ทำความรู้จักกับ CLMV – โอกาสทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
"...กลุ่ม CLMV เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สะท้อนถึงกำลังซื้อที่มีแนวโน้มเติบโตดี มีความพร้อมทั้งด้านแรงงาน ทรัพยากร และเสถียรภาพทางการเมือง การพึ่งพาภาคต่างประเทศยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของไทยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง รวมทั้งภาคการเงินยังมีลู่ทางให้ธุรกิจสถาบันการเงินไทยสามารถเข้าไปขยายการลงทุนได้ง่าย ..."
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทิศทางการลงทุนของโลกทยอยมุ่งหน้าสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่มากขึ้น โดยเป้าหมายหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia, Lao PDR, Myanmar และ Vietnam) ซึ่งมีคุณลักษณะร่วมที่โดดเด่นหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ (1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง จากความพร้อมทั้งด้านแรงงาน ทรัพยากร และเสถียรภาพทางการเมือง (2) พึ่งพาภาคต่างประเทศสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของไทยที่มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นทุนเดิม และ (3) ภาคการเงินยังมีพื้นที่ให้พัฒนาอีกมาก ซึ่งเป็นจุดที่ธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและการธนาคารของไทย สามารถเข้าไปขยายการลงทุนได้ง่าย
ด้วยจุดเด่นดังกล่าว CLMV จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยทั้งในด้านการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในปัจจุบัน
ก่อนจะมาเป็นคำว่า CLMV
หลังจากที่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ปิดฉากลง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกได้ผ่อนคลายและเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนจากที่นานาประเทศได้เริ่มดำเนินนโยบายทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการเปลี่ยนความขัดแย้งในอดีตให้กลายเป็นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกับ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ได้ทยอยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียนจนครบทุกราย สะท้อนถึงการก้าวผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในอาเซียนได้อย่างแท้จริง โดยในเวลาต่อมา คำว่า “กลุ่มประเทศอินโดจีน” ที่มักสื่อความหมายถึงอดีตประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส[1] (รูปที่ 1) ก็ได้ค่อยๆ เลือนหายไป และถูกแทนที่ด้วยคำว่า “CLMV” ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในฐานะกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง และได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
รูปที่ 1 ตำแหน่งอาณานิคม “อินโดจีนของฝรั่งเศส”
ที่มา: MapChart
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีทิศทางชะลอตัวลง กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ประเทศกัมพูชา (Cambodia) สปป.ลาว (Lao PDR) เมียนมา (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) ยังคงเติบโตได้อย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ประเทศกลุ่มนี้มีลักษณะเฉพาะและปัจจัยสนับสนุนใดที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง
บทความนี้จึงต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงโดยย่อเกี่ยวกับกลุ่มประเทศ CLMV ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และการเงิน จากนั้นวิเคราะห์ถึงโอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มนี้ในระยะต่อไป
1. ข้อเท็จจริงด้านเศรษฐกิจโดยรวมของ CLMV
รูปที่ 2 สรุปข้อเท็จจริงด้านเศรษฐกิจโดยรวมของ CLMV
1.1 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
ในปัจจุบัน กลุ่มประเทศ CLMV จัดอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก และมีแนวโน้มที่จะคงการเติบโตในลักษณะนี้ในระยะต่อไป (รูปที่ 3) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัดส่วนแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานเป็นจำนวนมาก ประกอบกับค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ได้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ป่าไม้ สินแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพในการขยับขยายอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศได้ดี และมีพัฒนาการที่รวดเร็ว จากทั้งด้านการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
ทั้งนี้ ในวงการตลาดทุน กลุ่มประเทศ CLMV ถูกจัดว่าเป็น “ตลาดชายขอบ” หรือ Frontier Markets โดยมีคุณลักษณะเด่นคือเป็นตลาดที่ใหม่และมีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มาก จากโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดกลุ่มอื่น ๆ แม้ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงกว่าจากค่าเงินหรือภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น
รูปที่ 3 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV เทียบกับไทยและค่าเฉลี่ยโลก (ปี 2556 – 2561)
ที่มา: World Bank Open Data
1.2 จัดอยู่ในสถานะประเทศรายได้ปานกลาง
หลายคนอาจมีภาพจำว่า CLMV เป็นประเทศรายได้ต่ำ แต่แท้จริงแล้ว ทั้ง 4 ประเทศต่างได้รับการยกระดับเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างหรือ Lower Middle Income ตามเกณฑ์ของธนาคารโลกแล้ว[2] (รูปที่ 4)
รูปที่ 4 รายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากรของกลุ่มประเทศ CLMV (ปี 2545 – 2561)
ที่มา: World Bank Open Data
1.3 มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง
จุดเด่นประการหนึ่งของกลุ่มประเทศ CLMV คือเสถียรภาพทางการเมืองอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากการที่รัฐบาลไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงที่ผ่านมา[3] (ตารางที่ 1) ส่งผลให้นโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมีความชัดเจนและต่อเนื่อง และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการลงทุนในระยะยาว
ตารางที่ 1 รูปแบบการปกครองของกลุ่มประเทศ CLMV
ที่มา: รวมรวมโดยผู้เขียน
1.4 ประชากรกว่าร้อยละ 60 อยู่ในวัยทำงาน
CLMV มีความได้เปรียบด้านกำลังแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการบริโภคของประเทศ โดยมี
รูปที่ 5 โครงสร้างและจำนวนประชากรของกลุ่มประเทศ CLMV
ที่มา: PopulationPyramid (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2562)
ประชากรวัยทำงานอายุ 15 – 59 ปี ที่สูงกว่าร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด 177 ล้านคน (รูปที่ 5) และค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำ (ตารางที่ 2) ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นแต่เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่ใช้ทักษะระดับล่าง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนส่วนเพิ่มในการฝึกฝนอบรมแรงงานเช่นกัน
ตารางที่ 2 ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศในภูมิภาคอาเซียน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ส.ค. 2561)
หมายเหตุ: บรูไนและสิงคโปร์ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ
ที่มา: ASEAN Briefing
2. ข้อเท็จจริงด้านการค้าและการลงทุนของ CLMV
รูปที่ 6 สรุปข้อเท็จจริงด้านการค้าและการลงทุนของ CLMV
2.1 มีอัตราการเปิดประเทศสูง
อัตราการเปิดประเทศ หรือสัดส่วนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการต่อ GDP ในระดับสูงหมายถึง CLMV มีการพึ่งพาภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก (รูปที่ 7) อย่างไรก็ดี แม้ระดับการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้รวดเร็ว แต่ก็ทำให้ประเทศกลุ่มนี้เผชิญกับความเสี่ยงภาคต่างประเทศที่มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลก
รูปที่ 7 สัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP
ที่มา: World Bank Open Data
2.2 เป็นแหล่งการลงทุนสำคัญของผู้ประกอบการต่างชาติ
สถานการณ์การค้าและการลงทุนของโลกที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจหลายประเทศมองหา
โอกาสและตลาดใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่ง CLMV ก็มีความเหมาะสม จากเศรษฐกิจโดยรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวดี นอกจากนี้ CLMV ยังได้รับอานิสงส์เพิ่มจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในระยะหลัง โดยผู้ประกอบการจีนบางส่วนได้ทยอยย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสินค้านำเข้าในระดับสูง
สำหรับประเทศไทย กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนเช่นกัน โดยข้อมูลการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย แสดงให้เห็นว่า CLMV เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการลงทุนของธุรกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มทยอยสูงขึ้นต่อเนื่อง (รูปที่ 8 และรูปที่ 9) โดยข้อได้เปรียบหลักในการลงทุนของไทยใน CLMV คือทำเลที่ตั้งและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ส่งผลให้มีความเข้าใจตลาดที่ดีกว่า และมีต้นทุนขนส่งต่าง ๆ ที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยนิยมเข้าไปลงทุนใน CLMV ในภาคการผลิตและภาคการเงินเป็นสำคัญ โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของธุรกิจภาคการผลิตดังกล่าว คือหมวดการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
รูปที่ 8 มูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสุทธิของไทย ใน CLMV
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
รูปที่ 9 ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของไทยใน CLMV
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
2.3 สินค้าและตลาดส่งออกกระจุกตัว (CLM)
โครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV โดยเฉพาะ CLM ยังค่อนข้างกระจุกตัว กล่าวคือ มีความหลากหลายของสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกไม่มากนัก สะท้อนจากมูลค่าของหมวดสินค้าส่งออกอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมของประเทศ (ตารางที่ 3)
ในมิติของตลาดส่งออกรายประเทศ พบว่า สปป.ลาว และเมียนมายังมีตลาดหลักที่กระจุกตัวมาก ขณะที่กัมพูชาและเวียดนาม มีตลาดที่หลากหลายกว่า (ตารางที่ 4) ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศผู้นำเข้าหลักประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
2.4 การค้าชายแดนกับไทยมีมูลค่าการค้ารวมสูง (CLM)
การเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย ทำให้การค้าชายแดนของกลุ่ม CLM กับไทยมีความสำคัญ และมีสัดส่วนต่อมูลค่าการค้ารวมในระดับสูง (รูปที่ 10) โดยไทยมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่อยู่ใกล้ จึงมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำ อีกทั้งรูปแบบการค้ายังเรียบง่าย ไม่มีกฎระเบียบหรือมาตรการกีดกันที่เข้มงวด นอกจากนี้ ความนิยมของสินค้าไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากที่สินค้าไทยมีคุณภาพดี และผู้บริโภคส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นเคยกับแบรนด์ไทยจากสื่อต่างๆ มาเป็นระยะเวลานาน[4]
3. ข้อเท็จจริงด้านการเงินของ CLMV
3.1 พัฒนาการของภาคการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ
CLMV ยังมีพัฒนาการของภาคการเงินในระดับต่ำในหลายมิติ อาทิ ความสามารถในการเป็นตัวกลางของภาคการเงิน และการเข้าถึงบริการทางการเงิน สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อของภาคเอกชนในประเทศต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น (รูปที่ 12) และจากข้อมูลของรายงาน The Global Findex Database ฉบับปี 2560 ของธนาคารโลก (ตารางที่ 5) ที่ชี้ให้เห็นว่า CLMV ยังมีพื้นที่ให้สามารถพัฒนาได้อีกมาก
ตารางที่ 3 สัดส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศต่อมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมของประเทศดังกล่าว (ปี 2561)
ที่มา: Trade Map
ตารางที่ 4 สัดส่วนตลาดส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของประเทศต่อมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมของประเทศดังกล่าว (ปี 2561)
ที่มา: Trade Map
รูปที่ 10 สัดส่วนการค้าชายแดนต่อมูลค่าการค้ารวม ของไทยกับกลุ่ม CLM (ปี 2553 – 2561)
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ
รูปที่ 12 สัดส่วนสินเชื่อของภาคเอกชนในประเทศต่อ GDP(ปี 2556 และ 2561)
ที่มา: World Bank Open Data
ตารางที่ 5 สัดส่วนการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ปี 2560)
ที่มา: World Bank Open Data
รูปที่ 13 สัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดต่อ GDP [5] และปีที่ก่อตั้ง
ที่มา: รวบรวมจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศ CLMVT
3.2 ธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญของระบบการเงิน
ธนาคารพาณิชย์จัดเป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญของภาคเอกชนในกลุ่ม CLMV ส่วนหนึ่งเนื่องจากช่องทางอื่น ๆ อาทิ ตลาดเงิน และตลาดทุน ยังมีขนาดเล็กมาก โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตลาดหลักทรัพย์ ที่มีจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนน้อย และสัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ต่อ GDP ในระดับต่ำ[6] (รูปที่ 13)
ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดเงินและตลาดทุนโดยรวมของ CLMV ยังอยู่ในขั้นแรกของการพัฒนา บริการทางการเงินจึงอาจไม่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจและครัวเรือนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ภาคการเงินของไทยจึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปเสนอบริการในช่องทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของบริการทางการเงินได้
4. โอกาสทางเศรษฐกิจของไทย
ทางออกทางหนึ่งของไทยท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง คือการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะตลาด CLMV เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดกลุ่มนี้ยังเติบโตดีตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การลงทุนในตลาด CLMV ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย โดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2561 ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีทั้งหมด 584 แบรนด์ โดยมี 49 แบรนด์ที่ขยายกิจการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยใน CLMV[7] กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ CLMV มีความคล้ายคลึงกับไทยทั้งในด้านลักษณะสังคม วัฒนธรรม รวมถึง Lifestyle ของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาธุรกิจและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดกลุ่มนี้ได้ดี (รูปที่ 14)
สำหรับการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV นั้น ภาครัฐได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อวางแนวทางเจาะตลาดเป้าหมายและสินค้าเป้าหมายอย่างเร่งด่วนโดยหนึ่งในตลาดเป้าหมายส่งออกดังกล่าวคือ CLMV และติดตามประเมินสถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้พัฒนาโครงการเชื่อมโยงระบบคมนาคมระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง โลจิสติกส์ทางอากาศในภูมิภาค หรือโครงการรถไฟทางคู่ ที่จะเชื่อมโยงไทย กัมพูชา สปป. ลาว และจีน เพื่อการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของไทยในการคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจนี้ได้เร็วและมากกว่าประเทศอื่น
ในขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ก็ได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจในตลาด CLMV เช่นกัน โดยการพัฒนาสินเชื่อระยะยาวเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทยไปเปิดบริการในต่างประเทศ หรือว่าจ้างบริษัทไทยให้ไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยพิจารณาหลักประกันตามความเหมาะสม และคิดดอกเบี้ยในราคาถูก นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศที่ 8.6 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562) สะท้อนถึงความพร้อมในการสนับสนุนผู้ส่งออกไทยให้สามารถขยายตลาดใหม่ได้เป็นอย่างดี
5. บทสรุป
กลุ่ม CLMV เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สะท้อนถึงกำลังซื้อที่มีแนวโน้มเติบโตดี มีความพร้อมทั้งด้านแรงงาน ทรัพยากร และเสถียรภาพทางการเมือง การพึ่งพาภาคต่างประเทศยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของไทยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง รวมทั้งภาคการเงินยังมีลู่ทางให้ธุรกิจสถาบันการเงินไทยสามารถเข้าไปขยายการลงทุนได้ง่าย
ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้ ซึ่งมี ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านการเจาะตลาดและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับการขยายการค้าการลงทุน รวมทั้งยังมี EXIM Bank เข้ามาช่วยเหลือทางด้านการเงินอีกด้วย
รูปที่ 14 สรุปข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในปี 2561
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า [8]
หมายเหตุ :
[1] ความหมายโดยเฉพาะเจาะจงของคำว่าอินโดจีน คือ “อินโดจีนของฝรั่งเศส” (French Indochina) หรืออดีตประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสในแถบคาบสมุทรอินโดจีนเท่านั้น ซึ่งนับเพียงประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม อย่างไรก็ดี ความหมายโดยกว้างของคำว่าอินโดจีนที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า จะครอบคลุมถึงประเทศอื่น ๆ ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย อาทิ เมียนมา ไทย และสิงคโปร์
[2] คำนวณจากรายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากร (Gross National Income per capita) โดยธนาคารโลกจะประกาศทบทวนเกณฑ์การแบ่งกลุ่มรายได้ในวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี โดยในปี 2562 มีเกณฑ์ดังนี้ (1) กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง ≥ 1,026 ดอลลาร์ สรอ. (2) กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ≥ 3,996 ดอลลาร์ สรอ. (3) กลุ่มประเทศรายได้สูง ≥ 12,375 ดอลลาร์ สรอ.
[3] สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (มิ.ย. 2559)
[4] กชพร ศิริชัยสกุล (มี.ค. 2554)
[5] คำนวณโดยใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 19 กันยายน 2562 และข้อมูล Nominal GDP ปี 2561
[6] บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย (ก.พ. 2560)
[7] ประชาชาติธุรกิจ (18 ส.ค. 2562) https://www.prachachat.net/economy/news-361651
[8] ฐานเศรษฐกิจ (28 ส.ค. 2562) https://www.thansettakij.com/content/408301
อ้างอิงจาก :
กชพร ศิริชัยสกุล (มี.ค. 2554), สำนักประสานงานด้านการต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, โอกาสในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV, https://www.sme.go.th/upload/mod_download/7.โอกาสในตลาดประเทศเพื่อนบ้านCLMV(ตท.).pdf
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (มิ.ย. 2559), TPSO Journal วารสาร สนค. ปีที่ 6 ฉบับที่ 59 มิถุนายน 2559, http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/tpso_journal_jun_59_issue_59.pdf
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย (ก.พ. 2560), ทำไมใคร ๆ ก็สนใจลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV, http://www.maoinvestor.com/2017/02/clmv.html
ASEAN Briefing (ส.ค. 2560), Minimum Wage Levels Across ASEAN, https://www.aseanbriefing.com/news/2018/08/30/minimum-wage-levels-across-asean.html
ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล
เศรษฐกรอาวุโสฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/InternationalCooperation/Pages/CLMVEcon.aspx