ว่าด้วยเรื่องสั้น ‘เป็นเขาและเป็นแขก’ - พื้นที่สามจว.ชายแดนใต้ไม่ได้น่าเกลียดเสมอไป
“...พื้นที่สามจังหวัดไม่ได้น่าเกลียดเสมอไป มีความหลากหลาย วัฒนธรรมโดดเด่น หลายภาษา และคนในเองก็ควรเป็นคนตอนรับแขก (แขกที่มาเยือน) ให้ดีด้วย ตอนรับอย่างจริงใจมอบรอยยิ้มและความเชื่อใจว่าเราอยากให้เขามาบ้านจริงๆ...”
เมื่อสังคมถูกขับเคลื่อนด้วยอินเทอร์เน็ตผ่านระบบเครือข่ายสังคมที่ข้อมูลข่าวสารเดินทางได้อย่างรวดเร็วในระดับวินาที ทำให้การกลั่นแกล้งไม่ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะแต่อย่างใด แต่กลายเป็น cyberbullying ซึ่งสามารถสร้างความอับอายในทุกมิติชีวิตของเป้าหมาย และอาจยกระดับไปสู่ความรุนแรงในอนาคตอันใกล้
แล้ว Cyberbullying คืออะไรล่ะ ?
Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้งกันผ่านโลกโซเชียล โดยรูปแบบการรังแกกันมีทั้งการใส่ร้ายป้ายสี การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ต่อว่าผู้อื่นหรือการส่งต่อข้อมูลลับ
เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นเสียหายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ คลิปวิดีโอ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำรู้สึกอับอาย รู้สึกเจ็บปวด ได้รับผลกระทบทางจิตใจ
การกลั่นแกล้งบนพื้นที่โซเชียล เป็นความรุนแรงที่อาจจะทราบหรือไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ ซึ่งผู้กระทำสามารถทำความรุนแรงกับใคร ที่ไหน เมื่อใดก็ได้ เพราะในโลกไซเบอร์นั้น ผู้กลั่นแกล้งไม่ได้เผชิญหน้ากับเหยื่อจริงๆ จึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
และนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาถอดบทเรียนหาทางแก้ไขปัญหา ตามแนวทาง สื่อกับการขับเคลื่อนทางสังคม กระบวนการสื่อสาร ของเฟซบุ๊กแฟนเพจ และกลยุทธ์การเล่าเรื่องในรูปแบบซีรี่ย์หนังสั้น และคลิป พร้อมกับการติด #สื่อกับการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสันติภาพ #การลดทอนอคติและความเกลียดชังต่อพื้นที่และผู้คนในชายแดนใต้ #ความหลากหลายผู้คนพื้นที่และวัฒนธรรม #ใต้สันติภาพ ผ่านการศึกษาวิจัยในแง่มนุษยวิทยา โดย ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวร่วมกับ ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้กำกับ อดีตนักข่าว ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผศ.ดร.วิไลวรรณ เล่าว่า ภายใต้แนวความคิดว่าด้วยการออกแบบสื่อสาร ‘สื่อกับการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสันติภาพ’ การลดทอนอคติและความเกลียดชังต่อพื้นที่และผู้คนในชายแดนใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ และความเข้าใจต่อผู้คนและพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีผลต่อการลดทอนอคติและความเกลียดชังต่อผู้คนและพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ผลิตหนังสั้นชื่อ ‘เป็นเขาและเป็นแขก’ ขึ้นมา
“พื้นที่สามจังหวัดไม่ได้น่าเกลียดเสมอไป มีความหลากหลาย วัฒนธรรมโดดเด่น หลายภาษา และคนในเองก็ควรเป็นคนต้อนรับแขก (แขกที่มาเยือน) ให้ดีด้วย ต้อนรับอย่างจริงใจมอบรอยยิ้มและความเชื่อใจว่าเราอยากให้เขามาบ้านจริงๆ”
เสียงจากนักแสดงภาพยนตร์สั้น ‘เป็นเขาและเป็นแขก’
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ มีการผลิตหนังสั้นชื่อ ‘เป็นเขาและเป็นแขก’ ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ในการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวสามจังหวัดชายแดนใต้ เกี่ยวกับพื้นที่และผู้คนในพหุวัฒนธรรม
มีการกำหนดให้ตัวละครที่เป็นเด็กหนุ่มกรุงเทพฯ และชาวมลายูมุสลิมต่อสู้กันทางความคิดการกลั่นแกล้งกันในโลกโซเชียล แต่หนังได้ชี้ให้เห็นด้านที่งดงามของโลกชายแดนใต้ และสำนึกด้านดีในจิตใจของมนุษย์ที่ทุกคนเคยมองข้าม
ในมุมมองของผู้เป็นแขก นรวิชญ์ จงวิไลเกษม (บูมบูม) นักแสดงภาพยนตร์สั้น ‘เป็นเขาและเป็นแขก สะท้อนว่า “เราจะตัดสินอะไรไม่ควรตัดสินจากการที่ได้ฟังหรือได้เห็นจากสิ่งที่เราไม่ได้เห็นจริงๆ หนังเรื่องนี้ทำให้บูมได้เห็นมุมมองความคิดและวิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดโดยที่บูมไม่เคยได้เห็นมาก่อน อย่างที่เราไม่ควรจะด่วนสรุป”
“เชื่อว่าสื่อทรงพลัง เมื่อสื่อส่วนกลางสร้างอคติให้กับคน แต่ยังมีพื้นที่ใหม่ ที่จะนำเสนอมุมบวกได้ จึงใช้โซเชียลเป็นพื้นที่เผยแพร่ในรูปแบบของหนังสั้น เพราะกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือ คนรุ่นใหม่”
ทั้งนี้ การกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์มองเผินๆ อาจคิดว่าไม่เห็นสำคัญอะไร ผู้กลั่นแกล้งและสังคมมักจะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น
แต่หลายครั้งที่ข่าวอาชญากรรมในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ บอกเล่าว่า ความรุนแรงส่วนมากมีจุดเริ่มต้นจากพฤติกรรมยั่วยุเสมอ
บูมบูม เล่าว่า “การบูลลี่นั้นเราอาจจะไม่ได้รู้เรื่องนั้นเลยจริงๆ แค่ไปฟังจากใครก็ไม่รู้ต่อๆ กันมา”
ส่วน บูคอรี อีซอ (ยี) นักแสดงภาพยนตร์สั้น ‘เป็นเขาและเป็นแขก’ อีกคนหนึ่ง มองว่า “เรื่องบลูลี่แน่นอน ผมเคยเจอก็มีเรื่องภาษา พูดทองแดง สีผิว หน้าตา ผมมองเรื่องนั้นเป็นเรื่องตลก ส่วนเรื่องสีผิวหน้าที่ เราเกิดมาแล้ว คงกดเกมส์แล้วเริ่มใหม่ไม่ได้ เพราะนี้คือชีวิตจริง เราต้องยอมรับสิ่งที่เรามี ภูมิใจกับหน้าที่และเพิ่มความรู้ความสามารถแทน”
ยี ยังย้ำด้วยว่า การถูกทำลายความมั่นใจ หรือถูกลดทอนคุณค่าในตัวเอง บวกเข้ากับอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่นของผู้ถูกกระทำในเวลานั้น และวุฒิภาวะที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ทั้งหมดสามารถยกระดับคำพูดตัวอักษรไปสู่ความรุนแรงได้
"แต่สังคมควรร่วมมือกันสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย เพื่อสร้างจิตสำนึกในการใช้โซเชียลมีเดียในเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าเป็นอาวุธในการทำลายคู่ขัดแย้ง
เพื่อให้ปราศจากการกลั่นแกล้ง ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ลดคุณค่าในตัวเองของผู้อื่นลงเพื่อความสนุกสนาน"
เพราะแม้ว่า อคติและความเกลียดชังอาจจะยังไม่หายไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว ‘ความหวัง’ ว่าความรู้สึกของคนเหล่านั้นจะเปลี่ยนไป
ดังนั้น เราจึงไม่ควรด่วนตัดสินใคร เพียงเพราะ ‘ความแตกต่าง’ เท่านั้นเอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/