จนของใหม่กับของเก่านั้นช่างต่างกันมาก การเปลี่ยนแปลงก็ช่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนมาก ฉะนั้นการวิจัย ค้นคิด และการเรียนรู้ การปรับตัว การจัดองค์กรใหม่อย่างรวดเร็ว และให้ได้ผลนั้น จึงจำเป็นมาก ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐและสังคมไทยพึงต้องร่วมกันคิด ระดมปัญญา เอาปัญญา เอากระบวนทัศน์ใหม่ไปรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ด้านการต่างประเทศและความมั่นคงให้ได้ ต้องเริ่มทำ ลองทำ และเร่งทำ
ที่มา : เอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://steemit.com/cryptocurrency