‘บสย.-แบงก์’ ลุยปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี 4 หมื่นล้าน
‘บสย.’ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ SMEs ที่เป็น NPLs มูลหนี้กว่า 3-4 หมื่นล้านบาท เพียง ‘แบงก์เจ้าหนี้’ นำหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาแสดงกับ บสย. ก็สามารถเครมเงินค้ำประกันได้ ไม่ต้องรอฟ้องให้ล้มละลายก่อน
จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) แสดงความเป็นห่วงผู้ประกอบการ SMEs ที่กู้เงินจากสถาบันการเงิน และมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันหนี้เงินกู้ ถูกแบงก์ฟ้องร้องฐานผิดนัดชำระหนี้ คิดเป็นมูลหนี้รวม 4 หมื่นล้านบาท ทางธปท.จึงได้เรียก บสย.และสมาคมธนาคารไทย (TBA) เข้ามาหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ SMEs ต้องปิดกิจการ จนส่งผลกระทบต่อลูกจ้างนับแสนคนนั้น
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย.ได้เริ่มใช้แนวทางใหม่ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นหนี้เสีย (NPLs) และสถาบันการเงินเจ้าหนี้กำลังฟ้องร้อง ซึ่งมี 2-3 หมื่นราย เฉลี่ยหนี้รายละ 1 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้รวม 3-4 หมื่นล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้นำหนังสือสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ SMEs มาแสดงต่อ บสย. ก็จะได้รับเงินค้ำประกันจาก บสย.ทันที ไม่ต้องรอฟ้องให้ล้มละลายก่อน
“เราต้องการให้คนที่สะดุด วิ่งต่อได้ จึงขอให้แบงก์แสดงหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้มายัง บสย. และก็รับเงินเคลมไปเลย จากนั้นจะให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีแบงก์เจ้าหนี้เดิมเข้ามาช่วยดูแล เพราะบสย.มีคนไม่พอ อีกทั้งแบงก์เขามีข้อมูลว่าลูกหนี้แต่ละรายยังทำธุรกิจอยู่หรือไม่ มีออเดอร์เท่าไหร่ ซึ่งหากลูกหนี้กลับมายืนได้ ก็นำเงินมาคืน บสย. โดยแนวทางนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว” นายรักษ์กล่าว
นายรักษ์ กล่าวว่า บสย.ยังปรับปรุงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ บสย. โดยลูกหนี้ที่นำเงินเข้ามาจ่าย (Up-Front) งวดแรกเพียง 1% ของมูลหนี้ ทาง บสย. ก็จะให้ลูกหนี้นรายนั้นเข้าสู่กระบวนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และกู้เงินเพิ่มเติมได้ จากเดิมที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินก่อน 10% ของมูลหนี้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ส่งผลให้ในปี 2562 ลูกหนี้บสย.ได้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ 1,000 ราย จากปีก่อนที่อยู่ที่ 500-600 ราย หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว
นอกจากนี้ ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางโครงการค้ำประกันเงินกู้ (PGS 8) ที่ครม.เคยอนุมัติวงเงินค้ำประกันไว้ 1.5 แสนล้านบาท โดยจะกันวงเงินค้ำประกันส่วนนี้ 6 หมื่นล้านบาท มาเป็นวงเงินค้ำประกันให้กับ SMEs ที่มีปัญหาและต้องการปรับโครงสร้างหนี้ และการไปเข้าค้ำประกันลูกหนี้ บสย.กลุ่มนี้ บสย.จะเพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้เป็น 40% ของเงินกู้ จากเดิมที่ค้ำประกันฯได้ในสัดส่วน 30% ของเงินกู้
“เงินค้ำประกันทุกๆ 1 บาทที่ บสย.เติมเข้าไปจะทำให้เกิดสินเชื่อในระบบ 1.5 เท่า ดังนั้น การที่บสย.เติมเงินค้ำประกันเงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท จะกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อในระบบกว่า 1 แสนล้านบาท” นายรักษ์กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/