เรื่องผู้ป่วยทางจิตเวชในเรือนจำ กับประเด็นที่ท้าทาย
ผู้ป่วยทางจิตส่วนหนึ่งถูกญาติพยายามทำให้ถูกจับดำเนินคดี เพื่อส่งตัวเข้าไปรักษาอาการทางจิต เรือนจำและทัณฑสถานหลายแห่งจึงกำลังรับภาระดูแลผู้ป่วยทางจิต โดยที่จริงๆ แล้วเกินความสามารถที่จะให้บริการได้
จากกรณีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เตรียมตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษในการควบคุมผู้ต้องขังกลุ่มพิเศษ โดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิตเวชนั้น
หนึ่งในหนังสือที่สำรวจสถานะสุขภาพความป่วยไข้ และองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ ในเรือนจำที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและการเข้าถึงบริการของผู้ต้องขัง นั่นก็คือ หนังสือที่ชื่อว่า "ป่วยไข้ในเรือนจำ ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการ" เป็นผลงานวิจัย ในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภายในเล่ม ช่วงหนึ่งมีการสัมภาษณ์พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานด้านบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน โดยเฉพาะโรคทางจิตเวชนั้น พบว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตเวช 19 คน ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติด รองลงมาคือคดีทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า และความผิดต่อชีวิต
กว่า 2 ใน 3 มีอาการทางจิตก่อนที่จะต้องโทษ และเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เสพยา จนมีอาการทางประสาท เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว หวาดระแวง กลัวคนทำร้าย ฯลฯ บางคนมีประวัติการตรวจรักษาอยู่ในโรงพยาบาล และกินยาต่อเนื่องมาก่อนจะเข้าเรือนจำ
อาการทางจิตและประสาทส่วนใหญ่ คือ เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ปลีกตัวไม่อยากสุงสิงกับใคร หงุดหงิด โมโหโวยวาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หวาดระแวง กลัวถูกทำร้าย ทำร้ายตัวเอง และอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น
พยาบาลในเรือนจำแห่งหนึ่ง ได้ระบุถึงปัญหาสุขภาพจิตว่า เป็นปัญหาสุขภาพใหญ่ประการหนึ่งในการให้บริการในเรือนจำและทัณฑสถาน ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งขีดความสามารถของสถานพยาบาลที่จะรองรับผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิต ความรู้ความเข้าใจและทักษะของเจ้าหน้าที่ควบคุม ขาดแคลนนักจิตวิทยา ขาดเครือข่ายจิตแพทย์ และโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ เป็นต้น
พยาบาลในสถานพยาบาลของแต่ละเรือนจำและทัณฑสถานต่างพยายามรับมือกับผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตหลากหลายรูปแบบเท่าที่สามารถทำได้ ผู้ต้องขังบางคนมีอาการทางจิตตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ บางคนได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล บางคนเสพยาเสพติดมากและแสดงอาการทางจิตอย่างชัดเจน เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ โดยส่วนใหญ่พยาบาลในเรือนจำจะเป็นผู้ตรวจและประเมินสุขภาพจิตของผู้ต้องขังตั้งแต่แรกรับตัวเข้าเรือนจำ สังเกตอาการ พูดคุย ปรึกษาแพทย์ที่มาประจำ หรือส่งตัวออกไปหาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลในพื้นที่ หากผู้ต้องขังจิตเวชนั้นเกินขีดความสามารถที่จะรับมือได้ ก็จะต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจิตเวชในเขตใกล้เคียงเพื่อให้ได้รับการรักษา
นอกจากนี้ ในสังคมทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิต มีผู้ป่วยจิตเวชบางคนที่ครอบครัวไม่สามารถดูแลจัดการได้ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชนั้นต้องทุ่มเทเวลา ความรัก ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ และชีวิตแทบทั้งชีวิตไปในการดูแลเอาใจใส่ เป็นภาระที่มากเกินกำลังที่คนหาเช้ากินค่ำจะสามารถบริหารจัดการได้ จึงพบว่า ผู้ป่วยทางจิตส่วนหนึ่งถูกญาติพยายามทำให้ถูกจับดำเนินคดีเพื่อส่งตัวเข้าไปรักษาอาการทางจิตในเรือนจำในที่สุด
เรือนจำและทัณฑสถานหลายแห่ง จึงกำลังรับภาระดูแลผู้ป่วยทางจิต โดยที่จริงๆ แล้วเกินความสามารถที่จะให้บริการได้
"จิตเวชเยอะ ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่กระทำความผิด เพราะว่า มันเจอความกดดันไม่มีใครรักก็ไปที่หมอ (พยาบาลในเรือนจำ) เจอคนแบบนี้ทุกวัน ให้ยาคลายเครียดไป แล้วมันก็เป็นระบบปิด คนอยู่ในเรือนจำไม่จิตเวช ไม่มี จะมาสมาธิอยู่เย็นเป็นสุขไม่มีหรอกค่ะ เขานับแต่วันออกเขาก็แย่แล้ว เราไม่มีห้องแยก มีเคสหนึ่งเที่ยวแทงตาเพื่อน ส่งไปจิตเวช เขาก็บอก ยังไม่บ้าไม่หนัก ไม่รู้เพราะกลัวผลทางคดีหรือเปล่า ถ้าจะไปรับรองว่า คนนี้บ้า"
ขณะที่ผู้ต้องขังชายในเรือนจำแห่งหนึ่ง "พ่อกับแม่ให้ตำรวจมาจับตัวไปเลย เพราะกับเพื่อนยังไปแทงเขาตายได้ พ่อเคยพาไปหาหมอที่ศรีธัญญาเมื่อตอนอายุ 20 เขาเห็นนั่งพูดคนเดียว เขาบอกว่า เป็นประสาทหลอน เห็นภาพหลอน เห็นผี กินยาแล้วก็รู้สึกง่วงนอน ผ่อนคลาย"
ส่วนอาร์ม อายุ 34 ปีต้องโทษครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในคดีความผิดตามพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ เขารับรู้ตัวเองไม่สบายเป็นจิตเวชก่อนเข้าเรือนจำประมาณ 1 เดือน ซึ่งเป็นผลพวงจากการเสพยาบ้าประมาณ 5-10 เม็ดต่อวัน แล้วทำร้ายตัวเอง
อาร์มได้รับยาจิตเวชต่อเนื่องเป็นประจำในเรือนจำ เมื่อติดคุกครั้งที่ 2 และมีอาการทางจิตเวชอีก โดยส่งตัวออกไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ใกล้เคียงตามนัดเพื่อประเมินอาการและรับยาต่อเนื่อง
ไม่ต่างจากบาสกับตับที่ควักไปมอบตัว เขาต้องโทษในเรือนจำแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความผิดในคดีพยายายามฆ่า
ทั้งกรณีของอาร์มกับบาส และอีกหลายๆ คน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ป่วยทางจิตเวชที่เรือนจำและทัณฑสถานต้องให้การดูแลและควบคุมให้กินยาต้านจิตเวชเป็นประจำต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้เป็นอันตรายทั้งตัวเองและคนอื่น และอาจกล่าวได้ว่า เป็นภาระรับผิดชอบที่เกินขีดความสามารถของสถานพยาบาลในเรือนจำที่จะดูแลรักษาได้ตามที่ควรจะเป็นหรือตามมาตรฐานการรักษาโรคทางจิตเวช
ฉะนั้น ผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบางในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิตเวช นับเป็นประเด็นที่ท้าทายการบริหารจัดการของเรือนจำและทัณฑสถานหลายแห่งในประเทศไทย..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จากมือที่ "เปื้อน" บาป สู่มือที่ "ปั้น" บุญ
‘หมอ-พยาบาล’ ในเรือนจำ งานที่ยังคงขาดแคลน
‘เรือนจำอยุธยา’ ต้นแบบปฏิบัติ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อศักดิ์ศรีนักโทษหญิง
“สงขลาโมเดล” ต้นแบบการจัดบริการสุขภาพให้แก่กลุ่มผู้ต้องขัง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยผู้ต้องขังเจ็บป่วยต้องส่งรพ.ปีละ 5 หมื่น-เสียชีวิต 1 พันคน
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/