ปิดทองหลังพระฯ -ธปท. แก้หนี้ครัวเรือน สร้างความรู้จัดการเงิน นำร่อง ‘น่าน’
ปิดทองหลังพระฯ จับมือเเบงก์ชาติ ร่วมเเก้หนี้ครัวเรือน นำร่อง จ.น่าน เเห่งเเรก ส่งทีมอาสาให้ความรู้บริหารจัดการเงิน คาดประเมินผลใน 6 เดือน
จ.น่าน พบสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ในปี 2561 จำนวน 201,991 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีจำนวน 188,161 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.35
ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน พบว่าเพิ่มขึ้น จากเดิมในปี 2558 จำนวน 17,598 บาท/ครัวเรือน เป็น 19,591 บาท/ครัวเรือน ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.36 ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จากปี 2558 เฉลี่ย 14,278 บาท/ครัวเรือน เป็น 14,298 บาท/ครัวเรือน ในปี 2561
จะเห็นว่า แม้สถานการณ์ภาพรวมหนี้ครัวเรือนใน จ.น่าน ไม่รุนแรง แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการเงิน จะช่วยลดหนี้สินลงได้ ทำให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ จ.น่าน และน่านฟอรั่ม จัดเวทีถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน การเงินและการลงทุนแบบชาวบ้านขึ้นมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องประชุมน้ำทอง แกรนด์ โรงแรมน้ำทอง จ.น่าน
ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ไปหาแนวทางแก้ไขระบบการบริหารจัดการเงิน โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานและประเมินผล 3-6 เดือน จากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าฝึกอบรมกับทีมอาสาของโครงการปิดทองหลังพระฯ ภายใต้ชื่อ “อาสาองค์ความรู้ด้านการทำบัญชีครัวเรือน” เพื่อลงพื้นที่แนะแนวการใช้จ่ายเงินอย่างเป็นระบบร่วมกับทีมอาสาประจำหมู่บ้าน
“3-6 เดือนนี้ จะร่วมกับ ธปท. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สุ่มว่า ครัวเรือนต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมโครงการนั้นมีอัตราส่วนการเป็นหนี้ลดลงหรือไม่ โดยเฉพาะหนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อวัดความสามารถในการบริหารจัดการหนี้อีกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำมากกว่าการประเมินความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของชาวบ้าน นั่นคือ ทำอย่างไรให้เกิดการสร้างวินัยทางการเงิน ไม่เฉพาะ จ.น่าน เท่านั้น แต่ในกรุงเทพฯ ยังมีความรอบรู้ทางการเงินน้อยมาก
หลายคนรู้เพียงวิธีการใช้เงิน “รู้ว่านี่คือธนบัตรใบละ 100 บาท ใบละ 20 บาท ทอนเท่าไหร่” แต่ไม่รู้ว่า เงินทำงานอย่างไร และบริหารจัดการแบบไหน เพื่อให้มีใช้ไปตลอดชีวิต
ศ.ดร.ชาติชาย จึงมองเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย ทั้งที่เห็นว่า คนที่มีความรอบรู้เรื่องบริหารจัดการเงินนั้น ส่วนใหญ่ชีวิตจะปลอดภัย เพราะมีเงินออม และฐานะดี ส่วนคนล้มเหลวทางการเงิน บางคนเรียนเก่ง ทำงานเก่ง แต่ไม่สำเร็จทางการเงิน ซึ่งน่าสงสาร
ส่วนเหตุผลเลือก จ.น่าน นำร่องแก้หนี้เป็นแห่งแรก เพราะโครงการปิดทองหลังพระฯ เริ่มต้นดำเนินงานที่ จ.น่านเป็นแห่งแรก และทำต่อเนื่องมา 9 ปีแล้ว ทั้งนี้ ยอมรับว่า ถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท จากเดิมพากันพัฒนา แต่หลังจากนี้ เราจะทำหน้าที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร เครือข่าย
ส่วนจะให้ช่วยลงเงินปรับปรุงฝายอย่างเดิมนั้น ไม่ทำแล้ว แต่หากต้องการหาตลาดจำหน่ายกาแฟ ผลไม้ โครงการปิดทองหลังพระฯ ช่วยเหลือได้
ทั้งหมดเพื่อจุดมุ่งหมายเดียว คือ การลดหนี้ และไม่ให้ชาวบ้านกลายเป็นนักบริหารหนี้ไปจนชั่วชีวิตนั่นเอง .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :หลุดพ้นวงจร ‘หนี้’ ด้วยศาสตร์พระราชา เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/