ครม.อนุมัติงบ 6,030 ล้านบาท บูรณาการสู้ภัยแล้ง
สนทช.เผย พล.อ.ประยุทธ์สั่งทุกกระทรวงบูรณาการงบแก้น้ำแล้ง ให้ ครม.อนุมัติวงเงินรวม 6,030 ล้านบาท 3,378 โครงการ ด้าน 'บิ๊กตู่' สั่งทุกกระทรวงเร่งสำรวจโครงการที่ดำเนินการได้ทันที
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าในระหว่างการแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 ม.ค.) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบจัดสรรงบกลางปี 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับแผนการใช้งบประมาณปี 2563 เพื่อนำไปใช้ในโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2563 ระยะเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่างๆ เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาน การซ่อมแซมระบบประปา และการเชื่อมโยงแหล่งน้ำต่างๆในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมทั้งสิ้น 3,378 โครงการ กรอบวงเงินรวม 6,030 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบเห็นชอบมาตรการด้านการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้ง โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน กองทัพบก (ทบ.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น จัดเตรียมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมือ และอุปกรณ์ รวม 4,192 เครื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แบ่งเป็น รถบรรทุกน้ำและรถผลิตน้ำ 1,517 เครื่อง เครื่องจักรและเครื่องขุด 175 เครื่อง และเครื่องเจาะบ่อและสูบน้ำ 2,500 เครื่อง โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) รับไปดำเนินการวางแผนการใช้งาน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ในที่ประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งให้ทุกกระทรวงเร่งสำรวจโครงการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อแก้ปัญหาภ้ยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน และส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ซึ่งในปีงบ 2563 รัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งแบบบูรณาการทั้งสิ้น 6.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับมาตรการป้องกันผลกระทบกับพื้นที่เกษตรนั้นจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 1) พื้นที่เขตชลประทาน มีมาตรการในการควบคุมจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำและสอดคล้องต่อปริมาณน้ำต้นทุน โดยได้มอบให้กรมชลประทาน (ชป.) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ 2) นอกพื้นที่เขตชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และอปท. ร่วมสำรวจพื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 2.6 ล้านไร่ พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรง ยืนต้นตาย จำนวน 0.37 ล้านไร่ ในพื้นที่ 30 จังหวัด โดยมอบกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุน พร้อมทั้งจัดทำแผนและมาตรการเสนอในระยะต่อไป
“ทุกโครงการเป็นการบูรณาการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ของทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในฤดูแล้งนี้ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ คือ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เป็นรูปธรรม ให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเดือดร้อนมีน้ำอุปโภคบริโภคทันท่วงที” นายสมเกียรติ กล่าว (ดูเอกสารประกอบ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/