เสนอเยียวยาเพิ่ม 3.8 ล้าน จบปมยิงชาวบ้าน 3 ศพบนเขาตะเว
คดีใหญ่ส่งท้ายปีที่เกือบกลายเป็นเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงตอบโต้รอบใหม่ ก็คือคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่า "สำคัญผิด" ยิงชาวบ้านตัดไม้เสียชีวิต 3 ศพ บนภูเขาอาปี เทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
สาเหตุที่เรื่องนี้เกือบกลายเป็น "เงื่อนไข" เพราะตอนแรกมีการปล่อยข่าวว่าการตายของชาวบ้านทั้ง 3 คน เป็นเหตุการณ์ยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มติดอาวุธก่อความไม่สงบ มีการอ้างเรื่องปืนอาก้าของกลาง ท่ามกลางข้อมูลจากฝั่งประชาชนคนในพื้นที่ว่า คนตายทั้งหมดไม่มีประวัติคดีความมั่นคง
สุดท้ายฝ่ายความมั่นคงกลับลำทัน ยอมรับความจริงทั้งหมด แต่ก็ยังมีปัญหาตามมา เพราะการมอบตัวรับทราบข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ทหารที่ลั่นไก กระทำกันแบบปิดลับ ไม่เปิดเผยใหญ่โตเหมือนคดีความมั่นคงทั่วไป
แต่บทจบของเรื่องนี้กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี เมื่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกองคาพยพพร้อมใจกันเดินหน้าช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเหยื่อ และเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องในพื้นที่
เปิดเวทีเคลียร์ใจ...
ปลายสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือนธันวาคม ที่โรงเรียนชุมชนสหพัฒนา ต.บองอ อ.ระแงะ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชนและผู้นำในพื้นที่ หลังจากเกิดเหตุการณ์ชุดจรยุทธ์ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ลาดตระเวนพิสูจน์ทราบพื้นที่ต้องสงสัยบริเวณเทือกเขาตะเว ในพื้นที่ ต.บองอ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 62 ซึ่งคาดว่าเป็นแหล่งพักพิงหลบซ่อนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
ขณะทำการลาดตระเวนพิสูจน์ทราบได้มีการใช้อาวุธปืน และจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบประชาชนเสียชีวิตจำนวน 3 ราย ภายหลังจากการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลทราบว่าประชาชนทั้ง 3 ไม่ได้มีหมายจับ ป.วิอาญาที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง เพียงแต่ขึ้นไปบนภูเขาเพื่อตัดไม้ในพื้นที่ป่าสงวนเท่านั้น
จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.จึงจัดกิจกรรมขึ้นโดยผ่านกลไก "สภาสันติสุขตำบล" เพื่อให้สื่อกลางในการสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในพื้นที่ รวมถึงชี้แจงความคืบหน้าในเรื่องด้านการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียและ เยียวยาชุมชน รวมทั้งการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แม่ทัพภาคที่ 4 แต่งตั้งขึ้น
แว่วว่าเยียวยา 3.8 ล้าน...
นายนรินทร์ จินดาเพ็ชร์ ปลัดอำเภอระแงะ ผู้รับผิดชอบงานเยียวยา อธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดและน่าสนใจ
"ผมเป็นตัวแทน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) มาพูดเรื่องเยียวยา งานเยียวยาที่ทำปกติมี 2 เรื่อง คือ คดีความมั่นคงที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ มี 3 ฝ่ายรับรอง (ทหาร ตำรวจ ปกครอง) ถ้าเสียชีวิตจะต้องเยียวยา 500,000 บาท ได้รับบาดเจ็บสาหัสเยียวยา 50,000 บาท บาดเจ็บปานกลาง 30,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 20,000 บาท"
"สำหรับครั้งนี้เป็นการเยียวยาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คำว่าเจ้าหน้าที่รัฐในที่นี้คือ คนที่กินเงินเดือนของรัฐ อันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ ถ้าเสียชีวิตเป็นอำนาจของเลขาธิการ ศอ.บต. เยียวยา 5 แสนบาท จากนั้นจะไปเข้าระเบียบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ คณะกรรมการชุดนี้มีรองนายกฯเป็นประธาน ปัจจุบันคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องใช้เวลาราวๆ 6 เดือน"
"สรุปคือ เมื่อเกิดเหตุที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เบิ้้องต้นจ่าย 500,000 บาท และนำเข้า กพต. จ่ายได้ไม่เกิน 7 ล้านบาท ตามระเบียบนี้จ่ายเยียวยารวมทั้งหมดไม่เกิน 7 ล้าน 5 แสนบาท แต่ 5 แสนแรกจ่ายไปแล้ว ที่เหลือจ่ายอีกไม่เกิน 7 ล้าน แต่เขาจะจ่ายเท่าไหร่ก็อยู่ที่คณะกรรมการฯ (กพต.) เขาจะพิจารณาว่าใครละเมิดมากกว่า ใครผิดมากกว่า ไปพิจารณากันว่าใครละเมิดกฎหมายมากกว่า แต่ได้ยินมาแว่วๆ ว่าจ่ายประมาณสูงสุด 3 ล้าน 8 แสนบาท เพราะ 7 ล้าน 5 แสนมีกลุ่มตากใบกลุ่มเดียวที่ได้ เป็นยุค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต."
ประชาชนจะได้รู้ข้อเท็จจริง...
จากเรื่องเยียวยา ข้ามไปที่ประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ.ท.ปรรณีวัฒน์ ว่องวิษณุวงศ์ เลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ยืนยันในฐานะตัวแทนคณะกรรมการฯว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ มีทั้งผู้นำศาสนา นักวิชาการ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่อยู่ในพื้นที่หลายองค์กร วิธีการทำงานจะปล่อยให้ทำอย่างอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับรัฐ หน่วยงานรัฐไม่ได้ควบคุม แต่มีหน้าที่แค่ช่วยเหลือให้คณะกรรมการได้ทำงาน และนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย
"ที่มาในวันนี้ที่ก็เพื่อมายืนยันให้พี่น้องรับทราบว่า ข้อมูลต่างๆ ที่เราได้มา จะเป็นชุดความจริงที่จริงที่สุด จากนั้นจึงจะเปิดเผยในคราวเดียว ปัจจุบันจะสังเกตได้ว่าคณะกรรมการฯยังไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ให้ประชาชนทราบ เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิ์ของหลายๆ ภาคส่วน การทำงานของคณะกรรมการฯเองก็ต้องคำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นการทำงานอาจจะล่าช้าบ้าง แต่ยืนยันว่าในที่สุดประชาชนต้องได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทุกอย่าง"
ผู้การทหารพรานขอโทษ...
โอกาสนี้ พ.อ.ธีร์พัชร์ เอมพันธ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ได้กล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ พร้อมยอมรับผิด ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า กำลังพลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุได้เข้ามอบตัวและดำเนินคดีเรียบร้อยแล้ว สัญญาว่าจะดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตไปตลอดอย่างเต็มความสามารถ หากมีสิ่งใดที่ที่ทางกรมทหารพรานที่ 45 สามารถช่วยได้ ขอให้บอก จะทำอย่างเต็มที่
ขณะที่ "ผู้พันแพะ" พล.ต.ชัชภณ สว่างโชติ รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี ตัวแทนแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า แม่ทัพรับผิดชอบแบบลูกผู้ชาย ขอให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ยืนยันว่ากอ.รมน.ภาค 4 สน.ไม่ได้มาแก้ตัว แต่พยายามเอาความจริงมาเปิดเผย และดำเนินการด้วยความเป็นธรรม
"อยากวิงวอนให้ทุกคนทุกฝ่าย ในฐานะที่ทำงานศาสนามาตั้งแต่ต้น เห็นแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ด้วยแนวทางของท่านศาสดามูฮัมหมัด ใครจะเข้าใจคำว่า 'อัลลอฮฺอักบัร' ได้ดีเท่าพวกเรา สิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องยึดมั่นและเชื่อมั่นในแนวทางของเรา เพราะความแค้น ความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขอะได้ ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยความรักและการให้อภัยเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางท่านศาสดาใช้มาตลอด"
สร้างถนนเยียวยาชุมชน...
ฝั่งผู้นำชุมชน นายนิมัน เซ็งสาเมาะ กำนันตำบลบองอ เปิดใจว่า "นับจากเกิดเหตุมาไม่ได้นอนเลย วันนี้ต้องขอบคุณทุกคนที่มีความเข้มแข็ง ถ้าเราอยู่แบบนี้ไม่ว่าปัญหาอะไรเกิดขึ้นเราสามารถแก้ได้ ขอให้พวกเราพูดในสิ่งที่ข้องใจ มีอะไรเราคุยกัน รู้สึกภูมิใจที่ร่วมกันแก้ปัญหา ไม่แตกแยก มาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในชุมชน"
"สิ่งที่ชุมชนจะได้รับหลังจากนี้ คือถนนไปน้ำตก ตอนนี้อยู่ที่พวกเราจะเห็นร่วมกัน ถ้าพวกเราเห็นร่วมกันว่าต้องการให้ทำ เขาก็จะทำถนนจุดนั้น แต่เราต้องคุยร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร"
ครอบครัว-ชาวบ้านไม่ติดใจ...
ครอบครัวผู้ตาย นายมาหามะรอยาละ สะมะแอ พ่อของ นายมะนาซี สะมะแอ หนึ่งในผู้เสียชีวิต กล่าวว่า "เห็นด้วยที่ให้มีการเยียวยาอย่างเหมาะสม ตอนนี้รู้สึกพอใจแล้วกับการช่วยเหลือเยียวยาจากทุกภาคส่วน ในส่วนข้อเท็จจริงที่ยังคาใจก็ไม่มีแล้ว เขาไม่เอาชื่อทหารออกมาเปิดเผยก็ไม่เป็นไร ก็ขอขอบคุณที่ช่วยเหลือ"
นายอาหะหมัด มะดาโอ๊ะ พ่อของ นายฮาพีซี มะดาโอะ ผู้เสียชึวิตอีกราย กล่าวว่า "ดีใจที่เขาดูแล ไม่ติดใจอะไรแล้ว ขอให้เขาให้จริง อย่างอื่นก็ไม่ติดใจ"
ตอนท้ายมีการสอบถามในวงประชุมชาวบ้าน ยกมือหากพึงพอใจการเยียวยาในครั้งนี้ ปรากฏว่าประชาชนที่มาประชุมพากันยกมือแสดงความพอใจ ขณะที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ไม่ติดใจ พร้อมขอบคุณการดูแลจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐหลายองค์กร
------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
สั่งสอบยิงปะทะบนเขาตะเวดับ 3 หลังชาวบ้านร้องเรียนอาจไม่ใช่คนร้าย
คนดีหรือคนร้าย? ชาวบ้านข้องใจ-รวมตัวรอฟังคำตอบเหยื่อปะทะ 3 ศพ
แม่ทัพ 4 แจง จนท.สำคัญผิดยิงชาวบ้านตัดไม้ 3 ศพ สั่งตั้งทีมสอบสวน
35 ชั่วโมงแห่งความทุกข์ใจ รอ 3 ศพคนตายจากเขาอาปี
เสียงเพรียกจากบองอ...เมื่อเสียงร้องขอความเป็นธรรมดังกว่าเสียงปืน
สับขาหลอก? คดียิง 3 ศพที่ระแงะ ทหาร 2 นายดอดมอบตัว สภ.เมือง
เยียวยาครอบครัว 3 เหยื่อกระสุนเขาตะเว ผู้การทหารพรานขอโทษ-รับผิด
ผบ.ทบ.ล่องใต้-เสียใจเหตุเขาตะเว ย้ำ"กฎการปะทะ"กำลังพลผิดต้องรับโทษ
กก.คุ้มครองสิทธิมนุษยชนฯ กับ"ข้อค้นพบ"ยิงชาวบ้าน 3 ศพบนเขาตะเว