‘แบงก์ชาติ’ สั่งรื้อเกณฑ์คิด ‘ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม’ ช่วยปชช.-SMEs
‘แบงก์ชาติ’ สั่ง ‘สถาบันการเงิน’ ปรับปรุงหลักเกณฑ์คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม หวังลดภาระประชาชน-SMEs พร้อมขอความร่วมมือ ‘แบงก์เฉพาะกิจของรัฐ’ ปรับโครงสร้างหนี้และหนุนสภาพคล่องให้ SMEs รับมือเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัว
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ม.ค.) ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประกอบการ SME และทำให้การคิดอัตราดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆมีความเป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น โดยให้มีผลตลอดไป ซึ่งประกอบด้วย
1.กรณีค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด ซึ่งเกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน จากเดิมที่ผู้ประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน ทั้งนี้ ค่าปรับที่ไม่สูงจะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด และทำให้ตลาด refinancing เกิดขึ้นในไทย
2.กรณีดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น จากเดิมที่การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามวิธีเดิม ก็ขอให้ปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร
นอกจากนี้ ให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าว นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ (affordability risk)
3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ตามเกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ จากเดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรฯ แต่หากกรณีที่ออกบัตรฯที่มีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม จากเดิมที่จะเรียกเก็บทุกกรณี
ดร.วิรไท กล่าวว่า ในระยะต่อไป ธปท.ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ด้วย คือ 1.ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2.ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ 3.ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ4.ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ธปท.จะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินของไทยและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ดร.วิรไท ลงนามหนังสือเวียน เลขที่ ธปท.ฝกฉ.(72) ว.15/2563 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
หนังสือดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และในระยะต่อไปยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ SMEs ซึ่งยังคงมีศักยภาพในการพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้น ธปท.จึงขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs โดยการเร่งติดตามดูแลลูกหนี้ SMEs รวมถึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ดังกล่าวโดยเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณของการมีปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ในการนี้ ธปท. ขอชักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEsโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 ดังนี้
1.ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีนโยบายการให้ความช่วยเหลือและแนวทางการพิจารณาลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการชะลอการลดหรือยกเลิกวงเงินลูกหนี้ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจเคยให้ไว้เดิม
2.ให้สถาบันการเงินฉพาะกิจถือว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้จัดอยู่ในชั้นปกติ และลูกหนี้ที่จัดอยู่ในชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือควรระวังเป็นพิเศษ เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive) และไม่ถือว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (Troubled Debt Restructuring: TDR) รวมถึงไม่เข้าลักษณะว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในข้อมูลเครดิตตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลด้านเครดิตกำหนด
3.กรณีสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการพิจารณาให้สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (working capital) แก่ลูกหนี้เพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถจัดชั้นสินเชื่อดังกล่าวเป็นรายบัญชีได้ หากพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้
4.สำหรับการการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจถือปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส. 23/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
เว้นแต่กรณีลูกหนี้จัดชั้นปกติ และลูกหนี้ที่จัดอยู่ในชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือควรระวังเป็นพิเศษที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สามารถจัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้นปกติได้ทันที หากได้วิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้แล้ว เห็นว่าลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ โดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
นอกจากนี้ ในส่วนของการรายงานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้รายงานเป้าหมายในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และยอดสินเชื่อคงค้างของลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามตารางแนบเป็นรายเดือน ภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือ ไปยังฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 รปท. เริ่มตั้งแต่งวดสิ้นเดือนม.ค. 2563 ถึงเดือนธ.ค.2564
ทั้งนี้ ธปท. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันการเงินฉพาะกิจจะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ในระยะที่ลูกหนี้ยังอยู่ในวิสัยที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยเป็นกันชน (cushion) ต่อแรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และส่งผลให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/