กพย.ชี้ 3 เส้านโยบายกัญชาทางการแพทย์ -โลกออนไลน์ไปไกลกว่าสรรพคุณที่รับรอง
ตลอดปี 2562 การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย มีกระแสความตื่นตัว และเป็นที่สนใจอย่างมากจากภาคประชาชน ผจก.กพย.ชี้ฝั่งผู้บริโภคได้ข้อมูลกัญชาเยอะ เพราะเป็นความคาดหวังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคที่รักษาไม่หาย ขณะที่ภาครัฐไร้เอกภาพ มีทั้งสนับสนุน และคัดค้าน 3 เส้านโยบายกัญชาทางการแพทย์
ตลอดปี 2562 การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย มีกระแสความตื่นตัว และเป็นที่สนใจอย่างมากจากภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่คาดหวังผลการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชา
สำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org) สัมภาษณ์ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) ถึงทิศทางของกัญชา เมื่อใช้เป็นยารักษาโรค ช่วงปีที่ผ่านมา
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า ฝั่งผู้บริโภคจะได้ข้อมูลกัญชาเยอะไปหมด โดยเป็นความคาดหวังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคที่รักษาไม่หาย ประกอบภาครัฐเองก็ยังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร มีการแสดงออกที่หลากหลาย ทั้งสนับสนุน และคัดค้านในช่วงปีที่ผ่านมา
"กัญชาทางการแพทย์วันนี้เลยเป็น 3 เส้า เส้าที่ 1 ผู้ป่วยมีความคาดหวัง เส้าที่ 2 นักวิชาการและนักวิชาชีพมีทั้งสนับสนุนและต่อต้าน ส่วนเส้าที่ 3 ภาครัฐ เป็นเส้าที่แยกรัฐมนตรีหนุนสุดขั้ว แต่ฐานรองรับข้างล่างไม่ชัด จะเห็นว่า บางกรมไม่เอาด้วย แต่ไม่กล้าเห็นแย้ง" ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว และว่า แม้แต่กรมการแพทย์เอง ก็อ้ำๆ อึ้งๆ ทำตามนโยบาย องค์การเภสัชกรรม ซึ่งก็สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์สุดขั้ว มีหน้าที่ผลิตอย่างเดียว
ปัจจุบัน กลุ่มผู้ป่วยก็ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาจริง เรียกว่า ไปโรงพยาบาลหมอยังไม่จ่ายยาให้ ฉะนั้นนี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ซึ่งเดิมเคยจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ห้ามเสพ ผลิต และจำหน่าย มาอนุญาตให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วย และวิจัย โดยอนุญาตผลิต นำเข้า และขึ้นทะเบียนตำรับยาได้
กระแสกัญชาใช้เป็นยารักษาโรคนั้น จากรายงาน Thaihealth Watch จับตาสถานการณ์สุขภาพคนไทย ในปี 2563 จัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า 1 ใน 10 มีเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งพบว่า กระแสกัญชาไปไกลกว่าสรรพคุณที่ประกาศรับรอง โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์
จากกาสำรวจข้อความที่มีการพูดถึงกัญชา โดย WISESIGHT ร่วมกับ สสส. พบว่ามีจำนวนถึง 378,400 ข้อความ (กรกฎาคม 2561 – มิถุนายน 2562) โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ด้านสุขภาพถึง 44,574 ข้อความ หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนข้อความทั้งหมด
ในมุมของผู้ใช้พบว่า โรคที่ได้รับการกล่าวถึงเมื่อมีคำว่า ‘กัญชา’ อันดับ 1 คือ โรคมะเร็ง 77% ตามด้วยซึมเศร้า 7% เบาหวาน 7% พาร์กินสัน 4% ไมเกรน 3% และสะเก็ดเงิน 1 % ส่วนโรคไต 1% เป็นการพูดถึงการบรรเทาอาการ ซึ่งพบว่า กลุ่มคนที่แชร์ประสบการณ์การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคในด้านบวก มักอ้างว่า ใช้กับตัวเองแล้วได้ผลจริงหรือคนในครอบครัวใช้แล้วได้ผล ในขณะเดียวกันพบว่า มีข่าวกลุ่มผู้ใช้เกินขนาดแล้วเกิดอาการรุนแรงจนต้องพบแพทย์ หรือกลุ่มที่ใช้ในขนาดที่แนะนำแล้วเกิดอาการข้างเคียง เช่นกัน
ในขณะที่ผู้ผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อขายผ่านโลกออนไลน์ พบว่า มีการขายผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคผ่านเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์จำนวนมาก เช่น #กัญชารักษาโรค #สายเขียว ซึ่งในช่วงระยะเวลา 1 ปี (กรกฎาคม 2561- มิถุนายน 2562) พบว่า มีจำนวนถึง 3,527 ข้อความ โดยพบว่ามีการขายกัญชาในหลายรูปแบบทั้งเจลลี่ สบู่ก้อน แคปซูล ผงนัวร์ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงน้ำมันสกัดหรือตำรับที่ได้รับการรับรองตามที่ อย.หรือ กรมการแพทย์ หรือการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังพบกลุ่มคนที่ต้องการปลูกกัญชาเอง โดยให้เหตุผลต้องการใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ เพราะประหยัดค่ารักษาพยาบาลหรือใช้รักษาอาการอื่นที่ยังไม่ได้รับรอง เช่น ไมเกรน เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/