บุคคลแห่งปี 'หญิง-ชาย' สำนักข่าวอิศรา 2562 : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปารีณา ไกรคุปต์
บุคคลแห่งปี 'หญิง-ชาย' สำนักข่าวอิศรา 2562 : ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ จากผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้รับความไว้วางใจจนเสียงสูงถึงลำดับ 3 ในสภา สู่การเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีหุ้นสื่อ จนพ้นสภาพ ส.ส. ยังเหลือคิวต้องสู้คดีอาญา-2 คดียุบพรรค – ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ ส.ส.ราชบุรี ผู้สร้างวีรกรรมในโลกออนไลน์-สภา จนถูกตั้งฉายา ‘ดาวดับ’ ปมถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 ยังต้องลุ้นปี 63
ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มากมาย ไล่มาตั้งแต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ในรอบ 5 ปี (หากไม่นับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าโมฆะ เท่ากับเป็นการเลือกตั้งในรอบ 8 ปีเศษ) ปรากฎการณ์ ‘8 ก.พ.’ ของพรรคไทยรักษาชาติ การผงาดขึ้นมาของ 2 พรรคการเมืองใหม่อย่าง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ บนหน้ากระดานการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลผสม 18 พรรคซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น
แน่นอนว่าในเมื่อปี 2562 เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย ย่อมต้องมีบุคคลสาธารณะหลายรายที่ถูกจับตามอง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยก 2 บุคคลที่ถูกสปอร์ตไลต์ทางการเมืองฉายแสงเกือบตลอดเวลาในรอบปี 2562 มาเป็นบุคคลแห่งปี ดังนี้
บุคคลแห่งปี (ชาย) สำนักข่าวอิศราประจำปี 2562 : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
นักธุรกิจฉายา ‘ไพร่ 5 พันล้าน’ ทายาทธุรกิจเครือ ‘ไทยซัมมิท’ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง และเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงลำดับ 3 ในสภา คือพรรคอนาคตใหม่ ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา นายธนาธร ถูกสื่อมวลชนหลายสำนักฉายภาพความเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย และต้องการใช้เวทีรัฐสภาตามกลไกรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น
ช่วงปลายปี 2561 เขาเคยหล่นบทสัมภาษณ์ไว้กับสำนักข่าวอิศราตอนหนึ่งว่า เป้าหมายของตัวเองไม่ใช่การเป็นรัฐบาล แต่เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ หยุดการรัฐประหารที่คนรุ่นเรา สร้างสังคมที่ยืนหยัดสิทธิมนุษยชน นิติรัฐ ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย พร้อมกับเชื่อว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นแค่เพียงจุดเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ เกมการต่อสู้ยังมีอีกยาว (อ่านประกอบ : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ:ปักธงประชาธิปไตย เลือกตั้งแค่สมรภูมิแรก-สงครามอีกยาว?)
ในช่วงเวลาดังกล่าว นายธนาธร พยายามสลัดภาพความเป็น ‘นักธุรกิจการเมือง’ ออกไป มีการโอนหุ้นธุรกิจเครือไทยซัมมิทหลายสิบบริษัทให้แก่มารดา (นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ) และญาติพี่น้อง นอกจากนี้ยังเปิดแถลงข่าวใหญ่ว่าพร้อมจะทำ ‘Blind Trust’ คือการโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ของเขาให้กองทุนจัดการทรัพย์สินเหล่านั้นแทน โดยที่เขาจะไม่ไปยุ่มย่ามแต่ประการใด (ท้ายที่สุดไม่ได้มีการทำ Blind Trust ขึ้นจริง โดยนายธนาธรอ้างว่า เป็นเพราะไม่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในสภา) (อ่านประกอบ : 'ธนาธร'โชว์ จม.ขอโทษบริษัทที่ยังไม่ได้ทำ blind trust เหตุศาล รธน.สั่งหยุดทำหน้าที่, แกะเงินลงทุน‘ธนาธร-รวิพรรณ’ 3.2 พันล. ไม่พบแจ้งข้อมูล ป.ป.ช.ทำ ‘Blind Trust’?)
อย่างไรก็ดีช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ไม่กี่วัน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อ ผลิตนิตยสาร WHO และรับจ้างผลิตงานนิตยสารจากเอกชน เพิ่งแจ้งนำส่งใบสำเนาแบบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ปรากฏว่าหุ้นของนายธนาธร และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ภรรยานายธนาธร) ที่เคยถือครองไปอยู่ในชื่อของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มารดา)
(ช่วงก่อนเลือกตั้ง นายธนาธร อธิบายถึงการลงนาม MOU จะทำ Blind Trust แต่ท้ายที่สุดไม่ได้เกิดขึ้น, ภาพจาก Thaipublica)
นั่นจึงทำให้กลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมา เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อทุกประเภท ขณะที่นายธนาธร สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 หมายความว่า นายธนาธร ถือครองหุ้นธุรกิจสื่ออยู่ในช่วงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ กระทั่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะที่นายธนาธรยืนกรานโดยตลอดว่า การโอนหุ้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 ที่บ้านพักของตัวเอง โดยใช้หลักฐานเป็นตราสารโอนหุ้น และสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มายืนยัน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง และสั่งให้นายธนาธร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะวินิจฉัย (อ่านประกอบ : 4 ข้อสังเกต‘อิศรา’คดีหุ้น‘วี-ลัค มีเดีย’ สอดคล้อง คำวินิจฉัยศาล รธน.-หลักฐานเชิงประจักษ์)
หลังจากนั้นเขาปรากฏตัวไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพียงครั้งเดียวในวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ก่อนถูกนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา (ชั่วคราว) เชิญออกตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ จังหวะนั้นนายธนาธรพยายามเดินไปที่ไมค์เพื่อขอพูด ทว่าถูก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลโห่ร้องขัด นายธนาธร จึงเดินออกไป ก่อนจะกลับมาโค้งต่อบัลลังก์ประธานสภา ท่ามกลางเสียงปรบมือเกรียวกราวจากฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ดีคดีนี้หลายคนคงทราบผลกันไปแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7-2 วินิจฉัยให้นายธนาธร พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. และทำให้เขาต้องเลือกเดินเกมการเมือง ‘นอกสภา’ (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาล รธน.คดีหุ้นสื่อ‘ธนาธร’ พิรุธหลายจุด-เอกสารทำย้อนหลังได้?, เปิดความเห็นตุลาการศาล รธน.ข้างน้อยคดีหุ้นสื่อ‘ธนาธร’เชื่อโอน 8 ม.ค.-ทำตาม ป.แพ่งฯ)
(นายธนาธร กับบทบาทแกนนำแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์ค เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา, ภาพจากไทยรัฐออนไลน์)
ในช่วงท้ายปีหลังจากโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ กกต. เริ่มเดินเครื่องคดีกล่าวหาว่าพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากธนาธร วงเงิน 191.2 ล้านบาท ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากนายธนาธร ที่พูดต่อสื่อที่สมาคมสื่อต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2562 หลังจากนั้นในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำส่งเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงอีกว่ามีการปล่อยกู้เงินให้พรรคอนาคตใหม่จริง ขณะที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มิได้มีการบัญญัติเปิดช่องให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงินบุคคลหรือนิติบุคคลได้ จึงนำไปสู่การยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญให้พรรคอนาคตใหม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกันคือ มีการร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกล่าวหาว่านายธนาธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย ในวันที่ 21 ม.ค. 2563 (อ่านประกอบ : ศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดี อนค.ล้มล้างการปกครอง 21 ม.ค. 63-สั่งแจงปมกู้เงินใน 15 วัน)
นี่คือไทม์ไลน์ชีวิตของนายธนาธรในปี 2562 ที่พุ่งสุดขีดช่วงต้นปี พรรคอนาคตใหม่ได้รับชัยชนะถล่มทลาย ได้เสียงมากเป็นอันดับ 3 ในสภา (รองจากพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ) แถมคะแนนความนิยมยังร้อนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะฐานในโลกออนไลน์ กระทั่งมาถึงจุดต่ำสุดในทางการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
ที่สำคัญในปี 2563 ยังต้องลุ้นคดีอาญากรณีถือครองหุ้นสื่อ โดย กกต. อยู่ระหว่างไต่สวนว่า นายธนาธร รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. ซึ่งหากผิดจริงจะมีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันกับสารพัดคดีที่ถูกกล่าวหายุบพรรคอนาคตใหม่ที่เขาต้องร่วมต่อสู้เพื่อให้พรรคที่สร้างมากับมือต้องพังลง ท้ายที่สุดอนาคตจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
บุคคลแห่งปี (หญิง) สำนักข่าวอิศราประจำปี 2562 : ปารีณา ไกรคุปต์
น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ คือหนึ่งในนักการเมืองฝ่ายหญิงที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา ด้วยวีรกรรมของเธอที่ทำไว้ทั้งในโลกออนไลน์ และแทบทุกครั้งที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะจังหวะการยกมือประท้วง ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน จนทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) ต้องสั่ง ‘ปิดไมค์’ มาแล้ว ที่สำคัญบทบาทในฐานะกรรมการในคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ก็เป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธาน กมธ.ป.ป.ช. เกือบตลอดเวลา
ด้วยวีรกรรมของ น.ส.ปารีณา ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายาให้ น.ส.ปารีณา ว่า ‘ดาวดับ’ เพราะสร้างกระแสในแง่ลบผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงไม่ยอมรับการถูกตรวจสอบที่ดินของตัวเอง ทั้งที่เป็น กมธ.ป.ป.ช. แถมพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ตอบคำถาม โดยอ้างว่าทำ ‘MOU’ กับสื่อเพื่อยุติการสัมภาษณ์โดยไร้หลักฐาน
นอกจากนี้ยังถูกตั้งฉายา ‘คู่กัดแห่งปี’ ร่วมกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ด้วย โดยสื่อสายรัฐสภา ระบุว่า แม้จะต่างวัยกันก็เป็นมวยถูกคู่ เพราะ น.ส.ปารีณา ถูกพรรคพลังประชารัฐส่งมาเป็น กมธ.ป.ป.ช. เพื่อปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มิให้ต้องมาชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ โดยพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง รวมถึงยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกันเองภายใน กมธ.ป.ป.ช. จนงานไม่เดินหน้า ดังนั้นการปะทะกันของ น.ส.ปารีณา และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงมีแต่เพียง ‘วิวาทะ’ หาแก่นสารไม่ได้
(น.ส.ปารีณา ลากเก้าอี้ไปนั่งคู่กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพราะไม่พอใจที่นำที่ปรึกษา กมธ.ป.ป.ช.มานั่งในห้องประชุม, ภาพจากไทยรัฐออนไลน์)
สำหรับกรณีที่ดินของ น.ส.ปารีณา กลายเป็นปรากฏการณ์แห่งปี และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูงหลายราย คือการถือครองที่ดิน ภ.บ.ท. 1,706 ไร่เศษ โดย น.ส.ปารีณา อ้างว่า กรอกตัวเลขผิด ความจริงแล้วมีเพียงประมาณ 600 ไร่เศษเท่านั้น
สำหรับกรณีนี้ กรมป่าไม้ดำเนินการตรวจสอบรังวัดพื้นที่ ภ.บ.ท.5 ของ น.ส.ปารีณา ที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นฟาร์มปศุสัตว์ชื่อ ‘เขาสนฟาร์ม’ เนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ พบว่ามีการบุกรุกป่าประมาณ 46 ไร่เศษ และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ไปแล้วเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : กรมป่าไม้แถลง แจ้งความ ‘ปารีณา’ รุกป่า 46 ไร่ ยันหลักฐานชัด - 'ทวี’บุกขอความเป็นธรรม)
ขณะเดียวกันที่ดินที่เหลือประมาณ 600 ไร่ของ น.ส.ปารีณา ถูกสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าไปตรวจสอบด้วย โดยพบว่าพื้นที่กว่า 682 ไร่อยู่ในแนวเขต ส.ป.ก. จึงมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา คืนที่ดินดังกล่าวแก่ ส.ป.ก. เนื่องจากเป็นนักการเมือง ไม่เป็นผู้มีคุณสมบัติในการถือครองที่ดินดังกล่าว (อ่านประกอบ : ไร้คุณสมบัติเพราะเป็น ส.ส.! ส.ป.ก.สั่ง‘ปารีณา’คืนที่ดินฟาร์มไก่ 682 ไร่ใน 7 วัน, กาง กม.ปมสั่ง‘ปารีณา’คืนที่ ส.ป.ก. 682 ไร่-จับตาอีก 8 ส.ส.-ส.ว.ใช้บรรทัดฐานเดียวกัน?)
ประเด็นนี้ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่ดินกว่า 682 ไร่ ทำไมถึงดำเนินการแค่ทวงคืน แต่ไม่ดำเนินคดีอาญาด้วย ส่งผลให้กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. ต้องประชุมหารือกัน ท้ายที่สุดมีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยในข้อกฎหมายก่อน ปัจจุบันเรื่องนี้ยังอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
(ช่วงหลังจาก น.ส.ปารีณา ถูกตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 นายทวี (บิดา) จะเป็นคนออกโรงชี้แจงแทนเกือบตลอดเวลา)
นอกจากหน่วยงานข้างต้นแล้ว องค์กรอิสระอย่าง สำนักงาน ป.ป.ช. กำลังขะมักเขม้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในประเด็นการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ น.ส.ปารีณา อยู่ด้วยเช่นกัน โดยมีรายงานข่าวว่า มีการสั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ น.ส.ปารีณา เพิ่มเติม ใช้ระยะเวลา 180 วัน ก่อนจะสรุปนำเรียนที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไปด้วย (อ่านประกอบ : กก.ป.ป.ช.ทราบผลลงพื้นที่ฟาร์ม‘ปารีณา’ แล้ว-ขีดเส้น 180 วันสอบทรัพย์สินเพิ่มเติม)
แต่ปรากฏการณ์ของ น.ส.ปารีณา ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง โดยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และอดีตข้าราชการ ที่แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. พบว่า มีอย่างน้อย 41 ราย แจ้งถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 และ ส.ป.ก. รวมกันหลายพันไร่ ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
ภายหลังโดนสื่อมวลชน และภาครัฐ ไล่บี้ตรวจสอบกรณีเหล่านี้ ทำให้ช่วงท้ายปี น.ส.ปารีณา ลดบทบาทลงไป แทบไม่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่ออีกเลย ผิดกับบิดา นายทวี ไกรคุปต์ เป็นผู้ออกโรงชี้แจงแทนตลอด โดยตอนหนึ่งที่กรมป่าไม้ นายทวีถึงกับหล่นคำพูดว่า เพราะ น.ส.ปารีณา เติบโตที่สหรัฐอเมริกา จึงทำให้มีนิสัยแบบนี้
ด้วยวีรกรรมเหล่านี้ ทำให้เธอถูกจัดเป็นบุคคลแห่งปี (หญิง) ประจำปี 2562 ไปโดยปริยาย ส่วนความคืบหน้าทางคดีต่าง ๆ สำนักข่าวอิศราจะติดตามผลนำมาเสนอแก่สาธารณชนต่อไป
----
ทั้งหมดนี้คือ 2 บุคคลแห่งปีประจำปี 2562 ของสำนักข่าวอิศรา โดยข้อมูลที่นำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง และพื้นฐานการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ในฐานะสื่อมวลชน มิได้มีเจตนาโจมตีบุคคล หรือพรรคการเมืองใด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/