เเล้งถึง พ.ค. 'เฉลิมชัย' สั่งรับมือ สร้างเเก้มลิง-โยน สทนช. ตอบแผนจัดการน้ำ
ปี 63 เเล้งถึง พ.ค. 'เฉลิมชัย' สั่งหน่วยงานรับมือ สร้างเเก้มลิง-อ่างเก็บน้ำ ประสาน ทส. เจาะบาดาล ยันใช้อุปโภคบริโภคเพียงพอ โยน สทนช. ตอบเเผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งถึง พ.ค. ดังนั้น ต้องบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและลดภาวะวิกฤต ตลอดจนลดความเสียหายของประชาชน ซึ่งมีการกำหนดนโยบายในการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และรัฐบาลเน้นมากที่สุด คือ การสร้างพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำ ในลุ่มน้ำและลำน้ำต่าง ๆ
นอกจากนี้จะร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ โดยมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เป็นผู้ประสานงาน ในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำมาใช้อุปโภคบริโภคและเกษตรแปลงใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะไม่ทำให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน
อีกทั้งยังมีการผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มปริมาณการส่งน้ำ จากเดิม 800 ล้านลบ.ม./ปี เป็น 2,000 ล้านลบ.ม. /ปี เพื่อน้ำอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร และผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศ
“ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่หน่วยงานต้องนำไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่าเดือนหน้าจะไปทานข้าวที่ไหน คงตอบไม่ได้ ครั้งนี้จึงนำเสนอภาพรวม ส่วนรายละเอียดให้ไปสอบถามกับกรมที่รับผิดชอบ”
รมว.กษ. กล่าวต่อถึงข้อซักถามต้องการทราบแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดว่า ให้สอบถามกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพราะเป็นหน่วยงานที่กำหนดแผนให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการทั้งหมด
เมื่อถามว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีแผนนโยบายเป็นของตนเอง นายเฉลิมชัย ระบุว่า แผนเป็นเรื่องของแผน อยากให้ถามกันอย่างเข้าใจมากกว่า ไม่ใช่ถามแบบต้องการคำตอบล่วงหน้าแล้ว ซึ่งสิ่งที่เราอธิบายนั้น เป็นสิ่งที่เราดำเนินการอยู่ โดยเราดำเนินการภายใต้แผนของ สทนช. ทั้งหมด เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดออกมา กระทรวงเกษตรฯ จะนำมาเป็นภาคปฏิบัติ ฉะนั้นทุกอย่างต้องสอดคล้องกันและไม่ได้มีกระทรวงเดียวที่รับผิดชอบทั้งหมด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:สทนช.เฝ้าระวัง 14 เขื่อนใหญ่ น้ำใช้การน้อยกว่า 30 %