16 ปีไฟใต้...ระวังเป็น"จุดตาย"รัฐบาลลุงตู่
วิกฤตการณ์ไฟใต้เดินทางมาครบ 16 ปีเต็มเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์ไฟใต้รอบปัจจุบัน
เพราะวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬาร จำนวน 413 กระบอก จากค่ายทหารในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นับจากนั้นก็มีการก่อเหตุรุนแรงรายวันรูปแบบต่างๆ ในลักษณะอาชญากรรมความไม่สงบ ทั้งยิง ทั้งเผา ทั้งระเบิด ทั้งก่อกวน ผสมโรงกับความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดอยู่แล้วในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์และปัญหาการเมืองท้องถิ่นเป็นพื้น
16 ปีไฟใต้ เกิดเหตุความไม่สงบมาแล้ว 10,119 เหตุการณ์ มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิต 4,083 ราย บาดเจ็บ 10,818 ราย ที่น่าตกใจคือกว่าครึ่งของทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบจากความรุนแรงทำให้มี "เด็กกำพร้า" จำนวนมากมายในพื้นที่ โดยหากนับเฉพาะเด็กที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่จากสถานการณ์ความไม่สงบ และในวันเกิดเหตุอายุไม่เกิน 25 ปี พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,297 คน แยกเป็น จังหวัดปัตตานี 2,657 คน ยะลา 1,914 คน นราธิวาส 2,513 คน และสงขลา 213 คน
16 ปีไฟใต้ ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท งบประมาณปีล่าสุด 2563 เฉพาะงบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ 10,865.5 ล้านบาท เกิดคำถามว่าการจัดการปัญหาสัมฤทธิ์ผลหรือไม่เพียงใด เพราะไฟใต้ยังไม่ดับมอดลงเสียที
ไล่ดูสถิติเหตุรุนแรงตลอดปี 2562 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบทุกรูปแบบ จำนวน 121 เหตุการณ์ ลดลงกว่าปีก่อนหน้า โดยในปี 2561 มีเหตุรุนแรงทุกประเภทอยู่ที่ 161 เหตุการณ์ และยังลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 ที่มีเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 178 เหตุการณ์
แต่ปัญหาก็คือ ความรุนแรงที่ยังดำรงอยู่ ทำให้เกิดความสูญเสียทุกสาขาอาชีพ หนักที่สุดคือประชาชนทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ หนำซ้ำในปี 2562 มีผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจนต้องสูญเสียชีวิตจำนวน 72 ราย สูงกว่าปีก่อนหน้าที่มีผู้เสียชีวิต 62 ราย และในจำนวน 72 รายนี้ มีพระสงฆ์มรณภาพไป 2 รูป จากเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงพระถึงในวัดรัตนานุภาพ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
นอกจากนั้นยังมีเหตุโจมตีป้อม ชรบ.ที่ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวถึง 15 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดหากเทียบกับเหตุโจมตีป้อม จุดตรวจ และฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา
จากตัวเลขที่เห็นและเป็นอยู่ จึงยังสรุปไม่ได้ว่าไฟใต้มีทิศทางที่ดีขึ้นจริง ยิ่งไปกว่านั้นในปี "หนูทอง" 2563 ยังมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะปัญหาไฟใต้จะถูกนำไปพูดถึงในที่ประชุมสภามากกว่าเดิม เนื่องจาก ส.ส.ชายแดนใต้ 11 คน เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านมากกว่าครึ่ง หนำซ้ำทั้งหมดยัง "แพ็ค" กันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้แยกขั้วแยกฝ่าย เห็นได้จากเวลาที่มีการอภิปรายประเด็นกฎหมายพิเศษ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และงบประมาณดับไฟใต้
นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 16 ปีไฟใต้ ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาอยู่ในมือของกองทัพ ผ่านหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว กอ.รมน.ก็คือกองทัพบก ควบคุมทั้งงานความมั่นคง และงานพัฒนา ฉะนั้นความบกพร่องผิดพลาดในภารกิจดับไฟใต้ จึงถูกโยนให้เป็นความรับผิดชอบของกองทัพ
ด้วยเหตุนี้ในปี "หนูทอง" ที่การเมืองไทยคุกรุ่นตั้งแต่เปิดศักราช กับประเด็น 6 ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ควรทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จึงคาดการณ์ได้เลยว่า ไฟใต้อาจกลายเป็นจุดตายของรัฐบาลที่ถูกฝ่ายค้านนำมาถล่ม เพื่อยืนยันความล้มเหลวของ "รัฐบาลทหารซ่อนรูป" ที่มีผู้นำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้มานานถึง 12 ปี
ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 1 ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : 16 ปีไฟใต้...เด็กกำพร้า 7 พัน เหตุรุนแรงทะลุ 1 หมื่นครั้ง กับข้อกังขาซุกงบ!