ราชทัณฑ์ กำชับตั้งแต่ปี 61 สุขาภิบาลอาหารผู้ต้องขัง ให้ตัดคอไก่ที่มีต่อมไทรอยด์ออกทุกครั้ง
กรมราชทัณฑ์ ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับการเฝ้าระวังทางสุขาภิบาลอาหารเพื่อป้องกันโรคไทรอยต์เป็นพิษ หลีกเลี่ยงชิ้นส่วนบริเวณลำคอ และกรณีไก่ทั้งตัว ต้องตัดชิ้นส่วนบริเวณคอไก่ที่มีต่อมไทรอยด์ออกทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนไทรอยด์ฮอร์โมน
กรณีเกิดเหตุผู้ต้องขังเสียชีวิตช่วงปีใหม่ไล่เลี่ยกัน 4 รายติด ณ เรือนจำพิษณุโลก ด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง เรื่อง กำชับการเฝ้าระวังทางสุขาภิบาลอาหารเพื่อป้องกันโรคไทรอยต์เป็นพิษ ถึงแนวทางการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคไทรอยด์เป็นพิษในเรือนจำ
ในหนังสือระบุว่า ด้วยในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 - 2561 กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำ อย่างน้อย 3 แห่ง เกี่ยวกับอุบัติการณ์การพบผู้ต้องขังป่วยด้วยอาการแขนขาอ่อนแรงแบบเฉียบพลันหลายรายและจากการสอบสวนโรค พบลักษณะการเกิดโรคพร้อมกันเป็นกลุ่มก้อน เบื้องตัน มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเกิดจากภาวะไทรอยต์เป็นพิษจากการได้รับฮอร์โมนไทรอยด์จากการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ และ หมูบริเวณคอและหลอดลม โดยฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สัตว์ดังกล่าว ไม่สามารถทำลายด้วยความร้อน จึงทำให้ผู้ต้องขังได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนเกินขนาด และมีอาการแสดงของภาวะไทรอยด์เป็นพิษตามมา
ในการนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังทางสุขาภิบาลอาหารป้องกันโรคไทรอยด์เป็นพิษให้เรือนจำทัณฑสถาน ทุกแห่ง ดำเนินการ ดังนี้
1. เฝ้าระวังคุณภาพวัตถุดิบของอาหารจัดเลี้ยงผู้ต้องขัง โดยคณะกรรมการตรวจรับอาหารดำเนินการตรวจรับวัตถุดิบตามคุณลักษณะอาหารอย่างเคร่งครัด
2. อาหารประเภทเนื้อสัตว์ กรณีเนื้อหมู และเนื้อวัว ต้องหลีกเลี่ยงชิ้นส่วนบริเวณลำคอ และกรณีไก่ทั้งตัว ต้องตัดชิ้นส่วนบริเวณคอไก่ที่มีต่อมไทรอยด์ออกทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนไทรอยด์ฮอร์โมน
3. หลีกเลี่ยงอาหารบดหรืออาหารที่ไม่สามารถแยกชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ได้มาประกอบอาหารควรงดอาหารประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก เพื่อลดการปนปื้อนของอาหารหรือชิ้นส่วนที่ไม่ควรรับประทาน
4. มอบหมายอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) ติดตามเฝ้าระวัง และค้นหาผู้ป่วยหากพบผู้ต้องขังกล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักผิดปกติ มือสั่น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลทราบโดยทันที
5. พยาบาลเรือนจำ ดำเนินการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เบื้องต้นตามรายละเอียดในสิ่งที่ส่งมาด้วย เพื่อดำเนินการส่งรักษาโดยเร็ว พร้อมรายงานข้อมูลให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่และกองบริการทางการแพทย์ทราบ หากพบผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมาก